วิศวะมหิดล ถ่ายทอดประสบการณ์ “การบริหารพัฒนาหลักสูตรเพื่อการรับรองจาก ABET” แก่ 15 สถาบันการศึกษา ในภาคเหนือ

          ในโอกาสที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การยกระดับคุณภาพหลักสูตรเพื่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตสู่การรับรองจาก ABET” สำหรับกลุ่มมหาวิทยาลัยในภาคเหนือเมื่อเร็วๆนี้   รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งได้รับการรับรองหลักสูตรมาตรฐานโลกจาก ABET แห่งสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ เรื่อง“การบริหารและพัฒนาหลักสูตรเพื่อก้าวสู่การรับรองจาก ABET” แก่ 15 สถาบันการศึกษาในภาคเหนือ ณ โรงแรมยูนิมมาน จ.เชียงใหม่

          รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากความสำเร็จของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการรับรองคุณภาพหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มาตรฐานโลกจาก Accreditation Board for Engineering and Technology หรือ ABET แห่งสหรัฐอเมริกา พร้อมกันถึง 6 หลักสูตร ป.ตรี ซึ่งนับว่ามากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ 1. หลักสูตรชีวการแพทย์ (นานาชาติ) 2. หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 3. หลักสูตรวิศวกรรมเคมี 4. หลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล 5. หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้า 6. หลักสูตรวิศวกรรมโยธา และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมยื่นขอรับรองเพิ่มอีก 1 หลักสูตรคือ “หลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ” อีกด้วย

          คณะวิศวะมหิดล มีความยินดีอย่างยิ่งในการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ในการปรับพัฒนาการศึกษาสู่ระดับสากล ซึ่งในปี 2566 มีหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 32 หลักสูตร จาก 15 สถาบันการศึกษาในภาคเหนือที่เข้าร่วมงานอบรมครั้งนี้และเตรียมขอการรับรองตามมาตรฐาน ABET สหรัฐอเมริกา (Accreditation Board for Engineering and Technology) เพื่อร่วมกันนำพามหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศไทย ให้ก้าวไปข้างหน้าในระดับสากลด้วยกัน ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในหลักการและกระบวนการของการประกันคุณภาพการศึกษา และวางแผนบริหารหลักสูตร พัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยอย่างเป็นระบบตามกฏเกณฑ์ของคณะกรรมการ ABET เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียน สถาบันการศึกษา และประเทศชาติ

 

          ภายในงานยังมีการแบ่งปันองค์ความรู้ในการยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษาในหลายมิติอย่างครบถ้วน จากผู้เชียวชาญและสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) เช่น การประกันคุณภาพการศึกษาและการรับรองจาก ABET การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (Student Outcome Assessment) การปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง  การเตรียมความพร้อมสู่การประเมินจาก ABET รวมทั้งการประเมินระดับกระบวนวิชา (Course Assessment)

About Author