กรุงเทพฯ – 1 มีนาคม 2565 – รายงานมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประจำปี 2565 (2022 Data Privacy Benchmark Study)* ของซิสโก้ ระบุว่า ความเป็นส่วนตัว (Privacy) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงาน โดย 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกมองว่าความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ส่วนในประเทศไทย ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับสูงยิ่งขึ้นไปอีก โดยอยู่ที่ 97% รายงานประจำปีดังกล่าวสำรวจแนวทางปฏิบัติเรื่องความเป็นส่วนตัวขององค์กรทั่วโลก รวมถึงผลกระทบของความเป็นส่วนตัวที่มีต่อองค์กร และความคิดเห็นขององค์กรเกี่ยวกับสิทธิความเป็นส่วนตัวและให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งชี้ให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ เล็งเห็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมที่จะได้รับจากการให้ความสำคัญและการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว
* การสำรวจความคิดเห็นโดยไม่เปิดเผยชื่อ โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลคำตอบของบุคลากรด้านการรักษาความปลอดภัย ไอที และความเป็นส่วนตัว จำนวนกว่า 4,900 คนใน 27 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ชิลี จีน กัมพูชา ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สเปน ไต้หวัน ไทย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และเวียดนาม
ความเป็นส่วนตัวกลายเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าสำหรับองค์กรทั่วโลก โดย 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยระบุว่าตนเองจะไม่ซื้อสินค้าและบริการจากองค์กรที่ไม่ได้ปกป้องข้อมูลของลูกค้าอย่างถูกต้องเหมาะสม และ 91% ระบุว่าการรับรองความเป็นส่วนตัวจากหน่วยงานภายนอกมีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อ
องค์กรคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ที่ดีจากความเป็นส่วนตัว ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น สำหรับในประเทศไทย ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 70% เชื่อว่าจะได้รับประโยชน์ทางธุรกิจอย่างมากจากการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รองรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม และป้องกันความสูญเสียจากปัญหาข้อมูลรั่วไหล ผู้ตอบแบบสอบถามในไทยประเมินว่า ROI น่าจะอยู่ที่ 1.2 เท่าของเงินลงทุนโดยเฉลี่ย
จากผลการศึกษาพบว่า กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวจะยังคงได้รับการตอบรับที่ดีมากในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถึงแม้ว่าการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องใช้ความพยายามและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก (เช่น การจัดทำแคตตาล็อกข้อมูล การดูแลรักษาบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการประมวลผล การปรับใช้มาตรการควบคุมโดยคำนึงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว การตอบสนองต่อคำร้องขอของผู้ใช้งาน) สำหรับในประเทศไทย 92% ของผู้ตอบแบบสอบถามในองค์กรระบุว่า กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวก่อให้เกิดผลดี และมีเพียง 2% เท่านั้นที่ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสีย
สำหรับประเทศไทยล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2565 มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act – PDPA) ทั้งนี้คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ โดยมีการกำหนดว่าองค์กรจะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล และจะต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ที่ระบุเท่านั้น
นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า “การบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองความเป็นส่วนตัวจะส่งผลกระทบต่อองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยในเรื่องของการเก็บรวบรวมและใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากปัจจุบันองค์กรธุรกิจได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเป็นรูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และมีการสร้างข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวจึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อองค์กรต่างๆ ในไทย ข่าวดีก็คือ องค์กรเหล่านี้กำลังเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดย 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยระบุว่าองค์กรของตนมีการรายงานดัชนีที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวอย่างน้อยหนึ่งรายการให้แก่คณะกรรมการบริหาร และมีการเพิ่มงบประมาณสำหรับการลงทุนด้านความเป็นส่วนตัวโดยเฉลี่ย 55% ที่ซิสโก้เราเชื่อว่าความเป็นส่วนตัวคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเราจำเป็นต้องอาศัยระบบรักษาความปลอดภัยและความโปร่งใสเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายๆ องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น”
เนื่องจากภาครัฐและภาคเอกชนต้องการให้มีการปกป้องข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงมีการกำหนดข้อบังคับให้ต้องเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ (Data Localization) ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 99% ระบุว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อองค์กรของตน แต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบตามมา โดย 93% ระบุว่าข้อบังคับให้ต้องเก็บข้อมูลไว้ในประเทศก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ประการสุดท้าย ในเรื่องของการใช้ข้อมูล ผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 99% ตระหนักว่าองค์กรของตนมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ข้อมูลอย่างรับผิดชอบ และ 93% เชื่อว่าองค์กรของตนมีกระบวนการสำหรับการตรวจสอบว่าการตัดสินใจแบบอัตโนมัติเป็นไปตามความคาดหวังของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคประจำปี 2564 (2021 Consumer Privacy Survey) ของซิสโก้ ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคต้องการความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น และ 56% ของผู้บริโภคทั่วโลกที่ตอบแบบสอบถามรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลในส่วนของ AI และการตัดสินใจแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ ผู้บริโภค 46% รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างเพียงพอ โดยสาเหตุหลักเนื่องจากผู้บริโภคไม่เข้าใจว่าองค์กรเก็บรวบรวมและนำเอาข้อมูลของตนไปใช้ทำอะไร
นายอนุรัก ธิงรา รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี กลุ่มธุรกิจ Collaboration ของซิสโก้ กล่าวว่า “ซิสโก้มุ่งมั่นที่จะคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมถึงการกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เราได้จัดทำเฟรมเวิร์ก AI ที่มีความรับผิดชอบ (Responsible AI Framework) โดยเป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของซิสโก้สำหรับการสร้างความโปร่งใสและความสามารถในการปรับตัว ด้วยการกำหนดกระบวนการกำกับดูแลและแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับทีมงานฝ่ายพัฒนาของเรา รวมไปถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารที่สำคัญกับลูกค้าและฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เฟรมเวิร์กดังกล่าวระบุหลักการที่ชัดเจนในลักษณะที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของลูกค้า”
ข้อมูลเพิ่มเติม:
- หน้าหลักของรายงาน: 2022 Data Privacy Benchmark Study
- รายงาน: รายงานมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประจำปี 2565
- อินโฟกราฟิก: รายงานมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประจำปี 2565
- เอกสาร: หลักการ AI ที่มีความรับผิดชอบของซิสโก้
- อินโฟกราฟิก: เฟรมเวิร์ก AI ที่มีความรับผิดชอบของซิสโก้
- ห้องข่าวของซิสโก้: การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชนในโลกของ AI
- บล็อก Duo: การขยายธุรกิจในต่างประเทศของ Duo: เปิดดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่ในออสเตรเลีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
- บล็อกโดย โรเบิร์ต เว็ทแมน: ความเป็นส่วนตัวกลายเป็นเรื่องสำคัญระดับ Mission Critical
- บล็อกโดย อนุรัก ธิงรา: แนะนำ Cisco Responsible AI – เพิ่มความโปร่งใสของเทคโนโลยีและความเชื่อมั่นของลูกค้า
- บล็อกโดย ฮาร์วีย์ จาง: ปรับสมดุลด้านความเป็นส่วนตัวอย่างเหมาะสม
- Cisco Trust Center
- ชุดรายงานด้านการรักษาความปลอดภัยของซิสโก้