วิกฤตการศึกษาในยุควิกฤตโควิด-19 :- เมื่อไรกายหยาบจะได้ไปโรงเรียน?

โดย ผศ. ดร. ป๋วย อุ่นใจ


 

          ในมุมของอาจารย์มหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบเวลา go online คือการตามส่องมีม (Meme) ที่ นักเรียน นักศึกษาในแต่ละคณะทำ เพราะมันมีความทะเล้น แทะโลม และจิกกัด ที่ผสมผสานกับความสร้างสรรค์เอาไว้อย่างแนบเนียน

          สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันในแทบทุกกลุ่มมีมที่ตามส่องอยู่ คือ การแสดงถึงความผิดหวังแกมไม่พึงพอใจกับการเรียนออนไลน์​ และหลังจากที่หลายสถาบันเริ่มออกประกาศเรียนออนไลน์ในช่วงการระบาดใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ

          ไวปานสายฟ้าแลบ แฮชแทกซ์ (Hash-tag) และมีมใหม่ๆ ค่อนขอดนโยบาย “เรียนฟรอมโฮม” ก็ทยอยออกมามากมาย จนขำไม่ทัน (แต่ผู้บริหาร และสื่อสารองค์กรของหลายๆ สถาบันอาจจะขำไม่ออก)

          แน่นอน การเรียนที่มหาวิทยาลัยกับการเรียนออนไลน์ มันมีความฟินต่างกัน การได้เจอหน้า เจอตา ได้เม้า ได้ทำงานเป็นกลุ่ม แน่นอนว่าต้องสนุกกว่าการเรียนหน้าจอเป็นแน่แท้

          การเรียนคือการลงทุน หลายคนยอมจ่ายค่าเทอมแพงๆ เพื่อจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยดีๆ สภาพแวดล้อมแบบ world class และได้รับความรู้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

          แต่ที่จ่ายไปจะคุ้มหรือไม่ในกรณีของหลักสูตรที่มีค่าเล่าเรียนแพงอักโข เพราะตอนนี้ สภาพแวดล้อมดีๆ มีแค่ที่บ้าน ​เจอเพื่อนและอาจารย์กันได้ตามหน้าจอ

          และนั่นทำให้เกิดสำนวนชวน “ยี้” ประจำปีของ นักเรียน นักศึกษา และนั่นก็คือ “เรียนออนไลน์”

          ครูอาจารย์ก็กระอัก และเกิดอาการเซ็งไม่ต่างไปจากนักศึกษา แต่ทำอย่างไรได้ สถานการณ์มันบังคับ the show must go on ก็ต้องลุยไป ตามที่จะทำได้

          แนวคิดเรื่องการเรียนออนไลน์เกิดขึ้นมานานแล้ว หลายแพลตฟอร์มถูกสร้างขึ้นมา ทั้ง EdX Coursera และอื่นๆ อีกมากมาย ที่อัดแน่นไปด้วยคอร์สที่น่าสนใจเต็มไปหมด ให้เราไปนั่งเรียนเพื่อเพิ่มพูนภูมิรู้แล้วยังได้ใบประกาศนียบัตรมาประดับติดฝาบ้านไว้เชยชมเล่น

          และกลายเป็น trend ที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศเริ่มหันมาสนใจ กันมากขึ้นตั้งแต่เริ่มทศวรรษ​ 2560s เห็นได้จากจำนวนมูค (MOOC – Massive Open Online Course) และ สป๊อค (SPOC – Small Private Online Course) สัญชาติไทยที่เพิ่มขึ้นในโลกออนไลน์กันอย่างเห็นได้ชัด

          แต่การผลักดันการเปลี่ยนผ่าน (transformation) ไปสู่ยุคออนไลน์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย  มูค และ สป๊อค กลายเป็นถ้อยคำที่ครูอาจารย์หลายคนได้ยินก็ท้องอืดท้องเฟ้อ เพราะมันคือการดีดตัวเองออกมาจากคอมฟอร์ตโซนครั้งใหญ่ โดยที่ไม่มีอะไรพร้อม

          แต่โลกก้าวไปข้างหน้า ถ้าเรานิ่งอยู่กับที่ ทั้งโลกนี้​ คงเหลือแต่เรานี่แหละ ที่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง

          การเปลี่ยนผ่านจึงต้องมี (แม้จะช้าๆ เตาะแตะ และค่อยๆ แก้ปัญหาไประหว่างทางก็ตาม)

          และแล้ว ช่วงขึ้นปีใหม่​ 2563 โควิด-19 ก็อุบัติขึ้นมา กลายเป็นการระบาดใหญ่ที่แพร่กระจายติดไปแล้วเฉียดเก้าสิบล้าน และยังไปต่อแบบไม่รู้จะหยุดตรงไหน และยังคร่าชีวิตคนไปแล้วอีกนับล้านทั่วโลก 

