บทความโดย
ฝ่ายส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย (the Office of Research Integrity: ORI), สวทช.
มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาของแต่ละยุคสมัยและทำให้ชีวิตมีคุณภาพดีขึ้น ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เช่นทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ในขณะที่มีคุณประโยชน์มหาศาล เทคโนโลยีก็มีโทษมหันต์ หากนำไปใช้โดยขาดจริยธรรม รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือใช้ไปเพื่อประโยชน์ของคนเพียงบางกลุ่มโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม ดังนั้นการสร้างและใช้เทคโนโลยีจึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความหายนะต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์
ในอดีตมนุษย์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการเอาชนะธรรมชาติที่จำกัดความเป็นอยู่ การเอาชนะความอดอยาก ความเจ็บป่วย จนมาถึงยุคที่มนุษย์นำเทคโนโลยีมาช่วยผ่อนแรงมนุษย์และสัตว์ในการทำงาน ตั้งแต่การนำพลังงานจากไอน้ำ พลังงานไฟฟ้า น้ำมัน และถ่านหินเข้ามาใช้ให้เกิดการผลิตปริมาณมากในอุตสาหกรรมการผลิต จนมาถึงยุคดิจิทัลที่ทำให้เกิดระบบอัตโนมัติหรือที่เราเรียกระบบ smart หรือ intelligent ที่เครื่องจักรกลสามารถทำงานหรือแม้แต่จะคิดและตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ แต่อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทั้งที่เทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับการพัฒนาและนำมาเป็นผู้ช่วยมนุษย์ในการทำงานได้มากมายขนาดนี้ แต่ทำไมมนุษย์ยังเผชิญกับปัญหาพื้นฐานหลายอย่างที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาน้ำท่วมปัญหาภัยแล้ง ปัญหาความยากจน และปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม
ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความขัดแย้งกันในเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ที่สุดท้ายแล้วอาจจะเกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคงระหว่างประเทศหรือการแย่งชิงความเป็นผู้นำของโลก โดยมีคนกล่าวว่าประเทศใดเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า AI ได้ ประเทศนั้นจะครองตำแหน่งมหาอำนาจของโลกได้ในอนาคต ซึ่งคำว่ามหาอำนาจของโลกนี้คงรวมไปถึงการครองอำนาจด้านเศรษฐกิจและการเงินด้วยในที่สุด ด้วยความแตกต่างของเทคโนโลยี AI ที่มีความฉลาดขนาดสามารถคิดเองและตัดสินใจเองได้เหมือนมนุษย์ และมีประสิทธิภาพเหนือกว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาในโลกนี้ แล้วต่อไปมนุษย์จะใช้ AI เป็นเครื่องมือในการทำอะไรได้อีกในโลกของทุนนิยมนี้
การเกิดวิกฤติ COVID-19 เป็นตัวเร่งสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลได้เร็วและขยายวงกว้างขึ้น จะเห็นว่า AI เริ่มเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราในเกือบจะทุกด้าน เช่น การเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะบนสมาร์ตโฟน อย่าง Siri, Alexa และ Google Assistant การดูหนังฟังเพลงบนดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่าง Netflix หรือ Youtube รถยนต์ไร้คนขับอย่าง Tesla หรือจะเป็นการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Line, Zoom การมีผู้ช่วยดิจิทัลในด้านการรักษาโรคอย่าง Google Deepmind Health ธุรกิจเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มี AI อยู่เบื้องหลังในการทำงานเพื่อคอยเก็บและประมวลผลข้อมูลของผู้ใช้บริการอยู่ตลอดเวลา และทำให้บริษัทเหล่านี้ได้ข้อมูลของผู้บริโภคเป็นจำนวนมากหรือที่เราเรียกว่า Big Data ที่ป้อนให้ AI สามารถนำไปใช้คาดเดาพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำขึ้น หรือเรียกได้ว่าฉลาดขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่ง เราเริ่มจะเห็นผลกระทบด้านลบจาก AI มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในเรื่องของการนำมาใช้เพิ่มศักยภาพของอาวุธร้ายแรง การเข้ามาแทนแรงงานคนซึ่งจะทำให้มนุษย์ตกงานเป็นจำนวนมากในอนาคต การสร้างโฆษณาชวนเชื่อผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก การโน้มน้าวคนด้วยข่าวปลอมจนนำไปสู่การแบ่งข้างและเกิดจลาจล การใช้ AI เป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบทางการค้าที่อาจจะเข้ามาควบคุมธุรกิจบางประเภทได้อย่างผูกขาด หรือแม้แต่การที่ AI อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติในอนาคต ซึ่งทำให้คนเริ่มหันมาถกเถียงกันว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นภัยต่อของมนุษย์ได้ถึงขั้นไหนในอนาคต และยังจะสามารถควบคุมได้อยู่หรือไม่ อย่างไร
