Headlines

ม.มหิดลแนะเลี่ยงเลี้ยงพืชป่าเป็นไม้ประดับ ลดเสี่ยงธรรมชาติสูญพันธุ์

          ในบรรดาพรรณไม้ล้มลุกที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ “ส้มกุ้ง” หรือ “เบโกเนีย” (Begoniaceae) เป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นตามระบบนิเวศป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูน และกำลังเป็นที่สนใจในลำดับต้นๆ ของนักพฤกษศาสตร์ทั่วโลก โดยส่วนใหญ่พบหลายชนิดเป็นพืชเฉพาะถิ่นในประเทศไทย “ส้มกุ้ง” เป็นชื่อเรียกตามรสเปรี้ยวของพืช ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาต่อยอดเพื่อส่งเสริมเป็น “ไม้ประดับเศรษฐกิจ” เนื่องจากมีใบที่มีสีสันสวยงาม และมีความหลากหลายของใบสูงกว่าพืชกลุ่มอื่น

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่รู้จักในแวดวงพฤกษศาสตร์ระดับโลก ในฐานะผู้ค้นพบ “ส้มกุ้ง” ร่วมกับ Dr.Mark Hughes นักวิจัยจากสวนพฤกษศาสตร์เอดินบะระ สก็อตแลนด์ และผู้เชี่ยวชาญจาก หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากมายหลายชนิดในประเทศไทย


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย
อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หนึ่งในผู้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ชมพูราชสิริน” (sirindhorniana)
ซึ่งได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

          เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย และ Dr.Mark Hughes ได้ร่วมกับนักพฤกษศาสตร์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกใน “วงศ์ส้มกุ้ง” ซึ่งขึ้นตามเปลือกต้นไม้ใหญ่ในป่า ในพื้นที่เขาสูง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ต่อมาได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “ชมพูราชสิริน” (sirindhorniana)
ตามลักษณะของสีของดอก

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย กล่าวว่า “การค้นพบ” คือ “จุดเริ่มต้น” ของ “การศึกษาต่อยอด” ในอนาคตถึงประโยชน์ของสิ่งที่ค้นพบ ซึ่งไม่จำกัดเพียงการค้นพบพืชชนิดใหม่ แต่รวมไปถึงการค้นพบสัตว์ หรือจุลชีพต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การที่นักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบกลไกการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดสู่การค้นหาวัคซีนและยา เพื่อป้องกันและรักษาโรคดังกล่าวได้ในที่สุด

          การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกนับเป็น “ต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ” ที่สำคัญ เนื่องจากสามารถต่อยอดสู่การศึกษาประโยชน์ในทางยาต่อไปได้ ซึ่งการค้นพบ “ชมพูราชสิริน” นั้นนอกจากจะได้มีการต่อยอดเพื่อการศึกษาและอนุรักษ์ระบบนิเวศทางธรรมชาติแล้ว ยังสามารถต่อยอดสู่การส่งเสริมให้เป็น “ไม้ประดับเศรษฐกิจ” ได้เช่นเดียวกับ “ส้มกุ้ง” หรือ “เบโกเนีย” ชนิดอื่น แต่เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ทิศทางการศึกษาวิจัยจึงควรมุ่งไปที่การอนุรักษ์และการขยายพันธุ์ก่อน

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย ได้ให้มุมมองต่อการเลือกเลี้ยงไม้ประดับว่าขึ้นอยู่กับความพึงพอใจส่วนบุคคล แต่อยากให้พิจารณาเลือกเลี้ยงไม้ประดับที่มีอยู่แล้วโดยทั่วไป และได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความแตกต่างหลากหลาย จะปลอดภัยกว่าการนำไม้ป่าซึ่งยังไม่มีการศึกษาถึงวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องและเหมาะสมมาลองผิดลองถูก ซึ่งหากเลี้ยงไม่ถูกวิธี ไม้ป่านั้นๆ อาจตายได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะเป็นการทำลายพันธุกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติด้วย และยิ่งถ้าเราดึงทรัพยากรจากป่าออกมามากขึ้นเท่าใด ยิ่งหมายถึงเรากำลังทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลงไปเท่านั้น

          ซึ่งตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 15 ว่าด้วยการรักษาดุลยภาพของชีวิตบนบก (Life on land) ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนตระหนักว่าในการหาไม้ประดับมาเลี้ยง ไม่ควรชื่นชมกับความหายากแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรระวังเรื่องการจะไปทำลายพันธุกรรมของพืชป่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติด้วย ซึ่งการทำให้เกิด “ความอ่อนแอทางพันธุกรรม” ต่อพืชป่า จากการทำให้พืชป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ ถูกทำลาย อาจส่งผลกระทบสู่การสูญพันธุ์ได้ต่อไปในอนาคต

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author