ปัจจุบัน คนไทยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีเมือง พฤติกรรมการบริโภคอาหารก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน คุณภาพของอาหารลดน้อยลง และอาหารหลายชนิดที่ได้รับความนิยมในการบริโภคเป็นอาหารที่มีไขมันและแคลอรีสูง ส่งผลให้มีอุบัติการณ์อ้วนลงพุงสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ประชากรไทยมีภาวะอ้วนลงพุงอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้น ภาวะอ้วนลงพุงจึงจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศ เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก
ข้อมูลจากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า การบริโภคอาหารที่มีปริมาณไขมันและแคลอรีสูง ไม่เพียงทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง แต่ยังส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลต่อความจำและความสามารถในการเรียนรู้ และอาจนำไปสู่การเป็นโรคสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์
กลไกที่ทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ เริ่มต้นจากการสะสมของไขมันทั่วร่างกายโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ซึ่งทั่วไปมักเรียกกันว่า “อ้วนลงพุง” ไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้องจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ ปริมาณไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น และมีการสะสมของไขมันในอวัยวะต่างๆ มากขึ้น ส่งผลกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเครียดออกซิเดชัน (Oxidation stress) ทั่วร่างกาย ทำให้เซลล์ต่างๆ อาทิ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ และเซลล์สมอง เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin resistance) ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ใช้ควบคุมระดับไขมันและน้ำตาล ผู้ป่วยที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินในระยะเริ่มต้นจะไม่ปรากฏอาการแต่อย่างใด แต่ภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินจะส่งผลให้ ผู้ป่วยที่อ้วนลงพุงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อม มากขึ้นกว่าคนปกติ
นอกจากภาวะดื้อต่ออินซูลินที่กล่าวถึงในข้างต้นแล้ว การบริโภคอาหารที่มีปริมาณไขมันสูง ยังส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด (Dyslipidemia) โดยจะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณไขมันชนิดไม่ดี เช่น ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) คอเลสเทอรอล (Cholesterol) และ LDL (ไขมันไม่ดี) ในขณะที่ HDL (ไขมันดี) ในเลือดจะลดลง ซึ่งภาวะผิดปกติของระดับไขมันในเลือดสามารถกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบ ร่วมกับกระบวนการเครียดออกซิเดชันทั่วร่างกาย ผลเสียดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงไปยังไมโทคอนเดรีย (Mitochondrion) ซึ่งเป็นแหล่งสร้างพลังงานสำคัญให้กับเซลล์ต่างๆ รวมทั้งหัวใจและสมอง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญทั้งสองส่วนนี้
จากความสำคัญดังกล่าวข้างต้น ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยแกนนำ สวทช. และคณะวิจัย จึงทำวิจัยภายใต้หัวข้อ “การศึกษาตั้งแต่ระดับเซลล์จนถึงระดับผู้ป่วย เพื่อค้นหาวิธีการรักษาและตัวบ่งชี้แบบใหม่ ในผู้ป่วยที่มีภาวะ “อ้วนลงพุง” เพื่อป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นต่อหัวใจและสมอง” โดยทำการศึกษาทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยทางคลินิก
โครงการวิจัยแรก คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาถึง “ผลของการจำกัดแคลอรีต่อการทำงานของหัวใจและสมองของหนูที่มีภาวะโรคอ้วนร่วมกับภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน” จากการศึกษาคณะผู้วิจัยพบว่า การจำกัดแคลอรีของอาหารที่บริโภค เกิดผลดีต่อการทำงานของหัวใจและสมอง อย่างไรก็ตามผลดีดังกล่าวยังน้อยกว่าการให้ยาเบาหวานในกลุ่ม Dipeptidyl peptidase-4 (DPP-4)
นอกจากนี้ในโครงการวิจัยต่อมา คณะวิจัยยังได้ศึกษาถึง “ผลของฮอร์โมน Fibroblast growth factor 21 (FGF21) ต่อการทำงานของหัวใจและสมองในหนูที่มีภาวะโรคอ้วนร่วมกับภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน” ข้อมูลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าหนูที่มีภาวะโรคอ้วนร่วมกับภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน มีระดับ FGF21 สูงขึ้น แต่การให้ FGF21 เข้าไปเพิ่ม จะส่งผลต่อการเพิ่มความสามารถในการทำงานของไมโทคอนเดรียของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและสมอง ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและสมองทำงานได้ดีขึ้น
สำหรับผลของการศึกษาในระดับคลินิก คณะวิจัยได้ “ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนลงพุง เพื่อศึกษาบทบาทของ FGF21 ต่อการทำงานของสมอง” ผลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยทางด้านเมแทบอลิก (Metabolic) มีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้และความจำ และผลจากการให้กลุ่มเป้าหมายทำแบบทดสอบ Montreal Cognitive Assessment scale (MoCa) พบว่า ยิ่งมีภาวะอ้วนลงพุงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความบกพร่องในการเรียนรู้และความจำมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
โดยทางทีมวิจัยยังค้นพบอีกว่า ค่าดัชนีมวลกาย รอบเอว ระดับ HbA1c (ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดตลอดระยะเวลา 2-3 เดือน) และระดับ FGF21 มีความสัมพันธ์โดยตรงและสูงที่สุด ต่อการมีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้และความจำ ในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 65 ปี ที่มีภาวะอ้วนลงพุง และยังชี้ให้เห็นว่าควรศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องความสำคัญของ FGF21 กับการทำงานของสมอง โดยเฉพาะส่วนการเรียนรู้และความจำ
ทั้งนี้ทีมวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับ FGF21 และค่าทาง Metabolic ในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนลงพุงว่า ระดับ FGF21 ในเลือดของผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนลงพุง อาจนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้เพื่อพยากรณ์ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยคณะผู้วิจัยได้จดสิทธิบัตรองค์ความรู้เรื่องความสัมพันธ์และตัวบ่งชี้ดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม การค้นพบในส่วนนี้จำเป็นที่จะต้องทำการวิจัยและศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มประชากรที่มีขนาดใหญ่ต่อไป
อีกทั้งคณะวิจัยยังได้แสดงให้เห็นว่า การกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสของสมองที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจและสมองของหนูที่มีภาวะอ้วนร่วมกับภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน จะส่งผลให้ไมโทคอนเดรียของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์สมองทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งสามารถนำเอาองค์ความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ต่อได้
ทั้งหมดข้างต้นคือส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ ซึ่งก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถนำเอาองค์ความรู้นี้ไปใช้ในการปรับปรุงการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนลงพุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขาจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 85 เดือนเมษายน 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/178959