          เรื่องราวของโควิด ทำให้ผมนึกถึงคอนเซปต์สุดคลาสสิคจากทฤษฎี Punctuated equilibria ของ ​ไนลส์ เอลเดรดจ์ (Niles Eldredge) และสตีเฟน เจย์ กูลด์ Stephen Jay Gould สองนักบรรพชีวินวิทยาชื่อดัง ที่บอกว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน จะทำให้เกิดการพลิกผันที่ยิ่งใหญ่”

          แนวคิดนี้นอกจากจะเอามาใช้อธิบายทฤษฎีของการเกิดสปีชีส์ใหม่ที่หลากหลายต่อยอดแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกการสืบพันธุ์ (Reproductive isolation) และคอนเซปต์สปีชีส์ในเชิงชีวภาพ (biological species concept) ของแอนสท์ แมยร์ (Ernst Mayr) ​​ ได้เป็นอย่างดีแล้ว นักวิชาการสายสังคม แฟรงก์ บอมการ์ตเนอร์ (Frank Baumgartner) และ  ไบรอัน โจนส์ (Brian Jones) ยังเอาไปพัฒนาต่อและนำเสนอเป็นทฤษฎี Punctuated Equilibrium เพื่อใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือแบบเฉียบพลันในเชิงนโยบายได้อีกด้วย

          เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน ก็ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายในสังคมที่สลับซับซ้อนได้ไม่ต่างจากระบบทางชีววิทยา

          และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เกิดขึ้นอย่างทั้งฉับพลัน​และหนักหน่วง​จนสังคมมนุษย์รวนไปทั้งระบบ  แทบทุกประเทศไปต่อไม่ถูก

          ถ้าเป็นเซียนมวยคงเรียก “หมัดสั่ง” เปรี้ยงเดียว แทบล้มทั้งยืน

​         หลังจากโดนไปเปรี้ยงใหญ่ เพื่อความอยู่รอด การลุกยืนขึ้นใหม่จึงต้องว่องไว และต้องตอบโจทย์ ​

          การเปลี่ยนผ่านแบบเตาะแตะ จึงไม่ทันใช้ เพราะชีวิตวิถีใหม่ ต้องเกิดขึ้น ณ​ บัดนั้น

          วิถีชีวิตแบบนิวนอร์มัล (New normal) จึงเกิดขึ้นมา การเรียนออนไลน์แบบเก๋ๆ จึงต้องรีบมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

          แต่การเปลี่ยนแปลงที่ไวเกินไป มันทำให้ทุกอย่างยิ่งรวน เพราะไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเอามาสอนออนไลน์ได้ และที่ชัดเจนที่สุด ไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมเรียนออนไลน์

          และนี่คือบทพิสูจน์ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการการศึกษาว่าในการสร้างการเปลี่ยนผ่านจากยุคห้องเรียน กระดาษ และกระดานดำไปเป็นยุคดิจิตัล ที่ชีวิตติดอยู่บนเมฆ (cloud) จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้มีประสิทธิภาพ

          และที่สำคัญ​ “เท่าเทียม-ไม่เหลื่อมล้ำ”

          หน้าบทบรรณาธิการของวารสาร nature บนเว็บ ลงวันที่ 23 กย 2563 พาดหัวไว้อย่างชัดเจน เทคโนโลยีการเรียนออนไลน์ไม่ใช่จะสักแต่ว่าทำให้ผู้ที่สามารถจ่ายได้!

          เพราะการขาดแคลนอุปกรณ์ที่เหมาะสม คือ สิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้อย่างคาดไม่ถึง

บทบรรณาธิการจากเว็บไซต์วารสาร nature ที่กล่าวถึงการเรียนออนไลน์และความเหลื่อมล้ำ

          จินตนาการว่า เวลาเรียนออนไลน์​ บ้านไหนมีออกจอใหญ่ๆ ได้ ก็ดูกันสบาย​ใจ ไร้กังวล

          มีแค่แลบทอป ไอแพดก็ยังพอได้ ดูไปแบบชิลล์ๆ เห็นและอ่านตัวหนังสือได้แบบไม่ต้องเพ่งมาก  

          แต่สำหรับคนที่มีแต่โทรศัพท์มือถือก็อาจจะต้องทำใจเรียนแบบย้อนไปย้อนมา หลายครั้งหลายรอบสักหน่อย เพราะนอกจากจะฟังไม่ค่อยทันแล้ว มือนึงคงต้องถือแว่นขยายไว้ส่องเวลาเจอสไลด์ที่มีตัวอักษรตัวเล็กๆ อีก

          บางบ้านก็มีมุมส่วนตัวดีๆ ให้นั่งเรียน เน็ตดี ห้าจี (5G) เรียกป๊ะป๋า อันนั้นก็ดีไป แต่สำหรับบางบ้านที่หน้าบ้านเปิดเป็นร้านขายของ เรียนไป ขายของหน้าร้านไป อันนั้นก็อาจจะเหนื่อยๆ งงๆ หน่อย

          แต่อย่างน้อย ก็ยังมีข้อดี คือดูไม่ทันก็ย้อนได้ ถ้าอาจารย์อัดให้ หรือให้อัด

          แต่ที่ชัดเจนว่า การเรียนออนไลน์ หรือที่นักศึกษาหลายๆ คนนิยามว่าเป็นการเรียนแบบ “ทิพย์” อาจจะเป็นการเรียนที่ทรมานกายหยาบได้อย่างคาดไม่ถึง!

