บทที่ 4 บทบาทของมารีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

อรพินท์ วิภาสุรมณฑล (เมนช) เรียบเรียง


        ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2457 มารียังคงทำงานในห้องปฏิบัติการที่สถาบันเรเดียมตามปกติ ไอรีนกับอีฟ พักร้อนอยู่ที่ l’Arcouest  ตำบลชายฝั่งบริตทานี ร่วมกับครอบครัวเพื่อนนักวิทยาศาสตร์เหมือนเช่นทุกปี

          ทหารเยอรมันเริ่มบุกรุกเข้ามาทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเริ่มเกณฑ์ทหาร เคลื่อนกำลังไปประจำ ตามสถานีต่างๆ ตามชายแดน  ไอรีนเขียนจดหมายถึงมารี ร้องขอกลับปารีสเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และอยากทำตัวให้เป็นประโยชน์ แม้มารีอยากให้ลูกๆ กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันในปารีส เธอยืนยันให้ไอรีนอยู่ที่นั่นเพราะปลอดภัยกว่าและจะได้ดูแลอีฟด้วย ตัวเธอเองได้รู้ได้เห็นความคืบหน้าของเยอรมนีอย่างใกล้ชิด เริ่มจาก นักศึกษาชายและเพื่อนร่วมงานชายที่สถาบันต่างโดนเกณฑ์ไปทำหน้าที่ตามจุดต่างๆ เธอรู้ข่าวจากแนวหน้าจากเพื่อนกลุ่มนี้

          เยอรมนีเคลื่อนกำลังทหารผ่านลักเซมเบิร์ก เบลเยียม กองทหารเยอรมันส่วนหนึ่งแยกเลี้ยวมาทางใต้ เพื่อโจมตีปารีส มาตั้งแถวประจันหน้าอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำมาร์น (Marne) รัฐบาลย้ายที่ทำการไปอยู่บอร์โด (Bordeaux) เศรษฐีและชนชั้นกลางส่วนใหญ่ย้ายออกไปอยู่ชนบทนอกเมือง  เธอได้ย้ายสารประกอบเรเดียมบริสุทธิ์หนึ่งกรัมในหลอดแก้ว (เก็บรักษาในกล่องโลหะ) ของสถาบันไปเก็บไว้ที่บอร์โดตามคำสั่งของรัฐ แต่ยังเป็นห่วงสถาบันและเครื่องมือทดลองต่างๆ เธอยืนกรานไม่ย้ายไปไหน

          มารีมีโอกาสได้เห็นปารีสยามร้างผู้คน เห็นความเงียบสงบซึ่งเสริมส่งความงามของสถาปัตยกรรมต่างๆ ให้เด่นชัดขึ้น มารีเห็นตัวอย่างจากประสบการณ์ในโปแลนด์ รู้ดีว่าผลหลังสงครามต่อประเทศแพ้สงครามเป็นอย่างไร เธอเริ่มตรึกตรองว่ามีงานอะไรบ้างที่ผู้หญิงอย่างเธอพอจะช่วยฝรั่งเศสได้


มารี กับ ‘กูรีน้อย’ รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ที่ดัดแปลงจากรถยนต์ขับขี่ส่วนตัว

https://www.nobelprize.org/womenwhochangedscience/stories/marie-curie

          การสู้รบตรงจุดแม่น้ำมาร์นระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนีตอนต้นเดือนกันยายนนั้น เยอรมนีแพ้ ต้องถอยทัพออกไปตั้งหลักใหม่ ปารีสปลอดภัย แต่สงครามยังยืดเยื้อต่อไป เดือนตุลาคม ไอรีนและอีฟกลับมาอยู่ปารีส อีฟไปโรงเรียนตามปกติ ไอรีนไปสมัครเข้าเรียนโปรแกรมพยาบาล (แทนที่จะเข้าเรียนที่ซอร์บอนน์ตามแผนเดิม) จนจบได้รับประกาศนียบัตรอีกสองเดือนต่อมา จากนั้นได้ทำงานเป็นผู้ช่วยเคียงข้างมารีกระทั่งสงครามสิ้นสุดอีกสี่ปีต่อมา

          ย่างเข้าฤดูหนาวปีนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนีตั้งประจันหน้ากัน ตามแนวรอยตะเข็บชายแดนตั้งแต่ ช่องแคบอังกฤษถึงชายแดนสวิตเซอร์แลนด์ รายงานข่าวการสู้รบระยะแรกๆ แจ้งว่าทหารทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บและตายรวมแล้วกว่าเแสน

          ในฝรั่งเศสมีการรณรงค์ให้ประชาชนทุกฝ่ายผนึกกำลังร่วมกันต่อต้านศัตรูของชาติ มีผลให้พวกผู้ชายออกไปอยู่แนวหน้ากันหมด แม่บ้านฝรั่งเศสต้องหันมาทำงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ตั้งแต่งานในฟาร์ม แบกหาม ขนถ่านหิน ขับรถราง ฯลฯ ตลอดจนงานปฐมพยาบาลดูแลทหารบาดเจ็บ

          ในแนวรบด้านยุโรปตะวันออกระหว่างเยอรมนีกับรัสเซีย รัสเซียใช้โปแลนด์เป็นสนามรบแนวหน้าต่อต้านเยอรมนี ชาวโปลถูกเกณฑ์ไปรบ โดยรัสเซียสัญญาว่าจะปล่อยให้โปแลนด์เป็นอิสระหลังสงคราม

          มารีต้องการมีส่วนร่วมในสงครามนี้อย่างจริงจัง เพื่อโปแลนด์ประเทศบ้านเกิดและฝรั่งเศสประเทศที่เป็นบ้านที่สอง เธอมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องเอกซเรย์และด้านรังสีวิทยาจึงอาสาทำด้านการถ่ายภาพรังสี (radiography) ในโรงพยาบาล ที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ตรวจทหารบาดเจ็บหาว่ากระสุนฝังที่อวัยวะส่วนไหนในร่างกาย ก่อนส่งคนไข้ไปให้แพทย์ผ่าตัดรักษาต่อไป เธอพบปัญหาทั้งทางด้านเครื่องมือและบุคลากร โรงพยาบาลขาดแคลนเครื่องเอกซเรย์ หรือที่มีก็อยู่ในสภาพเสื่อม อาสาสมัครต้องเรียนรู้สรีรวิทยาและการใช้เครื่องมือด้วยตัวเอง  หน่วยพยาบาลฉุกเฉินบางแห่งไม่มีแม้แต่ที่เสียบปลั๊กไฟฟ้า

          มารีสำรวจรวบรวมเครื่องเอกซเรย์จากใรงงานผลิตและสถาบันต่างๆ แจกจ่ายไปตามโรงพยาบาลในปารีส เสาะแสวงหาอาสาสมัครจากกลุ่มนักศึกษา อาจารย์ เพื่อนฝูง นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นอกจากนี้เธอยังจัดสร้าง หน่วยบริการเอกซเรย์เคลื่อนที่ (โดยเงินสนับสนุนจาก Union of Women of France) เธอชื้อรถยนต์ธรรมดามาดัดแปลงแก้ไขเพื่อใช้บรรทุกเครื่องเอกซเรย์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น พร้อมเตียงคนไข้และเครื่องปั่นไฟฟ้าใช้มอเตอร์ (ซึ่งใช้ของรถเป็นตัวหมุน)


ไอรีนกับมารีทำงานร่วมกันในหน่วยบริการเอกซเรย์เคลื่อนที่ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

