แม้ “ความหวาน” ถือเป็นความต้องการแรกๆ ของชีวิตมนุษย์ นับตั้งแต่แรกเกิด ที่พบว่าต่อมรับรสหวานพัฒนาได้เร็วและดีกว่ารสอื่น และทำให้สมองหลั่ง “สารเอนโดรฟิน” แห่งความสุข แต่ “ชีวิตที่ติดหวาน” สุดท้ายมักไม่ได้ลงเอยด้วยความสุขเสมอไป ทว่ามักปิดท้ายด้วยความเจ็บป่วย และสูญเสีย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์จุมพล วิลาศรัศมี อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล่าถึงประสบการณ์ให้การรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานว่า ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาแผลหายช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณเท้า จนบางรายเกิดอาการลุกลามจนถึงกับต้อง “ตัดเท้า” กลายเป็น “ผู้พิการ”
ซึ่งการป้องกันสามารถทำได้โดยหมั่นพบแพทย์ เพื่อการวางแผนรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เดิมวินิจฉัยโดยการใช้อุปกรณ์ปลายแหลมที่คล้ายเอ็นตกปลากดสัมผัสไล่ตามจุดรับแรงกดบริเวณเท้า เพื่อตรวจสอบความรู้สึกของผู้ป่วย ซึ่งอาจจะมีความคลาดเลื่อนได้สูง ปัจจุบันจึงได้มีการใช้ “ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์” มาเป็นเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยและประเมินผล
โดยเป็นผลงานที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมกับทีมงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งให้ผลการทดสอบเป็นที่ยอมรับ จากการได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงอย่างกว้างขวางในวารสารวิชาการ Asian Journal Surgery
และคว้า “รางวัลชนะเลิศ” First Prize Abstract and Presentation: A Novel Robotic Monofilament Test for Diabetic Neuropathy จากการประชุมโรคหลอดเลือดนานาชาติ 39th Annual VEITHsymposium ณ โรงแรมฮิลตันนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ.2555
แรกทีเดียวทีมวิจัยได้ออกแบบให้เป็นหุ่นยนต์ติดแขนกล ทำหน้าที่คล้ายมือแพทย์ในการวินิจฉัย แม้จะเป็นแบบ “ใช้สาย” แต่ก็ได้มีการทดสอบความปลอดภัย และประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความสะดวก สำหรับวินิจฉัยภาวะเส้นประสาทเสื่อมที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
แต่ต่อมาได้พัฒนาเป็นแบบ “ไร้สาย” โดยผู้ป่วยเพียงวางเท้าตรงจุดที่กำหนด หุ่นยนต์จะทำงานตรวจเช็คจุดที่ต้องการตรวจวัดความรู้สึกของผู้เข้ารับการวินิจฉัยให้โดยอัตโนมัติ
แม้เทคโนโลยีทางการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าเพียงใด แต่หากขาดความเอาใจใส่ดูแลสุขภาวะ และการใช้ชีวิตที่เหมาะสม อาจสายเกินไปเมื่อรู้ตัวว่าร่างกายกำลังป่วยเกินเยียวยา
“เบาหวาน” อาจเป็นโอกาสให้กับผู้ที่อยู่ใน “ภาวะเสี่ยง” ได้หันมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงเมื่อสาย เพียงหันมา “ลดหวาน” กันอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210