เรื่องโดย ฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา
หอยฝาเดียวมีกำเนิดขึ้นบนโลกมากว่า 500 ล้านปี ซากดึกดำบรรพ์ของมัน สามารถบอกถึงการเปลี่ยนแปลงและสภาพแวดล้อมของโลกยุคโบราณ
ในอดีตกาลก่อนยุคไดโนเสาร์ เมื่อประมาณ 550 ล้านปี ประเทศไทยไม่ได้มีสภาพทางภูมิศาสตร์อย่างในปัจจุบัน ประเทศไทยประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทย (ฝั่งตะวันตก) และแผ่นเปลือกโลกอินโดจีน (ฝั่งตะวันออก) ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่างกันและห่างกันหลายพันกิโลเมตรโดยมีมหาสมุทรกว้างใหญ่เป็นตัวเชื่อม แผ่นเปลือกโลกทั้งสองมีวิวัฒนาการทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อนและยาวนาน ซึ่งแผ่นเปลือกโลกทั้งสองนั้นมีการสะสมตัวของตะกอนทะเลอย่างกว้างขวางตั้งแต่บริเวณไหล่ทะเลจนไปถึงทะเลน้ำลึก รวมทั้งในบางบริเวณพบการสะสมตัวของหินภูเขาไฟอีกด้วย
เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยล้านปี แผ่นเปลือกโลกทั้งสองมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาและเคลื่อนที่มาใกล้กันมากขึ้น จนมาถึงปลายยุคไทรแอสซิกประมาณ 200 ล้านปี แผ่นเปลือกโลกทั้งสองจึงเกิดการชนกันเป็นผลให้บริเวณตอนกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย เกิดลักษณะของเทือกเขา และเปลือกโลกอินโดจีนมีการยกตัวสูงขึ้น พร้อมทั้งเริ่มมีการสะสมตะกอนแผ่นดินจนทำให้ภูมิประเทศบริเวณนี้สูงกว่าระดับน้ำทะเล ส่วนเปลือกโลกชาน-ไทยก็ยังคงมีการสะสมตัวของตะกอนทะเลน้ำตื้นจนถึงน้ำลึกต่อไป
การศึกษาวิวัฒนาการธรณีแปรสัณฐานและธรณีประวัติข้างต้นสามารถศึกษาได้จากหลักฐานทางธรณีวิทยา เช่น หิน แร่ โครงสร้างทางธรณีวิทยา ลำดับชั้นหินและซากดึกดำบรรพ์ เป็นต้น โดยหลักฐานเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์และตีความร่วมกัน ซึ่งซากดึกดำบรรพ์เปรียบเสมือนกุญแจจากอดีตกาลที่จะทำให้เราทราบรายละเอียดต่างๆ ได้มากขึ้น
ดังนั้นจึงถือเป็นหลักฐานหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการประมวลผลสภาพแวดล้อมการสะสมตัวโบราณ ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrate fossils) ที่อาศัยอยู่ในทะเลมีการกระจายตัวอยู่กว้างขวางในประเทศไทย อีกทั้งยังมีความหลากหลายและสามารถใช้ซากดึกดำบรรพ์ดัชนี ที่ใช้เป็นตัวอายุของหินในพื้นที่นั้นๆได้ รวมทั้งซากดึกดำบรรพ์บางชนิดสามารถใช้บ่งบอกสภาพแวดล้อมได้อีกด้วย
หอยฝาเดียวมีวิวัฒนาการตั้งแต่ยุคแคมเบรียน (Cambrian) จนถึงปัจจุบัน โดยพบเป็นซากดึกดำบรรพ์ในชั้นหินหลากหลายชนิดพันธุ์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการค้นพบเป็นครั้งแรกของซากดึกดำบรรพ์หอยฝาเดียวในหมวดหินตากฟ้า (Tak Fa Formation) อายุเพอร์เมียน ของกลุ่มหินสระบุรี (Saraburi Group) ที่ประกอบด้วยหินปูน โดยเป็นซากดึกดำบรรพ์หอยฝาเดียวในกลุ่ม Bellerophontidae, Pleurotomarioidea, Meekospiridae และ Goniasmatidae ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่พบในมหายุคพาลีโอโซอิก ที่พบกระจายอยู่ทั่วโลก
นอกจากนี้ยังพบซากดึกดำบรรพ์หอยฝาเดียวในสกุล Naticopsis ซึ่งสามารถบ่งบอกสภาพแวดล้อมการสะสมตัวในเขตทะเลน้ำตื้นบริเวณหลังแนวปะการัง มีแสงสว่างส่องถึงและคลื่นค่อนข้างแรงมาก นอกจากนี้ยังพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น เช่น ฟิวซูลินิด ปะการัง หอยตะเกียง หอยสองฝา ฟองน้ำ พลับพลึงทะเล และโคโนดอนร่วมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ในการวิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์ร่วมกับหินปูนยังพบอีกว่่าบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทย ในยุคเพอร์เมียนหรือราว 275 ล้านปี
จากผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลในการเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งประเทศข้างเคียง โดยนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางธรณีวิทยาด้านอื่นๆ เพื่อหาความสัมพันธ์ของภูมิศาสตร์บรรพกาลและการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาได้ต่อไป