เรื่องโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์
ความรักเป็นปริศนาใหญ่ในชีวิตคนเรา เพราะทุกคนจะมีร่างกายที่เอื้อให้เกิดความรักใคร่ตามธรรมชาติ แต่คนส่วนใหญ่หรืออาจจะแทบทั้งหมดก็ยังไม่เข้าใจเรื่องความรักดีนัก แม้ว่าจะมีวันแห่งความรักโดยเฉพาะก็ตาม
แต่นักวิทยาศาสตร์ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความรักไว้ไม่น้อย ดังจะได้ยกตัวอย่างในบทความนี้ แต่เพื่อความสะดวกและไม่รกรุงรังจนเกินไป จะไม่ได้ให้เอกสารอ้างอิงแบบวิชาการไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์นะครับ อาจจะบอกไว้แค่คร่าวๆ และจะใช้วิธีตอบคำถามที่น่าสนใจไปทีละคำถาม
รักแรกพบมีจริงไหม ?
ชายหญิงเกิดรักแรกพบหรือ Love at first sight อย่างฝรั่งว่าจริงไหม ?
มีเปเปอร์ลงใน The Journal of Sexual Medicine (2010) ระบุว่า เวลาที่ใช้ “ปิ๊ง” กันสั้นแค่ 0.2 วินาทีแค่นั้นเอง
ฟังดูเหมือนเกิดมาเพื่อคู่กันสุดๆ !
นักวิจัยวัดโดยใช้วิธี speed date โดยให้อาสาสมัครครึ่งหนึ่งไป “เดตกับภาพ” คือ ให้ดูภาพแล้วให้คะแนนคู่เดต พร้อมๆ ไปกับการตรวจด้วยสมองด้วยเครื่อง fMRI
แทบจะในทันทีที่เห็นภาพคนที่ถูกใจ สมอง 12 ตำแหน่ง ก็ทำงานเห็นเป็นแสงสว่างวาบ มี “ค็อกเทล” ของฮอร์โมนทะลักทลายออกมา ทั้งโดพามีน, ออกซีโตซิน, วาโซเพรสซิน และแม้แต่อะดรีนาลิน
ที่น่าสนใจคือ สมองส่วนที่ทำงานหนักในตอนติดยาก็สว่างขึ้นด้วย !
ไม่น่าแปลกใจที่เรา “เสพติดความรัก” กัน
หลังจากนั้นก็จัดให้มาเดตกันจริงๆ ต่อหน้า ผลก็คือ 63 เปอร์เซ็นต์เลือกคนที่เคยเลือกไว้ด้วยการดูรูป และมีราว 10-20 เปอร์เซ็นต์ที่ยังคบหากันต่อหลังการทดลองในวันนั้น
เรื่องรักแรกพบนั้นเป็นเรื่องหนึ่งนะครับ อาจจะไม่สัมพันธ์กับความรักที่ยืนยาวสักเท่าไหร่
พวกที่รักแรกพบกันนั้นอาจคบกันสั้นๆ แค่ 3-4 เดือน หรือยืดยาวถึง 3-4 ปีก็ได้ แค่การถูกใจรูปร่างหน้าตาท่าทางในตอนแรกพบยังไม่เพียงพอ มีปัจจัยทางสังคมและทางชีวภาพมากมายที่มีส่วนร่วม
ปัจจัยทางสังคมก็เช่น พื้นฐานทางการศึกษา ความเชื่อและศาสนา สถานะทางสังคม และฐานะทางเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยทางชีวภาพก็เช่นหลายๆ คู่ลงตัวกันด้วย “เคมี” ที่เข้าคู่กัน (อันนี้สำนวนฝรั่งเลยครับ) กล่าวคือ มีกลิ่นกายที่อีกฝ่ายดมแล้วรู้สึกหอมรัญจวนใจ ซึ่งน่าทึ่งมากว่าเมื่อวิจัยต่อไปก็พบว่าคู่ที่ดมกลิ่นกายฝ่ายตรงข้ามว่าหอมนั้นมักมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่างกัน ทำให้การจับคู่จะได้ลูกที่มีระบบภูมิคุ้มกันแบบผสมผสาน
พูดง่ายๆ คือ ลูกที่เกิดมาจะแข็งแรงมากๆ
สรุปว่า รักแรกพบอาจมีจริง แต่ไม่เกี่ยวกับว่าจะกลายเป็นคู่ตุนาหงันได้ในอนาคตหรือไม่ !