          หน่วยบริการเอกซเรย์เคลื่อนที่นี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  เมื่อหน่วยได้รับแจ้งจากโรงพยาบาล ชั่วคราวจากแนวหน้า หรือจากจุดฉุกเฉินที่ต้องการบริการเอกซเรย์ รถบริการพร้อมแพทย์และเจ้าหน้าที่เทคนิคจะเริ่มเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 25 ไมล์ต่อชั่วโมง เมื่อไปถึงจุดหมายหาทำเลที่เหมาะสมได้แล้ว แพทย์กับเจ้าหน้าที่จะลงมือติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ จัดเตรียมอุปกรณ์ เตรียมห้องมืด (โดยใช้ผ้าม่านสีดำปิดช่องหน้าต่าง) ฉาก ฟิล์ม โชเฟอร์เดินสายเคเบิลจากเครื่องปั่นไฟ เจ้าหน้าที่ตรวจเช็คว่าเครื่องเอกซเรย์ทำงานหรือไม่ ทั้งหมดนี้ปกติใช้เวลาประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงนำคนไข้มาที่เตียงเพื่อฉายเอกซเรย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจดูผลจาก ฟิล์มเอกซเรย์เพื่อทำการผ่าตัดรักษาต่อไป ขั้นนี้อาจใช้เวลามากหรือน้อยก็แล้วแต่กรณี จนกระทั่งแล้วเสร็จจึงจัดแจงถอดเก็บเครื่องเอกซเรย์และอุปกรณ์ทั้งหมดขึ้นรถกลับไปประจำที่ศูนย์ทำการ เตรียมพร้อมที่จะบริการฉุกเฉินรายต่อไป แต่ละแห่งที่ใช้บริการ ถ้าสถานการณ์อำนวยมารีจะติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ จัด หาอุปกรณ์ และบุคลากรที่จำเป็นให้ใช้งานได้อย่างถาวร ไม่ต้องพึ่งหน่วยบริการเคลื่อนที่อีกต่อไป

          รถบริการเคลื่อนที่นี้ได้นิกเนมว่ารถ ‘กูรีน้อย’ มารีจะเป็นผู้ดัดแปลงและจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง รวมแล้วเธอได้สร้าง ‘กูรีน้อย’ 220 หน่วย จำนวนคนที่ได้รับบริการทั้งหมดมากกว่าหนึ่งล้านคน

          หน่วยบริการเอกซเรย์จะไม่มีประโยชน์ใดๆ ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่เทคนิคที่ใช้เครื่องมือเป็น มีความรู้ มีทักษะ สามารถวิเคราะห์ฟิล์มเอกซเรย์ได้ถูกต้องแม่นยำ ฝ่ายทหารแก้ไขปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่เทคนิคโดยเปิดโรงเรียนฝึกและเกณฑ์ทหารมาฝึก แต่ปรากฏว่าคนที่ถูกเกณฑ์มาเรียนนั้นไม่มีใจชอบ ไม่ถนัดในด้านนี้จึงไม่ได้บุคลากรที่ดี มารีต้องแก้ปัญหานี้โดยเสนอโครงการฝึกพยาบาลให้เป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคต่อฝ่ายทหาร ซึ่งก็ไฟเขียวโครงการนี้อย่างไม่เต็มใจนัก โครงการนี้มีมารีเป็นผู้อำนวยการ เริ่มทำการในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2459 ที่โรงพยาบาลเปิดใหม่ในปารีส มารีให้ชื่อโรงพยาบาลนี้ว่า Edith Cavell (เพื่อเป็นเกียรติแก่พยาบาลชาวอังกฤษผู้ตายในสงคราม) หลักสูตรโครงการฝึกแบบเข้มข้น ใช้เวลาหกอาทิตย์ ครั้งละ 20 คน รับฝึกพยาบาลจากหน่วยต่างๆ ทั่วไป ทั้งจากโรงพยาบาลทหาร จากสภากาชาด หรือผู้หญิงที่มีคุณสมบัติเข้าข่าย รวมแล้วโครงการผลิตเจ้าหน้าที่เทคนิคทั้งหมด 150 คน ผู้จบออกไปประจำทำหน้าที่ตามศูนย์ฉายรังสีต่างๆ ทั่วประเทศ 


