เมืองแห่งอนาคตที่ฟ้าเต็มไปด้วยเเท็กซี่ และโดรนแทนที่นกพิราบ !

เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


 

          “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก”  แต่แม้ว่าตอนนี้วิหคจะเป็นเจ้าเวหา แต่อีกไม่ช้าไม่นาน ผู้ครอบครองท้องฟ้าอาจจะเปลี่ยนไป

          เพราะในอนาคตอันใกล้ นกเหล็ก (บางตัวก็พลาสติก) เล็กใหญ่อย่างโดรน และแอร์แท็กซี่ (air taxi) กำลังจะมา

          ในเวลานี้ โดรนขนส่งสินค้าเริ่มมีให้เห็นแล้วในบางประเทศ ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ฮุนได แอร์บัส อูเบอร์ และโบอิ้ง ก็เริ่มเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อพัฒนาการผลิตต้นแบบยานบินแอร์แท็กซี่ที่สามารถหลบหนีจราจรแออัดบนท้องถนน ขึ้นไปบินขนส่งผู้คนอยู่บนฟ้า ที่ความสูงสูงกว่า 1,000 ฟุต ด้วยความเร็วเกือบ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

          หลายคนอาจจะคิดว่ายวดยานบินได้แบบนี้อาจจะอยู่ไกลเกินฝัน แต่ใครจะรู้ มันอาจจะมาไวกว่าที่คิด เพราะในตอนนี้นอกจากบริษัทใหญ่อดีตเจ้าครองตลาดทั้งบนบกและในอากาศที่ว่ามาแล้ว ยังมีบริษัทสตาร์ตอัปหน้าใหม่ที่เปิดตัวออกมาแรงไม่น้อยไปกว่าบริษัทรุ่นพี่อีกหลายร้อยแห่งที่กำลังซุ่มพัฒนา eVTOL (Electric Vertical Take-Off and Landing หรือเครื่องบินไฟฟ้าที่บินขึ้นและลงจอดได้ในแนวตั้ง) กันอยู่อย่างคร่ำเคร่ง

          แค่ในเวลานี้ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) มีโมเดล eVTOL ที่ออกแบบไว้แล้วมากกว่า 600 เวอร์ชัน ตั้งแต่เวอร์ชันหนึ่งที่นั่งอย่าง eVTOL สัญชาติสวีดิช Jetson One  ที่ขายหมดจนต้องรอจองข้ามปีไปแล้ว ไปจนถึงลำใหญ่เวอร์ชันจัดได้ทั้งครอบครัวแบบห้าที่นั่งอย่าง  prosperity I ของจีนที่คาดว่าจะออกมาเปิดตัวลุยตลาดยุโรปภายในปี พ.ศ. 2568

          บริษัทการเงินมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) วิเคราะห์ว่าตลาด eVTOL จะค่อยๆ มาเริ่มตั้งแต่ปีหน้าและจะเริ่มเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว จนอาจจะมีมูลค่าตลาดสูงถึงราวๆ 50 ล้านล้านบาทเลยทีเดียวในปี พ.ศ. 2583

          คำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยก็คือเรื่องราคา ถ้าค่าบริการนั้นแพงจนเกินเอื้อมคว้า คนเดินดินธรรมดาก็อาจจะเข้าไม่ถึง และจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

          “ราคาเริ่มต้นของเราจะอยู่ใกล้ๆ กับราคาของแท็กซี่และอูเบอร์ แต่เป้าหมายในอนาคตที่อยากให้สำเร็จก็คือการลดราคาค่าใช้บริการลงมาให้อยู่ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการขับรถของตัวเอง หลังการดำเนินการในช่วงแรกในปี พ.ศ. 2567 ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 100 บาทต่อ 1 ไมล์ (ประมาณ 1.6 กิโลเมตร) และจะพยายามให้มันถูกลงๆ จนเหลือแค่ราคาราวๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 30 บาทต่อ 1 ไมล์ (ประมาณ 1.6 กิโลเมตร) ราคาแบบนี้ถ้ารวมคนขับบนเครื่อง ยังไงก็เอาไม่อยู่” คริส แอนเดอร์สัน (Chris Andersson ) ซีอีโอของคิตตีฮอว์ก (Kittihawk) เผยว่าทีมวิจัยของเขากำลังออกแบบ eVTOL ที่มีระบบควบคุมการบินทั้งหมดอัตโนมัติ และถ้าดูในวงการนักพัฒนา eVTOL ก็ยังมีอีกสองเจ้า ซึ่งก็คือ Wisk Aero และ Ehang พยายามออกแบบระบบควบคุมอัตโนมัติอยู่เหมือนกัน

          แต่แม้ราคาจะลดลงมาจะหยิบจับถึง แต่การจะเกิดเทรนด์ใหม่ที่มาดิสรัปต์เทรนด์ดั้งเดิมแบบนี้ อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนักหากอินฟราสตรักเจอร์สนับสนุนนั้นไม่พร้อม จินตนาการเหมือนจะเอาแลมโบกินีมาขาย  แต่มองขวามองซ้ายเจอแต่ถนนลูกรัง แบบนี้ก็คงขายไม่ออก ได้แต่ถอนหายใจแล้วมองบนไปก่อน

          ดังนั้นปัจจัยในเรื่องความสะดวกสบายของผู้ใช้จึงเป็นประเด็นที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อนที่เทคโนโลยีจะมา ลานจอดและฮับสำหรับการเดินทางทางอากาศจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นมาให้ไวที่สุดเพื่อที่การเปิดตัวของตลาดแอร์แท็กซี่จะได้ไม่สะดุด

          สนามบินของ eVTOL ปกติจะเรียกว่า “เวอร์ติพอร์ต (vertiport)” เพราะ eVTOL บินขึ้นและลงได้ในแนวดิ่ง ทำให้ไม่ต้องการพื้นที่ในการลงจอดมากเหมือนเครื่องบินทั่วไป การบินขึ้นบินลงออกแนวคล้ายๆ กับเฮลิคอปเตอร์ที่บินขึ้นได้ลงได้แม้จะมีพื้นที่เพียงน้อยนิด

          “เราต้องลืมหลายๆ อย่างเกี่ยวสนามบินไป แล้วเรียนรู้กันใหม่” เควิน คอกซ์ (Kevin Cox) ซีอีโอของเฟอร์โรเวียลเวอร์ติพอร์ต (Ferrovial Vertiport) กล่าว “ผู้โดยสารที่ใช้เวอร์ติพอร์ตจะสัมผัสได้ว่าไม่มีอะไรเหมือนสนามบินเลย”

          ไอเดียของเควินจะให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว นั่นคือ เช็กอินเสร็จก็ขึ้นเครื่องแล้วรอเครื่องขึ้นได้เลย หรือถ้าจำเป็นต้องรอในพอร์ตก็ไม่ควรจะเกินยี่สิบนาทีต่อคน

          เฟอร์โรเวียลเวอร์ติพอร์ตมีแผนที่จะเริ่มสร้างเวอร์ติพอร์ตขึ้นเพื่อรองรับการมาของแอร์แท็กซี่ พวกเขาเล็งยอดตึก ลานจอดรถ และลานกว้างเอาไว้มากมาย โดยในเบื้องต้นพวกเขาวางแผนที่จะสร้างเวอร์ติพอร์ตอย่างน้อย 25 แห่งในสหราชอาณาจักรและอีก 10 แห่งในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา โดยในทุกๆ พอร์ตจะเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมเอาไว้ให้แล้วอย่างครบครัน ทั้งรถและราง และในบางที่ก็อาจจะมีเรือรอรับบริการต่อด้วยเช่นกัน

          ไม่ว่าจะบินมาจากที่ไหน ไปสมบุกสมบันที่ไหนมา เข้าเวอร์ติพอร์ต การเดินทางก็จะสะดวกสบายหายห่วงไปเลย

          เรื่องการลงจอดนั้นยังไม่จบ เพราะแม้การขึ้นลงในแนวดิ่งนี้จะช่วยประหยัดพื้นที่ได้ดี แต่นักวิจัยและวิศวกรอีกหลายทีมก็ยังพยายามออกแบบกลไกลงจอดที่จะช่วยทำให้เครื่องบินหรือโดรนของคุณนั้นขึ้นง่ายลงจอดสบายได้ทุกพื้นที่และพื้นผิว

          ย้อนกลับไปปลายปีที่แล้ว (พ.ศ. 2564) เทคโนโลยีการลงจอดแบบที่เลียนแบบมาจากพฤติกรรมการยึดเกาะของนกได้พัฒนาขึ้นมาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University)

          พวกเขาใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์การกางเล็บและการเข้ายึดเกาะคอนของนกแก้วเล็ก (parrotlet) หรือแม้แต่การตะครุบเหยื่อของนกเหยี่ยวเพเรกริน (peregrine falcon) มาออกแบบขากลหุ่นยนต์ที่พอเอาไปประกอบเข้ากับโดรนสี่ใบพัด (quadcopter) แล้วจะได้โดรนที่มีขาเหมือนกรงเล็บของนกที่สามารถลงเกาะที่ไหนก็ได้ด้วยกลไกแบบเดียวกับนกเกาะคอน แถมยังสามารถตะครุบและหยิบคว้าสิ่งของที่ลอยอยู่ในอากาศได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียงแค่ไม่กี่มิลลิวินาทีอีกด้วย

          พวกเขาเรียกโดรนเล็บเหยี่ยวนี้ว่า Stereotyped Nature-Inspired Aerial Grasper หรือ สแนก (SNAG)

          ขณะที่ทีมจากสแตนฟอร์ดดูจะสนใจการลงเกาะ วิศวกรอีกทีมหนึ่งจากศูนย์วิจัยระบบและเทคโนโลยีอัตโนมัติ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Center of Autonomous Systems and Technologies, California Institute of Technology) หรือ Caltech กลับชื่นชอบและได้แรงบันดาลใจมาจากความสามารถในการทรงตัวอันน่าอัศจรรย์ของนกที่สามารถเดิน หรือโดดไปมาได้อย่างสบายๆ แม้แต่บนเส้นเชือกหรือสายไฟที่เล็กจิ๋ว ซึ่งความสามารถนี้มาจากการผสมผสานการเดินสองขาและการบินเข้าด้วยกัน

          “พวกเราได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ ลองนึกถึงภาพนกกระโดดไปมาบนสายไฟดูสิ” ซุนโจ ชุง (Soon-jo Chung) ศาสตราจารย์ด้านการบิน การควบคุม และระบบพลวัติ จาก Caltech เผย

          หุ่นของ Caltech ก็ออกแบบมาจากโดรนต่อขาเช่นเดียวกันกับ SNAG แต่ดูมีความสุนทรีย์ในด้านการออกแบบกว่ามากเขาและทีมตั้งชื่อหุ่นนี้ว่าลีโอนาโด (LEONARDO) ที่ย่อมาจาก LEgs ONboARD drOne หรือที่พวกเขาเรียกสั้นๆ ว่าลีโอ (LEO)

          ลีโอดูมีลักษณะคล้ายคน มีสองแขนที่ติดใบพัดช่วยให้มันบินได้ และทรงตัวได้เป็นอย่างดีเวลาที่เดินสองขา

          ลีโอสามารถปรับโหมดในการเดินสองขาและบินได้อย่างอัตโนมัติ ทำให้มันทรงตัวได้อย่างอลังการ หุ่นลีโอเดินบนเส้นลวดได้เก่งไม่แพ้นักกายกรรม แถมยังเล่นสเก็ตบอร์ดได้เทพราวกับโปร และกระโดดลงมาจากที่สูงและลงจอดได้อย่างนุ่มนวล

          แน่นอนว่ายังไม่มีการเอาเทคโนโลยีของลีโอและสแนกไปใช้กับแอร์แท็กซี่ และคาดว่าคงไม่มี แต่ใครจะรู้ล่ะครับ วันนึงเราอาจจะได้เห็น eVTOL ขานกเหยี่ยว หรืออาจจะมาในรูปหุ่นมีแขนมีขาแบบลีโอก็เป็นได้ แม้อาจแปลกที่จะใช้บนโลก แต่ในการสำรวจอวกาศ หุ่นหรือโดรนเหล่านี้ทำในสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้  เข้าถึงในพื้นที่ที่มนุษย์ไปไม่ถึง อันจะทำให้วิทยาศาสตร์แห่งการสำรวจอวกาศก้าวหน้าไปอีกไกลโข

          ใครจะรู้โดรนขานกอาจจะนำพาพวกเราให้ไปสู่การสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์ก็เป็นได้

          ลองมาลุ้นกันดีกว่าครับว่าเราจะได้เห็น eVTOL อิมพอร์ตเข้ามาใช้กันในประเทศก่อน หรือว่าจะได้เห็นลูกหลานลีโอกับสแนกบนดวงจันทร์ก่อนกัน !?

About Author