          นอกจากนี้ การเรียนการสอนออนไลน์ยังไม่เหมาะกับการฝึกทักษะขั้นสูงในหลายๆ ด้านให้กับนักศึกษาเช่นการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การเข้าสังคม และการทำงานเป็นทีม

          แต่ปัญหาของการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยนั้น กระจ้อยมาก เมื่อเทียบกับความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในโรงเรียน

          ในหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Low and middle income countries (LMICS) หรือกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง (รวมทั้งไทยด้วย)​ ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นได้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างหนักหนาสาหัส

          จากการประมาณการของยูเนสโก (UN Science and Education Organization, UNESCO) ที่รายงานออกมาในเดือนกันยายน 2563 มีเด็กและเยาวชนที่ถูกปล่อยให้หลุดจากวงการการศึกษาไปเพราะการระบาดของโควิด-19 มากถึง 850 ล้านคนทั่วโลก และตัวเลขนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่โควิดยังระบาดอยู่และปัญหานี้ยังไม่ได้ถูกแก้ไขให้ตรงจุด

          แต่การเกาให้ถูกที่คัน ต้องรู้ก่อนว่าจะเกาตรงไหน

          แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง สถานการณ์ก็ยังน่าเป็นห่วง บริษัทที่ปรึกษาแมคคินซีย์ (McKinsey & Company) ได้ประเมินไว้ว่าการปิดโรงเรียนเพื่อกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้นักเรียนในสหรัฐล้าหลังในการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไปแล้ว ราวๆ 4-12 เดือนเลยทีเดียว

          เป็นที่รู้กันว่าถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อในสังคมลดต่ำลง ความเสี่ยงของการติดเชื้อในโรงเรียนจะลดลงไปด้วย

          หลายประเทศมีการจัดการในด้านการศึกษาที่แตกต่างกัน และตัวเลขในหลายๆ ประเทศก็ดูน่าพึงพอใจ

          อย่างในประเทศอังกฤษ หลังจากที่ตัวเลขการติดเชื้อในชุมชนลดลงเป็นที่น่าพึงพอใจ โรงเรียนก็เปิดอีกครั้ง แต่เป็นเทอมสั้นๆ และจากการเปิดเรียนในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 มีนักเรียนเพียงแค่ 70 คนจากหนึ่งล้านหกแสนกว่าคนในระบบการศึกษาที่ติดเชื้อโควิด-19 จากโรงเรียน

          ขณะที่ในอิตาลี จากโรงเรียนกว่า 65,000 แห่งที่เปิดสอนในเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงขาขึ้นของการติดเชื้อในชุมชน ก็ยังมีเพียงแค่ราวๆ หนึ่งพันสองร้อยแห่งที่พบการติดเชื้อ​ในเดือนต่อมา และเกิน 90 เปอร์เซ็นต์เป็นการติดเชื้อแบบคนเดียว มีพบคลัสเตอร์แค่ที่เดียวที่มีคนติดไปมากกว่า 10 คน

          ชัดเจนว่าถ้าเปิดโรงเรียนตอนช่วงยังมีการติดเชื้อเยอะๆ ในสังคม จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

          ประเด็นคือทำไมโรงเรียนถึงอาจจะไม่ใช่จุดก่อคลัสเตอร์ที่เราเรียกว่า hotspot?

          คำตอบที่แท้จริงคือไม่มีใครรู้ แต่จากการวิเคราะห์รวบยอด (ที่เรียกว่าการทำ meta-analysis) และตัวเลขจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ​ที่เผยแพร่ออกมาแล้วในเวลานี้ ชี้แนะความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นเพราะเยาวชนมีโอกาสติดโควิด-19 ได้น้อยกว่าผู้ใหญ่​

          แต่อย่าลืมว่าในโรงเรียนแบบนิวนอร์มัล เด็กต้องทั้งสวมหน้ากาก ทั้งโซเชียลดิสแทนซิ่ง และยังมีข้อกำหนดอื่นๆ อีกมากมาย