https://www.nobelprize.org/womenwhochangedscience/stories/marie-curie

          เมื่อการสู้รบตามแนวหน้าดำเนินต่อไป ทหารบาดเจ็บมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกด้าน ความต้องการรถเอกซเรย์เคลื่อนที่สูงขึ้น มารีต้องเดินทางไปยังหน่วยต่างๆ ตลอดแนวที่ทหารประจำอยู่ บางครั้งเพื่อติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ ถาวร หรือเพื่อซ่อมแซมเครื่องที่ชำรุด หรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องเอกซเรย์ ระหว่างนั้นมารีต้องทุ่มเทรณรงค์หาทุน หาผู้บริจาคเงินและรถส่วนตัว เพื่อนำมาสร้างรถบริการเพิ่มขึ้น เธอต้องเรียนรู้วิชาและทักษะใหม่เพิ่มขึ้นด้วย เธอเรียนชีววิทยาทางแพทย์ สอบใบขับขี่ เรียนรู้การทำงานของเครื่องยนต์ การซ่อมแซมรถยนต์ เธอแก้ปัญหาฟันฝ่าอุปสรรคด้านต่างๆ ทั้งจากระเบียบทางการ จากขนบธรรมเนียมสังคมที่ยังไม่ยอมรับว่าผู้หญิงมีความสามารถเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำโครงการเกี่ยวกับทหารและความปลอดภัยของชาติได้ ระเบียบทหารฝรั่งเศสไม่อนุญาตให้ผู้หญิงไปทำงานแนวหน้า กรณีมารีอีกเหตุผลหนึ่งอาจจะมาจากความคิดว่าเธอเป็น ‘ชาวต่างชาติ’ ด้วย

          ไอรีนมีส่วนช่วยในโปรแกรมบริการเอกซเรย์เคลื่อนที่อย่างมาก ตั้งแต่อายุย่าง 18 ปี เธอเดินทางด้วยตัวเองไปยังหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน ตามค่ายทหารต่างๆ แถวชายแดน เพื่อเป็นวิทยากรฝึกพยาบาลเกี่ยวกับรังสีวิทยา การใช้เครื่องเอกซเรย์ หรือช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เธอใช้ชีวิต กิน นอนในค่าย เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ นอกจากนี้เธอยังได้จัดเวลาลงทะเบียนเรียนโปรแกรมปริญญาทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี ที่ซอร์บอนน์ในระหว่างสงครามอีกด้วย ไอรีนได้รับประกาศนียบัตร (ปริญญาตรี) สาขาคณิตศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2458 สาขาฟิสิกส์ พ.ศ. 2459 และสาขาเคมี พ.ศ. 2460

          เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2461 นั้น คนฝรั่งเศสเสียชีวิตจำนวนล้านกว่าคน หลานชายของมารี โมริส กูรี (Maurice Curie) ผู้มาอยู่และทำงานกับมารีที่สถาบันเรเดียมโชคดีรอดชีวิต แต่นักศึกษาและลูกน้องคนสนิทหลายคนตายในสนามรบ สำหรับมารี นับเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังสมองของชาติอย่างใหญ่หลวง

          ตลอดเวลา 4 ปี ระหว่างสงคราม มารีอุทิศเวลาทั้งหมด (ยกเว้นช่วงที่โรคไตกำเริบ ที่เธอต้องพักอยู่ที่อพาร์ตเมนต์) ให้แก่งานอาสาสมัครทางรังสี เธอต้องเดินทางทั้งในและนอกประเทศ ไม่เคยบ่นถึงอุปสรรค ผลกระทบต่อสุขภาพ หรือความทุกข์กังวลใจ เมื่อเธอไม่ได้รับข่าวคราวจากครอบครัวทางโปแลนด์

          โปแลนด์ได้ประกาศเป็นประเทศเอกราชจากเยอรมนี รัสเซีย และออสเตรีย ในปี พ.ศ. 2463

          สำหรับมารี ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรแสดงว่า ฝ่ายธรรมย่อมชนะฝ่ายอธรรมเสมอ และพิสูจน์ว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นำไปประยุกต์ใช้ได้แม้ในสภาวะจำกัด เธอภูมิใจที่มีส่วนช่วยทั้งฝรั่งเศสและโปแลนด์

About Author