เรื่องโดย อาทิตย์ ลมูลปลั่ง
A-MED Care Pharma ‘เชื่อมร้านยา ดูแล 16 อาการ’
แพลตฟอร์มดี ๆ ที่เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั่วไทย
ความแออัดในโรงพยาบาลและในหน่วยบริการสาธารณสุขเป็นปัญหาใหญ่ของการเข้ารับบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ประชาชนต้องเสียเวลานานรอคอยเพื่อพบแพทย์และรับยา ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ต่างเหนื่อยล้าจากภาระงานที่มีมากเกินกว่าจะรองรับได้ ทีมวิจัย A-MED สวทช. ได้พัฒนาระบบ A-MED Care Pharma แพลตฟอร์มหลังบ้านในการบริหารจัดการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง เพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม ในการแก้ไขปัญหาความแออัดของหน่วยบริการสาธารณสุข รวมทั้งช่วยประชาชนให้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั่วไทย
ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัล (Digital Healthcare Platform) สวทช. กล่าวว่า ระบบ A-MED Care พัฒนาโดย สวทช. เพื่อเป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านในการบริหารจัดการ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทองของร้านยาภายใต้การกำกับของสภาเภสัชฯ และ สปสช. ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านมาตรฐานหลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ของกระทรวงสาธารณสุข และผ่านเกณฑ์การเป็นร้านยาคุณภาพของสภาเภสัชกรรม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรในเรื่องการใช้ยาและการปฏิบัติตัวต่างๆอย่างมีมาตรฐานและเหมาะสม
“ในการพัฒนาเทคโนโลยี A-MED Care Pharma ทีมวิจัยพัฒนาระบบการวินิจฉัยโรค การจ่ายยาตามอาการนำของโรค ระบบติดตามอาการทางไกลผ่านระบบ Telehealth สำหรับเภสัชกร และระบบการเบิกจ่าย e-claim ไปยังกองทุน สปสช. เพื่อรองรับการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วมโครงการแล้ว 1,167 ร้านทั่วประเทศ มีประชาชนสิทธิบัตรทองที่เจ็บป่วยเล็กน้อยเข้ารับบริการแล้วมากกว่า 420,000 คน เป็นการรับบริการมากกว่า 820,000 ครั้ง โดยพบว่าผู้ป่วยที่มารับบริการที่ร้านยา 92 เปอร์เซ็นต์ หายป่วยและดีขึ้น มีการส่งต่อแพทย์ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ระหว่างการดูแล 6 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566) สำหรับก้าวต่อไป ทีมวิจัยตั้งเป้าพัฒนาระบบ A-MED Care Pharma ในบริการจ่ายยาเพื่อลดความแออัด หรือ ระบบ e-prescription รูปแบบที่เรียกว่า โมเดล 3 เพื่อให้ร้านยาได้ใช้งานระบบเดียว ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตั้งแต่ขั้นตอน การบันทึก การรายงาน และการส่งเบิกจ่ายเป็นระบบเดียวในร้านยา”
ภญ.เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพ สภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาเภสัชกรรมในทุกวาระได้พยายามขับเคลื่อนร้านยาเพื่อให้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยในปี พ.ศ. 2562 สปสช. ประกาศให้ “ร้านยาเป็นหน่วยร่วมบริการ” และเกิดโครงการลดความแออัดขึ้น โดยผู้ป่วยที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีอาการคงที่ให้สามารถไปรับยาที่ร้านยาเพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอคอยที่โรงพยาบาลและยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลอีกด้วย
“กระทั่งในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด 19 สภาเภสัชกรรมได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือวิกฤตของประเทศในขณะนั้น โดยให้ร้านยาเป็นจุดแจกชุด ATK และร่วมเป็นหน่วยติดตามดูแลผู้ติดเชื้อก่อโรคโควิด 19 ในการแยกตัวที่บ้าน (home isolation) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทีมงานเภสัชกรได้รู้จักและใช้งานในระบบ A-MED Care จากนั้นได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ใน โครงการเจอ แจก จบ หรือ โครงการ Self-isolation ที่ร้านยา (เป็นหน่วยร่วมบริการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรมของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ได้ให้บริการดูแลผู้ติดเชื้อก่อโรคโควิด 19 (กลุ่มสีเขียว) ที่บ้าน โดยใช้ระบบ A-MED Care ในการบันทึกอาการ จ่ายยา และติดตามอาการไปจนถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายค่าบริการ ซึ่งมีประชาชนเข้าใช้งานกว่า 6 หมื่นคน จาก 700 ร้านยาที่ร่วมโครงการ
“สภาเภสัชกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้ามาช่วยยกระดับบริการทางสาธารณสุขให้แก่ประชาชน ในปีงบประมาณ 2566 จึงมุ่งเป้าเพิ่มบริการเชิงรุกเปิดให้ผู้ป่วยบัตรทองเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ อาการปวดหัว, เวียนหัว, ปวดข้อ, เจ็บกล้ามเนื้อ, ไข้, ไอ, เจ็บคอ, ปวดท้อง, ท้องเสีย, ท้องผูก, ถ่ายปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะเจ็บ, ตกขาวผิดปกติ, อาการทางผิวหนัง/ผื่น/คัน, บาดแผล, ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู รับยากับเภสัชกรที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยระบบ A-MED Care Pharma ช่วยให้การให้บริการของเภสัชกรในโครงการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย มีความเสถียร และมีแอดมินคอยช่วยแก้ไขปัญหาต่างตลอดเวลา ผนวกกับการดูแลจ่ายยา ให้คำแนะนำ ติดตาม หรือส่งต่อพบแพทย์ เป็นโครงการที่ตรงตามความต้องการของประชาชน จะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยมารับบริการมีจำนวนถึง 4 แสนคน มารับบริการที่ร้าน 8 แสนกว่าครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย สปสช.เองก็ได้ตั้งเป้าหมายให้ร้านยาบริการต่อเนื่องไปในปีงบประมาณ 2567 และให้ขยายกลุ่มอาการเพิ่มขึ้นและมียาสมุนไพรเข้ามาใช้เป็นทางเลือกอีกด้วย
“ในโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการที่ร้านยานี้ เภสัชกรจะแนะนำการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น และหลังจากได้รับยาไปแล้ว 3 วัน จะมีการติดตามผลการใช้ยาว่าผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่อย่างไร สำหรับระบบการบันทึกการให้บริการ การจ่ายยา การติดตามอาการ และขั้นตอนการเบิกจ่ายค่าบริการจะดำเนินการผ่านระบบ A-MED Care Pharma ที่พัฒนาโดย สวทช. ซึ่งเภสัชกรในโครงการฯ ล้วนให้ความเห็นตรงกันว่าเป็นระบบที่ใช้งานง่าย มีความเสถียร และมีผู้ประสานงานแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เภสัชกรแทบจะตลอดเวลาการใช้งาน ทั้งนี้ประชาชนสิทธิบัตรทองสามารถใช้บริการโดยสังเกตสติกเกอร์ของร้านยาที่เขียนว่า ร้านยาคุณภาพของฉัน หรือตรวจสอบรายชื่อร้านยาในโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. หรือสายด่วน สปสช. 1330”
ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพ สภาเภสัชกรรม กล่าวด้วยว่า สำหรับก้าวต่อไปในปี พ.ศ. 2567 คือ การพัฒนาระบบ A-MED Care Pharma ในบริการจ่ายยาเพื่อลดความแออัด หรือ ระบบ e-prescription รูปแบบที่เรียกว่า โมเดล 3 เพื่อให้ร้านยาได้ใช้งานระบบเดียว ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทั้งระบบการบันทึก การรายงาน และการส่งเบิกจ่าย เป็นระบบเดียวในร้านยาซึ่งจะทำให้ร้านยาไม่ต้องใช้หลายระบบในการบันทึกการให้บริการ ซึ่งเป็นความท้าทายของวิชาชีพเภสัชกรในการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ (new normal) เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมบริการต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อการเชื่อมโยง ประมวลผล และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบ A-MED Care คือหนึ่งในบริการของแพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัล (Digital Healthcare Platform) ซึ่งเป็น Core Business ของ สวทช. มีพันธกิจหลักในการนำเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ที่ส่งผ่านข้อมูลเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ มาสนับสนุนหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับการดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิของประชาชนให้มีคุณภาพมาตรฐาน ผู้ป่วยสามารถรับยาใกล้บ้านได้สะดวก รวดเร็ว ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งแบ่งเบาภาระงานของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ นับเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลของประเทศไทย