ในบรรดาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งที่ทำกิน และพำนักพักพิงของชาวไทย ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “บึงบอระเพ็ด” ซึ่งเปรียบเหมือน “เส้นเลือดใหญ่” ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของชาว “ปากน้ำโพ” หรือจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเปรียบเหมือนประตูสู่ดินแดนล้านนา หรือภาคเหนือของประเทศไทย
ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าแสนไร่ของบึงบอระเพ็ด ทำให้ได้รับการจัดอันดับเป็น “บึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ได้มีการริเริ่มพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการอนุรักษ์ชีวิตธรรมชาติให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์สู่ลูกหลานชาวปากน้ำโพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาในบึงบอระเพ็ดที่มีอยู่ถึงประมาณเกือบ 80 สายพันธุ์ในปัจจุบัน
อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์
รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ร่วมสืบสานมรดกอันล้ำค่าเคียงบ่าเคียงไหล่ชาวชุมชนนครสวรรค์ ทำให้ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลบึงบอระเพ็ด” ขึ้นเพื่อรวบรวมงานวิจัย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจำนวนรวมกว่า 200 ชิ้น เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการพัฒนาพื้นที่บนฐานข้อมูลทางวิชาการ และได้ร่วมกับแกนนำชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ เสนอ “แผนพัฒนาบึงบอระเพ็ด” ต่อ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” ในช่วงปีพ.ศ.2558 ทำให้สามารถผลักดันสู่การได้มาของแผน 10 ปีเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด (พ.ศ.2563 – 2572) และรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,513.5 ล้านบาท จำนวน 9 โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่
จากการทุ่มเททำงานวิจัยร่วมกับชาวชุมชนนครสวรรค์เพื่อการใช้ประโยชน์บึงบอระเพ็ดอย่างยั่งยืนตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ ส่งผลให้ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่รู้จักมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งบึงบอระเพ็ดเป็นของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะชาวชุมชนนครสวรรค์แต่เพียงเท่านั้น
ดร.ณพล อนุตตรังกูร นักวิชาการสิ่งแวดล้อม
หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ณพล อนุตตรังกูร นักวิชาการสิ่งแวดล้อม หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ทางศูนย์วิจัยฯ ได้ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และชุมชนบึงบอระเพ็ดในการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการตามแผนพัฒนาและฟื้นฟู ซึ่งมีทั้งการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ การให้คำปรึกษา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในเชิงนโยบายบนฐานข้อมูลวิชาการ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ที่คนอยู่ได้ และสิ่งแวดล้อมอยู่ได้
ปัจจุบันโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพัฒนาบึงบอระเพ็ด โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการจำนวน 3 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด คณะทำงานบริหารงานโครงการระบบส่งน้ำจากแม่น้ำน่าน – บึงบอระเพ็ด และคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ทำให้การดำเนินการสอดคล้องตามพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement) และเป็นที่พึ่งด้านวิชาการให้กับพื้นที่
โดยล่าสุด จังหวัดนครสวรรค์ ได้ร่วมมือกับ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาแนวทางการพัฒนาบึงบอระเพ็ด เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สู่การขับเคลื่อน BCG ให้เกิดขึ้นในบึงบอระเพ็ดต่อไป
โดยในการทำงานวิจัย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และชุมชน ร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น การศึกษาความลึกของบึงบอระเพ็ด การศึกษาการชะล้างพังทลายของดินในลุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในบึงบอระเพ็ด การใช้ประโยชน์บึงบอระเพ็ดอย่างยั่งยืน การศึกษาวิจัยด้านจระเข้ในบึงบอระเพ็ด เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ได้มีการส่งต่อข้อมูลให้กับภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ และขับเคลื่อนในเชิงนโยบายต่อไป
และทุกวันนี้ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงเดินหน้าทุ่มเททำงานวิจัยเพื่อลูกหลานชาวชุมชนนครสวรรค์ และชาวไทยทั้งประเทศต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210