ควรมีหรือไม่ เอไอในห้องเรียน !?

เรื่องโดย ป๋วย อุ่นใจ


อาจารย์คะทำยังไงไม่ให้เด็กใช้เอไอดีคะ เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ใช้แต่เอไอ ให้การบ้านไป ตอบได้หมด แต่พอถามจริง ๆ น้องไม่รู้เรื่องเลย ?

คุณครูมัธยมท่านหนึ่งขอความเห็นในงานประชุมวิชาการแห่งหนึ่งแถวปทุมธานี

มันไม่ยาก แค่ให้เขียนส่ง ต่อให้ใช้เอไอยังไงก็ต้องคิด แต่คำถามคือเราจะเลี่ยงไม่ให้เขาใช้เอไอจริงเหรอครับ ?” ผมตอบไปพร้อมตั้งกระทู้ถามกลับ

ปัญหาคือน้องก๊อบปี้คำตอบมาวางแล้วกดส่งเลยค่ะอาจารย์ หนูก็ไม่รู้จะทำยังไงดี น่าจะไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ” คุณครูตอบสีหน้ากังวล

คำถามคือเราจะห้ามหรือเราจะให้นักเรียน นักศึกษาได้ใช้เอไอในการเรียนการสอนดี ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ทุกอย่างข้อมูลเต็มล้น และเอไอก็ยังมีหลอน ประเด็นนี้เป็นประเด็นถกเถียงที่น่าสนใจในแวดวงการศึกษาที่ยังหาข้อยุติลำบาก แล้วเราจะต่อต้านกระแสแห่งเอไอได้จริงหรือ

ผมว่าคำตอบมันอยู่ในใจของทุกคนชัด แน่นอนว่าเอไออาจจะไม่ใช่อะไรที่เพอร์เฟ็กต์ในเวลานี้ แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ใช่แค่เทคโนโลยีลมเพลมพัดที่มาเพียงแวบเดียวแล้วก็ไป จากแนวโน้มกระแสโลก เอไอมาเพื่ออยู่ และคนที่รู้จักมันดีพอก็จะอยู่กับมันได้อย่างแฮปปี้ และท้ายที่สุดมันจะเหลืออยู่แค่คนที่ใช้เอไอ คนที่ไม่ใช้เอไอ และคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลงและไม่รู้ว่าจะเริ่มใช้เอไออย่างไร อย่าลืมว่าเอไอเป็นแค่เครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ถ้ามันทำให้ชีวิตเราแย่ลง แสดงว่าเราอาจจะยังใช้มันไม่เป็น และอาจจะยังไม่รู้ว่าจะเอามันมาใช้ทำอะไรได้บ้าง

ในมุมของผมจากที่ลองใช้มา เอไอก็ไม่ต่างกับเลขานุการจบใหม่ ยินดีทำให้เราได้ทุกอย่าง แค่ไม่ตรงใจเราเลยสักอย่าง ซึ่งนั่นก็มองได้สองมุม มุมหนึ่งคือเอไอไม่ฉลาด ถึงได้ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ หรืออีกมุมหนึ่งก็คืออาจเป็นที่เราที่ไม่สามารถออกคำสั่งให้ชัดให้เคลียร์ให้เอไอเข้าใจได้ ถ้าเราเปิดใจ บางทีเอไอก็อาจจะรออยู่ไม่ไกล…แค่นิ้วสัมผัส ว่าแต่เอไอสามารถเอามาใช้อะไรบ้างในแวดวงการศึกษา สำหรับเด็กอาจจะเป็นการช่วยทำการบ้าน แต่สำหรับอาจารย์ เอไอทำอะไรมากมายมหาศาล สำคัญคือต้องรู้ว่าจะใช้น้องอย่างไร

และนี่คือตัวอย่างของการใช้เอไอในการเรียนการสอน ข้อแรกเลย คือ เตรียมเนื้อหาแบบกระชับ ฉับไว ได้ใจนักศึกษา แน่นอนที่สุดสิ่งที่เอไอถนัดมากก็คือการจัดการกับข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลบทเรียนต่าง ๆ แบบที่จารึกฝังอยู่ในตำราเรียน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชัดเจน มั่นคง แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงน้อย ข้อมูลพวกนี้เอไอจัดการได้ค่อนข้างดี ซึ่งหมายความว่าเราให้มันช่วยออกแบบกิจกรรมในคาบเรียน ทำสรุป ทำใบงาน ทำภาพประกอบ ทำสไลด์ ออกแบบแบบฝึกหัดท้ายบท แม้กระทั่งออกแบบเกณฑ์รูบริก (rubric) ในการประเมินก็ทำได้อย่างรวดเร็วและช่ำชอง ที่จริงให้เอไอเขียนเอกสารกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) ยังได้เลย

ข้อสอง คือ ออกแบบกิจกรรมเสริมการเรียนรู้เฉพาะบุคคล อย่างที่บอกว่าเอไอเป็นเหมือนเลขาฯ ส่วนตัว นอกจะสำหรับครูแล้ว สำหรับนักเรียนก็ไม่ต่าง หนึ่งในฟังก์ชันที่เด็ดสุดสำหรับผมคือนำเอไอมาใช้ออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ส่วนตัวได้อย่างน่าสนใจ เพราะปรับให้สอดคล้องกับพื้นฐานและความต้องการของนักเรียนแต่ละบุคคลได้ ถ้ามองในอีกมุมก็เหมือนมีติวเตอร์ส่วนบุคคล มีเทรนเนอร์ทางวิชาการส่วนตัวที่จะช่วยเรื่องการปรับตัวในการเรียนได้เป็นอย่างดี

ลองใช้พรอมต์ (prompt) นี้ไปปรับใช้ดูครับ

ผมขอเล่นบทเป็นนักศึกษาแพทย์/นักศึกษาวิทยาศาสตร์ที่อยากเข้าใจ ‘Biochemistry and Pollution’ แบบลึกซึ้ง ขอให้คุณรับบทเป็นอาจารย์/แพทย์/นักวิจัยด้านชีวเคมีสิ่งแวดล้อมที่เชี่ยวชาญด้าน toxicology บทสนทนานี้จะเป็นแบบ ‘ถาม-ตอบย้อนกลับ’ เพื่อให้ผมได้เข้าใจเชิงลึกจริง ๆ

ที่จริงแล้วในแง่ของสถานการณ์สมมติหรือ role play เอไอเวอร์ชันใหม่ ๆ ทำอะไรได้มากกว่าที่เราจะคาดหวัง

ลองจินตนาการเอไอฝึกซักประวัติสำหรับนักศึกษาแพทย์ ที่สามารถจับสีหน้าท่าทางของนักศึกษาได้อย่างละเอียดจนถึงขั้นประเมินอารมณ์ของนักศึกษาได้ในสถานการณ์สมมุติ เอไอแบบเดียวกันอาจจะเอามาประยุกต์ใช้ในการฝึกให้คำแนะนำนักเรียนสำหรับครู นักจิตวิทยา ไปจนถึงการพูด ฝึกนำเสนอไอเดีย (pitch) ในที่สาธารณะ หรือแม้แต่เป็นโคชพัฒนาบุคลิกภาพ (personality coach) ก็ยังได้

ข้อสาม คือ เชื่อมโยงและอัปเดตบทเรียนให้น่าสนใจด้วยข่าวสารข้อมูลปัจจุบัน ฟังก์ชันอีกหนึ่งอย่างที่เอไอทำได้อย่างน่าสนใจก็คือ การทำเหมืองข้อมูล หรือ data mining ในเวลานี้ เอไอรุ่นใหม่ ๆ สามารถดึงข่าวสารหรือข้อมูลใหม่ ๆ ที่เป็นปัจจุบันและอัปเดตมาเชื่อมโยงกับบทเรียน เสริมเนื้อหาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สร้างความเชื่อมโยงข้ามศาสตร์ หรือแม้แต่คิดแผนการประยุกต์ในเชิงธุรกิจก็ยังทำได้ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เพราะในปัจจุบันเทรนด์โลกนั้นค่อย ๆ ปรับไปเป็นการเรียนแบบข้ามศาสตร์ ใช้องค์ความรู้จากสหสาขาวิชามาเชื่อมโยงเพื่อขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้จริงที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอยู่แล้ว มองไปข้างหน้ายังมีอะไรอีกมากมายในวงการการศึกษาที่เอไอมีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนได้

อิทธิพลของเทคโนโลยีนี้น่าจะไม่ได้จืดจางหายไปในเร็ววัน แท้จริงแล้วอาจจะมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยซ้ำ ตามความเก่งและเป็นพหูสูตของเอไอรุ่นใหม่ ๆ ยิ่งเอไอฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ใช้ก็ต้องยิ่งปรับตัว ในเบื้องต้นอาจจะเอาเอไอมาช่วยเตรียมเอกสารต่าง ๆ หรือช่วยลดเวลาในการตระเตรียมเอกสารและสรุปรวบยอดบทเรียนเพื่อช่วยนักศึกษา เป็นคู่หูทางวิชาการส่วนบุคคลที่จะช่วยติว ปรับพื้นฐาน และเสริมความเข้าใจให้นักเรียน ไปจนถึงช่วยคิดกิจกรรมแปลก ๆ ที่น่าจะเอามาช่วยเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ให้ห้องเรียนสนุกยิ่งขึ้นได้

