โรคเท้าเหม็น (Pitted keratolysis)

          โรคเท้าเหม็น (Pitted keratolysis) เป็นโรคของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นนอก  ทำให้เท้าลอกและมีกลิ่นเหม็น พบได้บ่อยในผู้ที่ใส่รองเท้าหุ้มส้นเป็นเวลานาน ทำให้มีความอับชื้น มักไม่มีอาการคัน แต่มีเท้าลอก ผิวหนังดูชื้นแฉะ มีกลิ่นเหม็น และโรคเริ่มเกิดที่ฝ่าเท้าก่อน

ปัจจัยที่มีผลต่อกลิ่นเท้า คือ

          1. รองเท้าและถุงเท้า

          รองเท้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดี หรือถุงเท้าที่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น polyester หรือ nylon จะทำให้มีเหงื่อออกที่เท้ามากขึ้น ซึ่งรองเท้าหรือถุงเท้านั้นก็จะดูดซับเหงื่อไว้ทำให้เกิดการอับชื้น เหมาะสมต่อการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราจึงทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้และการใส่รองเท้าตลอดทั้งวัน ก็จะทำให้รองเท้าเกิดการอับชื้นแล้วเกิดกลิ่นเท้าได้ด้วยเช่นกัน 

          2. อาหาร การบริโภคอาหารที่มีกลิ่นแรง ก็สามารถทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้

          3. ยา การได้รับสาร หรือยาบางชนิด เช่น Nicotine, Caffeine, Codeine, Naproxen, Acyclovir

          4. ภาวะขาด zinc

          5. ความเครียด ส่งผลให้มีการผลิตเหงื่อมากขึ้น

          6. ภาวะต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเจริญของแบคทีเรีย การเปียก ความอับชื้นของเท้า เป็นสิ่งที่เอื้อต่อการเจริญของแบคทีเรีย ดังนั้นการรักษาความสะอาดของเท้า ถุงเท้า รองเท้า จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเท้าเหม็นได้

 

การรักษาโรคเท้าเหม็น ต้องรักษาดูแลทั้ง 2 ปัจจัยควบคู่กัน

          1. การรักษาแบคทีเรีย ใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดทา เช่น ยา Clindamycin ยา Erythromycin และ/หรือ ยาทาที่ช่วยให้ผิวหนังลอกตัวเพื่อสร้างผิวหนังขึ้นใหม่และมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย เช่น ยา Benzoyl peroxide 

          2. การป้องกันภาวะอับชื้นนั้น ใช้แป้งผง 20% Aluminium chloride โรยเท้าวันละ 1 – 2 ครั้ง หลังทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่ที่มียาฆ่าเชื้อเป็นส่วนผสม หรือตามแพทย์แนะนำ

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเท้าเหม็น คือ

          1. หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เกิดการอับชื้นที่ เท้า ฝ่าเท้า

          2. ทำความสะอาดเท้าทุกวัน วันละ 2 ครั้งดังกล่าวในหัวข้อ การรักษา

          3. หากเป็นคนที่มีเหงื่อออกมาก หรือถุงเท้า รองเท้า มีความอับชื้นมาก ควรเปลี่ยนถุงเท้าบ่อย ๆ ทุกครั้งที่เปียกชื้น

          4. สลับสวมรองเท้า ไม่สวมซ้ำเกิน 2 วัน ตากรองเท้าให้แห้งเสมอ ไม่ใช้รองเท้าร่วมกับผู้อื่น

          5. ทำความสะอาดถุงเท้า ด้วยผงซักฟอกหรือสบู่ ที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อในน้ำร้อน ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส แล้วตากแดดให้แห้งสนิท

          6. หลีกเลี่ยงการใส่ถุงเท้าที่ทำจาก nylon เนื่องจากเนื้อผ้าจะดักจับความชื้นเอาไว้ แต่ควรใส่ถุงเท้าที่ทำจาก cotton หรือผ้าฝ้าย 100% แต่หากมีเหงื่อออกมาก ควรเปลี่ยนถุงเท้าระหว่างวัน เพื่อลดความอับชื้น

          7. รับประทานอาหารที่มี Zinc เป็นส่วนประกอบ เช่น หอยนางรม ไก่ ไข่ นม จมูกข้าว ธัญพืช


ข้อมูลจาก อย.

About Author