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยมูลค่ามหาศาลของตลาดเทคโนโลยี AI บริษัทมักจะออกแบบและพัฒนา AI ด้วยการพิจารณาผลประโยชน์ในรูปของตัวเงินเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ที่จะตามมา ในขณะที่บางบริษัทที่มีความได้เปรียบจากเทคโนโลยีดิจิทัลมีการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด แต่ธุรกิจในหลายท้องถิ่นกลับต้องล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ ต่างจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สร้างความได้เปรียบของธุรกิจอย่างเบ็ดเสร็จจากการมีข้อมูลของผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ที่อาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าของบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่บริษัทในโลก ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับหลักการที่เราอยากจะพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อมนุษยชาติ หรือเพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคม รวมถึงนำมาใช้เสริมคุณค่าของมนุษย์
เห็นได้ชัดว่าหลังจากนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่แทบจะทั้งหมดขับเคลื่อนผ่าน OTT (Over The Top) ด้วยการเปิดใช้บริการฟรีของบริษัทใหญ่ๆ ในโลก เช่น Youtube, Line, Google, Facebook, Alibaba, Lazada, Shoppee ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าบริการ OTT จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของประเทศไทย แค่เฉพาะสัดส่วนของการเสพคอนเทนต์แบบ video on demand คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายประมาณ 6,080 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2566 นี้
จะเห็นว่าคนไทยตอบรับกับวิถีชีวิตแบบดิจิทัลนี้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลถึงเม็ดเงินมหาศาลที่ไหลไปยังบริษัทต่างประเทศเหล่านี้ โดยที่รัฐบาลไทยอาจจะไม่ได้อะไรเลย แม้แต่ภาษีจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาครอบครองตลาดธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ ยิ่งไปกว่านี้ธุรกิจของคนไทยอีกเป็นจำนวนมากมีโอกาสที่จะเกิดการสูญเสียและล้มละลาย หากเราแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ได้ อาจเปรียบได้ว่าเมืองไทยจะต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ภายใต้รูปแบบของการล่าอาณานิคมยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ก็เป็นไปได้
จากผลกระทบด้านลบของการนำศักยภาพของเทคโนโลยีมาใช้อย่างไร้ขีดจำกัดนี้ จึงกลายเป็นความจำเป็นที่เราต้องมาพิจารณาหลักทางจริยธรรมให้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง ที่คำนึงถึงผลประโยชน์และสิทธิของมนุษย์และคนในสังคมโดยส่วนรวม และใช้เป็นหลักในการพัฒนาควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในทางการเสริมสร้างความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ และการค้าในยุคเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้ โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
References:
https://www.bernardmarr.com/default.asp?contentID=1545
https://www.quora.com/What-is-the-main-difference-between-Industry-3-0-and-Industry-4-0
https://www.coilwindingexpo.com/berlin/knowledge-hub/industry-30-to-industry-40-whats-the-difference
https://www.onupkeep.com/answers/predictive-maintenance/industry-3-0-vs-industry-4-0
https://th.cc-link.org/th/cclink/article/differences_between_fourth_and_third_industry.html
https://www.facebook.com/prasertpp/posts/587264534955378/
https://www.un.org/en/sections/issues-depth/climate-change/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/855430
https://www.repository.cam.ac.uk/handle/1810/275332
https://link.springer.com/article/10.1007/s11023-020-09517-8
https://cie.acm.org/blog/ai-will-deliver-positive-and-negative-results-me-ecosystem/
https://www.bangkokpost.com/business/1754489/the-future-of-ott-in-asean
https://ibusiness.co/detail/9630000044796
https://positioningmag.com/1247352
https://www.thesocialdilemma.com/