แฟนกันหน้าตาคล้ายกันจริงไหม?
มีข้อสังเกตเรื่องหนึ่งคือคนปกติทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเลือกคู่ที่เป็นคนมีลักษณะรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับคนรอบๆ ตัวที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มากกว่าเลือกคนที่หน้าตาแปลกแตกต่างออกไป จนเกิดเป็นความเชื่อแบบหนึ่งของคนไทยที่ว่า คนเป็นแฟนกันมักจะมีหน้าตาคล้ายๆ กัน หรือต่อให้ไม่คล้ายกันมากเท่าไหร่ หากอยู่ด้วยกันไปนานๆ ก็ย่อมจะคล้ายกันมากขึ้นไปเอง
แน่นอนว่าเขียนแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแบบนี้กันทุกคน แต่หมายถึงส่วนใหญ่หรือแทบจะทั้งหมด และอาจมีข้อยกเว้นบ้างเล็กๆ น้อยๆ
แต่เป็นเช่นนั้นจริงเสมอไปหรือไม่ ?
คำอธิบายเบื้องหลังสำหรับเรื่องการเลือกคนที่หน้าตาคล้ายกันคือ สำหรับผู้ชายทั่วไป ใบหน้าผู้หญิงที่คุ้นเคยที่สุดย่อมหนีไม่พ้นใบหน้าของแม่ตนเอง ขณะที่ฝ่ายผู้หญิงก็จะคุ้นหน้าของพ่อตัวเองที่เจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
มีกรณียกเว้นอยู่บ้าง เช่น พ่อแม่แยกทางกันหรือทำงานห่างไกลกัน เรื่องก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่เอาว่ากรณีทั่วไปเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ หากผู้ชายจะมีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะชอบหญิงสาวที่มีโครงหน้าหรือแม้แต่กิริยาท่าทางคล้ายคลึงกับแม่ของตัวเอง
นอกจากนี้ คนสมัยก่อนยังมักแต่งงานกันหมู่เครือญาติ จึงทำให้มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกันมากยิ่งขึ้นไปอีก !
เรื่องนิสัยใจคอก็อีหรอบเดียวกัน หลายคู่เลยที่มีลักษณะ best match คือ ชอบอะไรคล้ายๆ กัน เพราะการชอบอะไรคล้ายกัน มันทำให้ “คลิก” กันได้ง่ายขึ้น เป็นอย่างที่ฝรั่งเค้าว่า “เคมีเข้ากัน” นั่นแหละครับ
แต่…แต่ตัวโตๆ ว่า…ไม่ใช่ทุกคู่จะเป็นเช่นนี้
ทุกคนคงเคยมีประสบการณ์พบเจอคู่รักที่ไม่น่าเป็นคู่กันได้เลย เพราะชอบกันคนละอย่าง ทั้งข้าวของและกิจกรรมความชอบต่างๆ แต่ก็รักกันมากๆ เรียกว่า เหมือน “จิ๊กซอว์” ที่ต่อกันลงตัวมากๆ ทีเดียว
สรุปว่าหญิงชายที่เป็นคู่กันอาจมีหน้าตาคล้ายกัน…ไม่แปลก แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎอะไรเสียทีเดียวนัก
แฟนชอบเหล่สาวอื่น ต้องกังวลว่าจะนอกใจไหม?
เรื่องหนึ่งที่สาวๆ ไม่เคยเข้าใจ และอาจจะไม่อยากเข้าใจด้วยก็คือ ทำไมเราก็ซ้วยสวย ดี๊ดี แต่แม้กระทั่งเดินด้วยกันข้างเรา แฟน (หรือสามี) ตัวดีของเรายังหันวอกแวกไปมองสาวอื่นอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะถ้าสาวนั้นสวยมากหรือใส่ชุดนุ่งน้อยห่มน้อย
ทำไมผู้ชายควบคุมตัวเองไม่ได้เลยเชียวหรือ ? แล้วจะไว้ใจได้อย่างไรว่าหากไม่อยู่ใกล้ๆ กัน จะไม่ถือโอกาสไปหาเศษหาเลยหรือยังไง ?