แล้วถ้าถามผมว่าในสายวิชาชีพครู เราควรรู้เอไอมากแค่ไหน คำตอบสั้น ๆ ก็คือ “อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องรู้เท่าทันเอไอ และเข้าใจแนวคิดในการใช้งานของผู้เรียนให้ได้” เพราะถ้าเรารู้พฤติกรรมการใช้งานเอไอของนักศึกษาได้ดีพอ เราก็จะออกแบบให้นักศึกษาปรับเปลี่ยนการใช้งานเอไอ ไม่ใช่แค่ใช้ทำการบ้าน แต่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้แก่ตัวของพวกเขาได้ ชัดเจนว่าในโลกทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวไปไกลแล้วไวจนน่ากลัว คำถามคือเราจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรเพื่อมาเสริมสร้างความสามารถและศักยภาพในการปฏิบัติงานของเรา ไม่ใช่แค่ปัญญาประดิษฐ์แบบ artificial intelligence แต่ต้องเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มาช่วยเสริมสร้างศักยภาพของคนแบบ augmented intelligence ในกรณีของเอไอ อิทธิพลของมันในอนาคตอาจจะมากถึงขั้นที่จะดิสรัปต์วงการการศึกษาไปเลยก็ได้ นักอนาคตศาสตร์หลายคนถึงขั้นทำนายไว้ว่า “ท้ายที่สุดแล้วครูอาจจะไม่ใช่อาชีพที่จำเป็น เพราะเอไออาจจะเก่งถึงขนาดมาแทนครูได้เลยก็ได้ในอนาคต

ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้น อย่างไรอาชีพครูก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่ว่าบทบาทของครูในห้องเรียนอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็เท่านั้น ในอนาคตครูอาจต้องทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะ เป็นกระบวนกร เป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากที่จะค้นคว้าและมีแนวคิดเชิงวิพากษ์ที่สร้างสรรค์ แต่นั่นหมายความว่าครูก็ต้องปรับตัวอยู่ไม่น้อย และในเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่คุณครูจะฝึกใช้พรอมต์และลองจินตนาการแนวคิดในการเอาเอไอมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เอไอยังเพิ่งเริ่มพัฒนาไปได้ไม่นานมากนัก แม้ว่าเอไอจะมีความเก่งในระดับหนึ่งพอที่จะทำงานอะไรได้หลายอย่างอย่างน่าประทับใจ แต่แท้จริงแล้วเอไอก็มีข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างมาก นักพัฒนาเอไอมักสร้างให้เอไอมีความสามารถในการตีความในเชิงสร้างสรรค์ (creative interpretation) เพื่อให้ฉลาดและน่าประทับใจ แต่บางทีการตีความนี้ก็อาจจะเลยเถิด กลายเป็นการยกเมฆเอาแบบดื้อ ๆ หรือที่หลายหลายคนเรียกว่า การหลอน หรือ hallucination เลยก็พบได้บ่อย

ผมว่าเอไอเหมือนเป็นเลขาฯ ที่มีความสามารถและมีความรู้หลายอย่าง แต่เป็นเลขาฯ ที่ค่อนข้างทื่อ สะเพร่า และชอบนั่งเทียน ดังนั้นจะให้น้องทำอะไรก็ควรต้องดับเบิลเช็กหลาย ๆ รอบเพื่อความชัวร์

ท่องไว้เลย สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เอไอยังรู้พัง ถ้าไม่ระวังก็อาจจะหน้าแตกได้เหมือนกัน

แต่ถ้าเราเข้าใจน้องดีพอเราก็จะออกแบบกระบวนการใช้งานน้องให้สร้างสรรค์และมีประโยชน์สูงสุดได้ เพราะท้ายที่สุดตัวจริงที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็คือมนุษย์ไม่ใช่เอไอ ก็เป็นอะไรที่น่าคิดว่า ถ้าเราอยากจะเป็นผู้นำในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไว และเอไอก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะเอามาใช้เสริมศักยภาพมนุษย์ แต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาที่บ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ของประเทศมีแค่เอไอเวอร์ชันแนะนำเส้นทางการเดินรถ แผนที่มหาวิทยาลัย หรือแนวทางการเลือกลงทะเบียนรายวิชา แต่กลับยังไม่มีเอไอหัวก้าวหน้าเวอร์ชันอัปเดตล่าสุด แบบเสิร์ชอินเทอร์เน็ตหาข้อมูลเชิงลึกได้ สรุปองค์ความรู้ได้ ให้คุณครูและนักเรียนได้ลองได้ใช้ แล้วเราควรจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้กำลังคนของเราไม่ตกเทรนด์

และนี่คือความท้าทายที่คุณครูอาจจะต้องคิด เคยมีคนพูดเอาไว้ว่า “ในโลกที่ทุกอย่างก้าวเดินไปข้างหน้า ถ้าเราเลือกจะยืนอยู่กับที่ ก็ไม่ต่างอะไรกับการก้าวไปข้างหลัง เพราะในท้ายที่สุด ในวันที่ทุกคนก้าวเดินนำเราไปหมด คนที่จะอยู่รั้งท้ายก็คือเรา” และเมื่อเทคโนโลยีอยู่รอบตัวเรา การจะเลี่ยงจะหนีจากเทคโนโลยีไปตลอดคงเป็นไม่ได้ ท้ายที่สุดก็คงต้องยอมออกจากคอมฟอร์ตโซนและเรียนรู้เทคโนโลยี ภาษิตไทยกล่าวไว้ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ดังนั้นในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงบ่อย เราก็คงต้องปรับตัวให้รู้เอไอ รู้ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนของเราได้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุด

About Author