เบื้องหลัง 35 ปลาชนิดใหม่ของโลก: ชนิดที่ 1 ปลาซิวเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์

โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์


ชนิดที่ 1 ปลาซิวเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ Amblypharyngodon chulabhornae Vidthayanon & Kottelat, 1990

          ในประเทศไทย ปลาทั้งน้ำจืดและทะเลน่าจะสำรวจพบได้มากกว่า 2,900 ชนิด ซึ่งส่วนมากก็ค้นพบและตั้งชื่อโดยชาวต่างประเทศ แต่ใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ก็มีคนไทยหลายคนค้นพบปลาและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ปลามากขึ้น

          ปลาซิวเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์นี้พบจากการสำรวจแหล่งน้ำของกรมประมงเมื่อกว่า 30 ปีก่อน แต่พอมาเทียบกับ key (รูปวิธาน) มันก็แปลกๆ ไม่เข้าพวก ทางกรมประมงเลยถามผู้เชี่ยวชาญปลาฝรั่งคนนึง (ดร.ไทสัน โรเบิร์ต) ที่มาแวะเวียนมาที่กรมประมงบ่อยๆ ได้ความว่ามันเป็นสกุลที่ไม่เคยมีรายงานในน่านน้ำไทยมาก่อน อาจเพราะมันไม่มีสีสันสะดุดตา และตัวเล็กแบบลูกปลาตะเพียนทั่วๆ ไป

          หลังจากนั้นมีการตามล่าตัวอย่างปลาชนิดนี้ต่อ แล้วไปพบโดยบังเอิญจากการประเมินแหล่งน้ำโครงการประมงหมู่บ้านที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แต่ได้มาแบบเยินๆ สิบกว่าตัว ปัญหาคือจะหาตัวอย่างที่สวยๆ ที่จะเอามาเป็นต้นแบบ holotype ทั้งรูปถ่ายและวาดได้อย่างไร ในที่สุดก็ใช้เวลาและการเดินทางอยู่กว่า 4 ปี จึงได้มาตัวนึง จากการสำรวจแหล่งน้ำที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นงานของกรมประมงร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          กรมประมงเห็นว่าการค้นพบใหม่นี้น่าจะตั้งชื่อให้แก่ผู้ที่มีคุณูปการแก่การประมงของไทย จึงดำเนินการขอพระราชทานพระอนุญาตใช้พระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระยศขณะนั้น) และการจะเขียนรายงานนั้นก็ต้องเทียบกับชนิดเดิม 3 ชนิดที่พบในอินเดียถึงพม่า ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้เขียนร่วม Dr. Maurice Kottelat แล้วตีพิมพ์ ใน Bull. Natural History of Siam Soc. ฉบับที่ 38 (1990)

 

About Author