เรื่องชวนสงสัยแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลกนะครับ ไม่ได้เป็นกับเฉพาะหนุ่มไทย
ฝรั่งขี้สงสัยเลยทำวิจัยว่ามีความเกี่ยวข้องอะไรบ้างหรือไม่ ระหว่างนิสัยสายตาซุกซนกับการนอกใจแฟนสาวของตัวเองไปมีกิจกรรมเกินเลย ?
ผลจากการวิจัยที่ทำใน Prager University สหรัฐอเมริกาสรุปว่า ไม่ว่าแฟน คู่ควง หรือสามีของคุณสาวๆ จะซื่อสัตย์กับคุณแค่ไหนก็ตาม อาการหลุกหลิกแอบมองสาวอื่นนี่เป็นเรื่องธรรมชาติที่ห้ามแทบไม่ได้เลยทีเดียวแหละ เพราะมันเป็นสันดาน เอ้ย นิสัยดั้งเดิมแท้ๆ ที่ฝังเอาไว้ในยีน (gene)
แปลไทยเป็นไทยคือ ไม่ว่าหนุ่มนั้นจะยังโสดหรือมีคู่แล้วก็ตาม การมองสาวอื่นรอบๆ ตัวเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ สำหรับหนุ่มทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่า ทำให้สาวๆ ไม่ชอบใจสักเท่าไหร่
แหม่ ก็นั่นแหละนะ มีเราอยู่ใกล้ๆ แท้ๆ ยังจะไปมองคนอื่น – ใช้ไม่ได้ !
สาวบางนางอาจถึงกับคิดเลยเถิดไปว่า หรือเราจะไม่สวยพอ หุ่นไม่ดีพอ หรือสเปกเราไม่ได้มาตรฐาน
บางคนถึงกับลำบากลำบนไปลดน้ำหนักอย่างหนัก หวังว่าหุ่นใหม่ที่สะโอดสะองสุดสเลนเดอร์ เอ้อเฮอเฮะ จะช่วยดึงสายตาพ่อหนุ่มแฟนของตัวเองกลับมาได้
ผลมักจะเป็นตรงกันข้ามครับ ! คือหนุ่มอื่นจะหันมามองมากขึ้น ขณะที่แฟนตัวเองอาจจะปิ๊งปั๊งในช่วงแรก แล้วกลับไปทำเหมือนเดิม อย่างที่เธอไม่ชอบนั่นแหละ
อ้อ ที่สำคัญที่อยากจะบอกสาวๆ ไว้ก็คือ หนุ่มๆ เวลาเห็นนางแบบรูปร่างเพรียวก็เห็นว่าสวยดีอยู่หรอกนะครับ แต่เอาเข้าจริงแล้วหุ่นที่ทำให้หนุ่มๆ “ปึ๋งปั๋ง” เหมือนๆ กันทั่วทั้งโลกคือ หุ่นรูปนาฬิกาทรายครับ คือมีหน้าอกและสะโพกใหญ่โตโอฬาร ขณะที่เอวคอดกิ่ว
ถ้านึกไม่ออก ก็ค้นกูเกิลหารูปมาริลีน มอนโร มาดูได้
สรุปว่าสาวๆ อย่าคิดมากเลยครับ หนุ่มๆ เค้าก็มองไปตามสัญชาตญาณ และการวอกแวกแบบนี้ไม่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์ในชีวิตคู่หรือเปล่า…แม้แต่น้อย !
*บทความนี้ดัดแปลงจากบทความในชุด “ความลับของความรัก” ของผู้เขียนที่ลงในเว็บ Blockdit สามารถติดตามอ่านบทความชุดนี้เพิ่มเติมได้ที่ https://www.blockdit.com/series/61f35694f599c32538ca4b47