เปิดตัว “หลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ” เตรียมใช้สอนในโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ

          องค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอกรอบแนวคิด Active Aging หรือ “พฤฒพลัง” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยทั่วโลกให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และสามารถพึ่งพาตนเองได้

          ซึ่งประเทศไทยได้นำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศขึ้นเพื่อการเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ จนปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ

          รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าทีมวิจัยโครงการสูงอายุรู้ทันสื่อ: สร้างหลักสูตรและขยายเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะ ซึ่งเป็นโครงการที่ทำงานต่อยอดจากงานวิจัยเรื่องสูงวัยไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสี่ยง ผู้แนะคาถา “หยุด คิด ถาม ทำ” ให้ผู้สูงวัยใช้เป็นเครื่องมือกำกับตนเองในการเปิดรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการฯ ว่าในวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2563 เวลา 13.00 น.ทางโครงการฯ จะจัดงานแถลงข่าวขึ้นที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อเปิดตัว “หลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ” ที่ทางสถาบันฯ จัดทำร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ซึ่งจะมีทั้งในรูปแบบของหนังสือคู่มือ และ E-book สำหรับใช้ในโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นหลักสูตรแรกที่ผ่านกระบวนการเชิงวิชาการที่มีการทดลองและปฏิบัติกับนักเรียนผู้สูงอายุ และกลุ่มนักสื่อสารสุขภาวะวัยเพชรที่จะเป็นผู้ใช้หลักสูตรฯ ในฐานะผู้สอน ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มแกนนำผู้สูงอายุจาก 5 พื้นที่นำร่องที่มาจากทุกภูมิภาคของประเทศ

          หลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ ได้รับการออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Activity-based) ไม่เน้นการบรรยาย การอ่าน หรือการเขียน เนื่องด้วยผู้สูงอายุมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน โดยจัดทำเป็นหนังสือคู่มือที่อ่านง่าย ประกอบด้วยอุปกรณ์สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ อาทิ คลิปเบื้องหลังการทำโฆษณา แผ่นป้าย ลูกประคำประกอบคาถา “หยุด คิด ถาม ทำ” สำหรับใช้ในการเรียนแต่ละบทอย่างครบครันอยู่ใน Box Set ที่ผู้สอนสามารถนำไปใช้ได้ทันที นอกจากนี้ ยังมีแบบบันทึกพี่เลี้ยงในแต่ละกิจกรรมให้กับผู้สอน รวมทั้งแบบทดสอบก่อน-หลังเรียนอีกด้วย

          โดยในการแถลงข่าววันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2563 ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงปาฐกถา เรื่อง “พลังผู้สูงอายุ สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย” ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการก่อสร้างศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะเป็นศูนย์แรกของประเทศไทยที่เป็นต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร รวมทั้งให้ผู้สูงอายุได้มีพฤฒพลัง ด้วยสุขภาวะที่ดี และดูแลตัวเองได้ ตลอดจนสามารถรองรับการเรียนการสอนและการวิจัยด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุได้อย่างเต็มรูปแบบ

          “การทำให้ผู้สูงอายุได้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และที่สำคัญช่วยสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้สูงอายุด้วยกัน ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีพลังและเป้าหมายในการใช้ชีวิต ซึ่งจะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า และทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต” รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ กล่าวทิ้งท้าย

          ติดตามรายละเอียดได้ที่ FB: RILCA, Mahidol University


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author