เรื่องโดย วีณา ยศวังใจ
งานวิจัยล่าสุด นักวิทยาศาสตร์พบว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ฟิตเนส (Aerobic fitness) เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำหรือปั่นจักรยาน ในช่วงวัยหนุ่มสาว จะส่งผลดีต่อสมองและการจำของคนเราได้เมื่อย่างเข้าสู่วัยกลางคน (43-55 ปี)
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยถึงผลของการออกกำลังกายแบบ แอโรบิก ฟิตเนส โดยการวิ่งอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี พบว่านอกจากจะช่วยส่งผลต่อการเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกายและหัวใจแล้ว ก็ยังส่งผลดีต่อสมองและการจดจำเมื่อเราอายุมากขึ้นด้วย
แอโรบิก ฟิตเนส หรือ คาดิโอ ฟิตเนส (cardio fitness) คือความฟิตของร่างกายที่จะบ่งบอกว่า ร่างกายของเราจะส่งผ่านออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อได้ดีแค่ไหนในขณะที่ออกกำลังกาย
โครงการวิจัยนี้มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,747 คน ซึ่งแต่ละคนเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ปี ทีมวิจัยให้อาสาสมัครทุกคนออกกำลังกายด้วยการวิ่งบนลู่วิ่งเป็นประจำในช่วง 1 ปีแรกของการศึกษาวิจัย โดยอาสาสมัครแต่ละคนจะเดินหรือวิ่งบนลู่วิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกเหนื่อยหอบหรือเริ่มหายใจลำบากจึงหยุดวิ่ง
20 ปีถัดมา นักวิจัยได้ทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายของอาสาสมัครทุกคนอีกครั้งด้วยการให้ออกกำลังกายแบบเดียวกับที่ทำในปีแรก และทดสอบวัดประสิทธิภาพด้านการจดจำของสมองในอีก 25 ปี ถัดมานับจากการทดสอบในปีแรกเช่นกัน
ผลการทดสอบการออกกำลังกายพบว่า ในปีแรกผู้เข้ารับการทดสอบสามารถวิ่งบนลู่วิ่งได้นานเฉลี่ยประมาณ 10 นาที แต่ใน 20 ปีต่อมา ผลที่ได้มีค่าเฉลี่ยลดลง 2.9 นาที ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพการจดจำของสมองพบว่า ผู้ที่มีสถิติการวิ่งบนลู่วิ่งเป็นเวลานานกว่า หรือความสามารถในการวิ่งครั้งหลังลดลงจากครั้งแรกในสัดส่วนที่น้อยกว่าจะแสดงผลการทดสอบด้านประสิทธิภาพความจำและกระบวนการคิดได้ดีกว่าผู้ที่มีอัตราการวิ่งลดลงมากกว่า ทั้งนี้ได้ปรับค่าปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น การสูบบุหรี่,โรคเบาหวาน และภาวะคอเลสเตอรอลสูง
นักวิจัยพบว่า ความสามารถในการวิ่งบนลู่วิ่งทุกๆ นาทีที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้เข้ารับการทดสอบสามารถจดจำคำศัพท์ได้ถูกต้องเพิ่มขึ้น 0.12 คำ จากจำนวนคำศัพท์ 15 คำ และสามารถจัดวางสัญลักษณ์ที่ไม่มีความหมายไว้ในตำแหน่งเดิมได้อย่างถูกต้องเพิ่มขึ้น 0.92 ตำแหน่ง
ดร.เดวิด อาร์ เจค็อบส์ หนึ่งในผู้วิจัยเรื่องนี้ได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญอย่างมาก มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาในผู้สูงวัยแสดงให้เห็นว่า วิธีการทดสอบในลักษณะนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือทดสอบที่มีความน่าเชื่อถือสูงในการทำนายโอกาสว่าคนไข้จะมีแนวโน้มเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมในอนาคตมากน้อยแค่ไหน และงานวิจัยชิ้นหนึ่งก็แสดงผลว่า ความสามารถในการจดจำคำศัพท์ได้เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 คำ มีส่วนสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการพัฒนาไปสู่ภาวะสมองเสื่อม โดยมีความเสี่ยงลดลง 18% ในช่วง 10 ปีให้หลัง ซึ่งการค้นพบเหล่านี้ช่วยให้แพทย์วินิจฉัย ป้องกันหรือรักษาบุคคลที่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคตได้