ปี พ.ศ. 2517 International Council of Nurses (ICN) ประกาศให้วันพยาบาลสากล ตรงกับวันที่ 12 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ผู้บุกเบิกปรัชญาการพยาบาลสมัยใหม่
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เกิดวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2363 ในครอบครัวชนชั้นไฮโซ ฐานะร่ำรวยของอังกฤษ แต่ไม่ชอบออกงานสังคม ไม่นิยมกิจกรรมและไลฟ์สไตล์แบบที่สาวไฮโซส่วนใหญ่ทำกัน สิ่งที่เธอชอบทำมาตั้งแต่เด็กคือการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ยากไร้ ส่วนอาชีพในฝันคือ “พยาบาล”
แน่นอนว่าพ่อแม่ของเธอไม่เห็นด้วย พยาบาลไม่ใช่อาชีพสำหรับคนในสังคมชั้นสูง ทั้งสองต้องการให้ลูกสาวแต่งงานกับผู้ชายจากครอบครัวดี ๆ มีชีวิตที่สุขสบาย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลต้องการ เธอปฏิเสธการแต่งงาน ขอทำตามความฝันของตัวเอง ซึ่งในที่สุดก็ได้เข้าเรียนพยาบาลที่ Lutheran Hospital of Pastor Fliedner in Kaiserwerth ในประเทศเยอรมนี เมื่อตอนอายุได้ 24 ปี
หลังจากเรียนจบ ไนติงเกลกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลในมิดเดิลเซ็กซ์ที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่อหิวาตกโรคกำลังระบาด เธอวางแผนเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดนี้โดยให้ความสำคัญต่อการจัดการด้านสุขลักษณะเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งก็ได้ผลดีมาก จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลลดลง
หลังจากที่สงครามไครเมีย (Crimean War) เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2396 มีทหารอังกฤษกว่าหมื่นคนได้รับบาดเจ็บและอยู่ในโรงพยาบาลทหาร ซึ่งขณะนั้นไม่มีพยาบาลผู้หญิงอยู่เลย ไนติงเกลได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือจากทางกองทัพ เธอกับพยาบาลรวม 34 คน จึงรีบออกเดินทางไปยังไครเมีย
ที่ไครเมีย สภาพในโรงพยาบาลย่ำแย่สุด ๆ พื้นสกปรก เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล หนูและแมลงวิ่งกันขวักไขว่ ไม่มีอะไรที่ถูกสุขลักษณะเลย น้ำสะอาดก็เริ่มขาดแคลน แถมยังมีการระบาดของไข้ไทฟอยด์และอหิวาตกโรคในหมู่ทหารบาดเจ็บเพิ่มเข้าไปอีก มีคนตายจากโรคร้ายมากขึ้นทุกวัน
ไนติงเกลเห็นแล้วก็ไม่รอช้า รวบรวมคน รวมทั้งผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก มาร่วมปฏิบัติการคลีนแอนด์เคลียร์ ทำความสะอาดพื้นที่โรงพยาบาลแบบทั่วทุกซอกทุกมุมทันที โรงพยาบาลมีสภาพดีขึ้น คนตายน้อยลง เธอทุ่มเททำงานอย่างมุ่งมั่น แม้ตอนกลางคืนก็ยังถือตะเกียงออกไปเดินสอดส่องและคอยดูแลผู้ป่วย พวกทหารในโรงพยาบาลเรียกเธอว่า “the Lady with the lamp”
นอกจากดูแลผู้ป่วยแล้ว ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังเซตระบบต่าง ๆ ในโรงพยาบาลที่ถูกสุขลักษณะและเอื้อต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรงอาหาร ห้องซักล้าง ห้องสมุด เธอยังเขียนหนังสือเรื่อง Notes on Matters Affecting the Health, Efficiency and Hospital Administration of the British Army
ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนการปรับปรุงโรงพยาบาลทหารในไครเมียไว้อย่างละเอียด หนังสือเล่มนี้เป็นต้นแบบ และจุดประกายให้เกิดการปฏิรูปการสาธารณสุขในโรงพยาบาลทหารของอังกฤษ
“Nightingale Rose Diagram” เป็นภาพอินโฟกราฟิกที่ไนติงเกลทำขึ้น เพื่อแสดงข้อมูลสถิติสาเหตุและอัตราการตายของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทหารในไครเมียแบบครบจบในแผ่นเดียว แบบเห็นปุ๊บเข้าใจเลยว่าสาเหตุการตายเกิดจากการจัดการด้านสาธารณสุขในโรงพยาบาลที่ไม่ดีพอ เมื่อมีการปรับปรุงให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น อัตราการตายของผู้ป่วยก็ลดลง ด้วยความสามารถอันโดดเด่นในด้านนี้ เธอจึงเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกของ Royal Statistical Society ของอังกฤษ และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ American Statistical Assosciation
ในปี พ.ศ. 2403 ไนติงเกลก่อตั้ง Nightinggale Training School for Nurses ที่โรงพยาบาล St. Thomas ในลอนดอน ด้วยความที่เธอมีชื่อเสียงโด่งดัง เรียกว่าเป็นไอดอลของผู้หญิงอังกฤษในยุคนั้นก็ว่าได้ การก่อตั้งโรงเรียนฝึกพยาบาลแห่งนี้จึงเป็นเหมือนการปลุกกระแสอาชีพพยาบาลให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังคงทำงานด้านการพยาบาลและการปฏิรูปสาธารณสุขจนบั้นปลายของชีวิต เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2453 ในวัย 90 ปี
อ้างอิง
https://www.history.com/topics/womens-history/florence-nightingale-1