เจ็บมาแล้วแค่ไหน แล้วเมื่อไรจึงจะจบ

เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


          โควิด 19 สร้างวิกฤตติดต่อกันอย่างต่อเนื่องมาสองปีกว่า เล่นเอาระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง

          หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ผู้คนเฝ้ารอคำตอบมาแล้วสองปีคือ วิกฤตครั้งนี้เมื่อไหร่จะถึงตอนอวสาน

          ยิ่งมีการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่ดูจะดุร้ายบ้าง ไม่ดุร้ายบ้าง ออกมาเรื่อยๆ งานนี้คงตอบได้ยาก แต่ที่ชัดเจนคือ “โอมิครอน” คงไม่ใช่ตัวสุดท้าย

          คำกล่าวที่ว่า “ถ้าไวรัสก่อโรครุนแรง จนทำให้โฮสต์ตายจนหมด ไวรัสก็จะอยู่ไม่ได้” ไม่ใช่คำกล่าวที่ผิด แต่ไม่ได้หมายความว่า “วิวัฒนาการที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง”

          สันติสุขของไวรัสกับโฮสต์ ไม่ใช่อะไรที่ไวรัสจะรู้ได้ สิ่งที่เป็นตัวคัดเลือกจริงๆ ว่าสายพันธุ์ไหนจะมาต่อ ก็คือ “ความได้เปรียบในเชิงวิวัฒนาการ” ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตอนนั้น 

          แรงคัดเลือกอาจจะเป็นวัคซีนหรือภูมิคุ้มกัน ที่เมื่อฉีดแล้วอาจจะกันได้สายพันธุ์หนึ่ง ทำให้การระบาดค่อยๆ ลดหดหายไป แต่สายพันธุ์กลายที่หลีกภูมิได้ก็จะยังระบาดต่อไปได้ปกติ อาจจะได้ไวกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะถ้าสายพันธุ์แรกถอยลดหมดความสามารถในการแพร่กระจาย พวกพันธุ์กลายที่มีอยู่ก็จะยึดครองพื้นที่ได้แบบไร้คู่แข่ง

          และในเวลานี้ อีกปัญหาที่ทุกประเทศควรต้องจับตาเฝ้าระวังกำลังปะทุขึ้นมาในแอฟริกาและปากีสถาน คือปัญหาการอุบัติขึ้นมาใหม่ของเชื้อไวรัสโปลิโอ ปัญหานี้เป็นอะไรที่บ่งชี้ได้ชัดที่สุดว่า ถ้อยคำที่ว่าเชื้อจะวิวัฒน์ไปให้ก่อโรคได้เบาลงนั้น คือการมโนเอาล้วนๆ เพราะวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (oral polio vaccine: OPV) ที่เคยใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโปลิโอได้ผลมายาวนาน เริ่มสะสมการกลายพันธุ์จนวิวัฒน์ย้อนกลับไปมีฤทธิ์และเริ่มระบาดก่อโรคในมนุษย์ใหม่อีกรอบแล้ว

          และนั่นคือสิ่งที่โครงการริเริ่มเพื่อล้างบางโปลิโอนานาชาติ (Global Polio Eradication Initiative: GPEI) นั้นกำลังหาวิธีแก้อยู่

          “ผมก็ไม่รู้ว่ามัน (โควิด 19) จะจบยังไง” ไมเคิล ออสเตอร์โฮล์ม (Michael Osterholm) นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยมินเนโซตากล่าว

          ที่จริงองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) นั้นนัดประชุมประเมินสถานการณ์วิกฤตกันทุกสามเดือนว่าจะประกาศยุติวิกฤตการระบาดใหญ่ของไวรัส SARS-CoV-2 หรือยัง

          แต่ทว่ายังไม่มีเสียงใดๆ ออกมาจากองค์การอนามัยโลกที่จะบอกถึงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ระบาดโควิด 19 ที่ยังคงวิกฤตอยู่

          ชัดเจนว่าทุกคนอยากให้มันจบ ! วันนี้พรุ่งนี้ได้ยิ่งดี หลายประเทศ ทั้งอังกฤษ เนเธอร์เเลนด์ และเดนมาร์ก ต่างก็ทนรอองค์การอนามัยโลกไม่ไหว ประกาศปิดวิกฤตโควิด 19 กลับมาเริ่มทยอยเปิดทุกอย่างตามปกติไปเรียบร้อยแล้ว

          “โควิดสร้างปัญหาความยากลำบาก ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจมามากเสียจนทุกคนอยากได้ยินคำว่า อวสานโควิดกันไวๆ” ซาลิม อับดุล คาริม (Salim Abdool Karim) นักระบาดวิทยา หัวหน้าทีมต่อกรโควิด 19 ของรัฐบาลแอฟริกาใต้กล่าว

          เเต่สำหรับคาริม “ตอนจบที่แท้จริงของการระบาดใหญ่ครั้งนี้จะยังมาไม่ถึง จนกว่า ‘สายพันธุ์กลายสุดท้าย’ ที่แม้กลายพันธุ์เพิ่มไปอีก จะไม่สามารถระบาดหนักไปกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าจะปรากฏขึ้น”

          คาริมคาดเดาไว้ว่าอย่างน้อยก็น่าจะอีกสองสามปี (ซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้)

          และถ้ามองให้ทั่ว วิกฤตนั้นเห็นได้ชัดเจนว่ายังไม่จบ สถานการณ์การติดเชื้อในฮ่องกงและนิวซีแลนด์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งแล้ว พุ่งอีก และการระบาดระลอกนี้จัดหนักเสียจนงอมพระรามไปตามๆ กันทั้งสองประเทศ

          สำหรับองค์การอนามัยโลก นี่คือสิ่งที่ยังต้องใคร่ครวญให้ดี เพราะในตอนนี้ยังมีคำถามว่า ถ้าการระบาดมันจำกัดอยู่แค่ในบางประเทศ ไม่กี่ประเทศ จะมองว่ายังเป็นวิกฤตการระบาดใหญ่ระดับโลกอยู่ได้หรือไม่

          แต่การประกาศจุดจบของการระบาดใหญ่ว่าสิ้นสุดโรควิกฤตแล้ว อาจจะกลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาบาดลึกแบบเจ็บลึก เสียหายกันแบบยาวๆ ได้ เพราะตราบใดก็ตามที่สถานการณ์ยังคงวิกฤต มาตรการในการบรรเทาทุกข์และควบคุมการระบาดจะยังคงอยู่ ดีลช่วยเหลือที่บริษัทฟาร์มาใหญ่น้อยทั้งหลายได้เซ็นยินยอมไว้จะยังมีผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรึงราคายา วัคซีน ชุดตรวจโรค รวมถึงการผ่อนปรนเรื่องสิทธิในการผลิต หรือแม้แต่การบริจาคเพื่อบรรเทาและควบคุมสถานการณ์ในประเทศรายได้ต่ำก็จะยังคงอยู่ต่อไปเช่นกัน 

          นอกจากนี้การประกาศยุติสถานการณ์ฉุกเฉินโรคระบาดจะหมายถึงจุดสิ้นสุดของโครงการจัดสรรวัคซีนระดับโลกอย่าง COVAX ด้วย

          ดังนั้นแม้ประเทศต่างๆ จะทยอยพิจารณาเรื่องการประกาศจบวิกฤตโควิด 19 ไปบ้างแล้ว แต่สำหรับองค์การอนามัยโลกนั้น การควบคุมโรคในภาพรวมในระดับโลกคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

          สำหรับมาตรการในแต่ละประเทศ จะยกเลิกเมื่อไร ประกาศว่าเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) หรือไม่ คงต้องขึ้นกับสถานการณ์รายวัน แต่คงต้องประเมินอย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องแนวโน้มการระบาด ความเสี่ยงติดเชื้อของประชาชน อัตราการติดเชื้อรายวัน และแบ็กอัปในด้านสาธารณสุข

          ที่สำคัญอย่าลืมว่าตราบใดที่โรคโควิด 19 ยังไม่หมดไปจากโลก โอกาสที่จะมีไวรัสสายพันธุ์กลายใหม่ๆ อุบัติขึ้นมาสร้างปัญหาใหม่ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ จงอย่าชะล่าใจ

          เพราะอวสานซีซันนี้ อาจมีต่อซีซันหน้า…

About Author