          “เราไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติของการระบาดในเด็กและเยาวชนได้หรอก เพราะในความเป็นจริง เราได้ทำทุกวิถีทางในการป้องกันการติดเชื้อในเด็ก” ฟิโอนา รัสเซล จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) ในประเทศออสเตรเลียให้ความเห็น  

          สิ่งสำคัญที่ต้องคิดก็คือมาตรการอะไรที่จะช่วยให้โรงเรียนกลับมาเปิดใหม่ได้ โดยที่ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับที่พอรับได้

          ไม่ใช่บอกว่าเด็กไม่ค่อยติด แล้วโรงเรียนจะไม่เสี่ยง เพราะก็มีรีพอร์ตให้เห็นอยู่เหมือนกัน ทั้งในชิลีและในอิสราเอล

          ในอิสราเอล ช่วงที่การติดเชื้อในประเทศแค่ราวๆ 120 ต้นๆ ต่อวัน (หรือประมาณ 15 คนต่อประชากรล้านคน) อากาศกำลังร้อนระอุ โรงเรียนมัธยมเปิดเรียนตามปกติ นักเรียนราวๆ 30 คนนั่งเรียนร่วมกันในห้องแอร์เย็นฉ่ำ หน้ากากใส่ๆ ถอดๆ ตีว่าไม่ได้ใส่

          ก็ติดไปตามระเบียบ โดนไป​ 153 คนสำหรับนักเรียน และครูกับพนักงานอีก 25 คน บวกครอบครัว และเพื่อนของครอบครัวอีก 87 คน เล่นเอามึนไปทั้งเยรูซาเล็มเลยทีเดียว

          “โรงเรียนอาจจะเป็นที่ที่มีความเสี่ยงสูง” ยัง จูน โช (Young June Choe) กุมารแพทย์และนักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยแฮลลิม (Hallym University) ประเทศเกาหลีกล่าว “แต่สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ ถ้ามีนโยบายที่ดีเราสามารถควบคุมการระบาดได้ในโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบการติดเชื้อในชุมชนต่ำ”

          ในเกาหลี จำนวนเคสเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ น้อยกว่า 19 ปีที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงสองเดือนที่เปิดเรียนตามปกติ  (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ) และจากการสอบสวนโรคมีเพียงแค่ 1 คนจาก 111 คนที่ติดเชื้อมาจากโรงเรียน ที่เหลือติดมาจากที่อื่น ส่วนใหญ่ติดมาจากที่บ้าน

          ที่สำคัญก็คือต้องลดความเสี่ยงโดยการกำจัดปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาด อาทิเช่น จำนวนนักเรียนต่อห้องที่มากเกินไป การระบายและหมุนเวียนอากาศของห้องเรียน มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และที่สำคัญ จำนวนผู้ติดเชื้อในสังคม

          วันที่ 7 มกราคม 2564 ในวารสาร nature เอมิลี ออสเตอร์ (Emily Oster) ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ​(Brown University) ได้เขียนถึงสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับระบบการศึกษาในสหรัฐอเมริกาไว้อย่างน่าสนใจว่า ในตอนนี้ ปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคในการกำหนดนโยบายและวางมาตรการที่เหมาะสมที่จะรองรับการเปิดโรงเรียนใหม่อีกครั้ง ก็คือ การขาดแคลนข้อมูลการระบาดภายในโรงเรียน และแนวทางการป้องกันการติดเชื้อที่เป็นระบบ ชัดเจน โปร่งใส และครอบคลุมที่เพียงพอ

          เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากในการประเมินและวางกลยุทธ์เพื่อควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม ทำให้กราฟเตี้ยลง (flatten the curve) และทำให้วิถีชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น แม้อาจจะไม่ได้เหมือนเดิมเป๊ะๆ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็ให้พบปะ ได้ลงมือทำ ได้เข้าห้องเรียนบ้าง!

          เรื่องนี้ไม่ใช่เล่นๆ เพราะ​จะดี จะร้ายก็อยู่ตรงนี้

          จะวางใช้ยุทธศาสตร์ในการกำราบควบคุมโรคทั้งที ก็ต้องเอาให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและไม่ย้อนแย้ง

          บทเรียนมีมากมายจากหลายประเทศ และในความเห็นของผม นี่คงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจในวงการการศึกษาไทย 

          เพื่อที่ว่านักเรียนนักศึกษาของเราอาจจะได้มาเรียนผ่านกายหยาบอย่างมีประสิทธิภาพและได้ซึมซาบประสบการณ์การเรียนรู้แบบจริงๆ กันอีกครั้ง!


References.
Mallapaty, S. Nature, 584, p504 (2020)
Lewis, D. Nature, 587, p17 (2020)
Leeb, R.T. et al. Morbid Mortal. Wkly Rep. 69, 1410-1415 (2020)
Oster, E. Nature, 589, p8 (2021)


สามารถอ่านบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ในนิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 94 เดือนมกราคม 2564
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/218938

About Author