เรื่องโดย รักษ์ศักดิ์ สิทธิวิไล
“ข้าพเจ้ามิได้นิยมชมชอบในรสชาติของสุรา แต่ข้าพเจ้าชอบบรรยากาศของการร่ำสุรา”
เป็นคำกล่าวของโกวเล้งนักเขียนนวนิยายกำลังภายในอมตะชาวจีนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลกเกี่ยวกับการร่ำดื่มสุรา ไม่ว่าจะถูกเรียกในชื่ออะไร เบียร์ บรั่นดี เหล้ารัม สาเก หรือวิสกี จะเกิดด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจ น้ำเมาชนิดนี้ก็อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนานจนบางครั้งเราก็คาดไม่ถึง
แอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เรียกว่า “ยีสต์” นี้ ความสามารถพิเศษของมันก็คือเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และเอทานอล โดยกระบวนการที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “การหมัก” (alcoholic fermentation) ซึ่งเอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดเดียวที่ดื่มในปริมาณเหมาะสมได้อย่างปลอดภัยเพราะเป็นผลผลิตจากการคัดสรรทางธรรมชาติโดยแท้
มนุษย์รู้จักการหมักแอลกอฮอล์จากธัญพืชไว้ดื่มกินมานานหลายพันปี ก่อนที่จะเริ่มรู้จักการเพาะปลูกเสียอีก โดยเลือกเก็บเมล็ดธัญพืชป่าในท้องถิ่น เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ มาเพาะให้งอกเป็นมอลต์ (malt) เพื่อนำไปหมักเบียร์ จึงเกิดข้อสันนิษฐานที่ว่า เพราะความต้องการดื่มแอลกอฮอล์นี่เอง ทำให้บรรพบุรุษของมนุษย์เลิกใช้ชีวิตเร่ร่อนและตั้งถิ่นฐานทำเกษตรกรรมเพื่อผลิตวัตถุดิบและสร้างอารยธรรมของตน ขนาดในยุคกลาง ยังมีคำกล่าวยกย่องเรียกมันว่าเป็น “น้ำแห่งชีวิต” เพราะนอกจากจะใช้ดื่มเพื่อให้ความอบอุ่นและผ่อนคลายแล้ว นักบวชยังนำสุรามาใช้ในพิธีกรรมและการรักษาโรคอีกด้วย
ไม่เพียงอารยะและศิลปะในการดื่มแอลกอฮอล์จะหยั่งรากลึกผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คน สรรพสัตว์ในธรรมชาติต่างก็ชื่นชอบและหลงใหลในการผ่อนคลายจากการเมาเช่นเดียวกัน ด้วยเสน่ห์ดึงดูดของกลิ่นการหมักที่กระชากใจอย่างรุนแรง สามารถส่งสัญญาณเรียกหาได้ในระยะไกล มันยังเป็นแหล่งพลังงานที่ร่างกายสัตว์เอาไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งเป็นผลดีต่อระบบขับถ่ายและการย่อยอาหาร และใช่…นั่นยังไม่นับรวมความสุขจากการเมา
เมากันได้เละเทะ
มีรายงานมากมายว่าพบสัตว์ป่าอย่างกวางมูส (moose) ในสวีเดนมีอาการเมาปลิ้นจากการกินแอปเปิลที่หล่นเน่าอยู่ใต้ต้น หรือพบกระแตนอนเมาแอ๋ไม่แยแสใครในป่ามาเลเซียหลังกินน้ำหวานหมักจากดอกสาคูป่า หรือฝูงนกขี้เมาป่วนเมืองที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชาวเมือง Gilbert ในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมากทุกปี หลังปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง ทำให้ผลเบอร์รีค้างอยู่บนต้นแทนที่จะตกลงพื้นตามปกติ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลายผลเบอร์รีจึงเริ่มกระบวนการหมัก และเมื่อฝูงนกกินเข้าไปก็เก็บทรงไม่อยู่ บินสะเปะสะปะไปมา บางตัวบินไปชนรถยนต์และกระจกหน้าต่างจนเกิดอุบัติเหตุมากมาย ชาวเมืองได้แต่ต้องรอให้พวกมันสร่างเมาไปเอง
มาทาทา มารูลา สัตว์เริงร่า ไม้ป่าพาเมา
บนพื้นที่ป่าของแอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันตก มารูลา (marula: Sclerocarya birrea) ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ เป็นผลไม้ที่มีดี(กรี)ในตัว ต้นมารูลาเป็นไม้ยืนต้น ทนแล้ง ผลมีเมล็ดเดียว ขนาดเท่าลูกพลัม เมื่อสุกจะมีสีเหลือง มีกลิ่นหอมที่ละเอียดอ่อน อุดมไปด้วยกรดอะมิโนมากมาย มีวิตามินซีสูงสามารถรับประทานได้ แต่มีสารออกฤทธิ์กดประสาท ชาวพื้นเมืองจะคั้นน้ำมารูลามาหมักทำเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเหล้าพื้นเมือง ด้วยคุณสมบัติพร้อมเมาของมารูลานี้ จึงเป็นที่ต้องการของสัตว์ทั้งหลายด้วยเช่นเดียวกัน
สัตว์ทั้งป่าแทบจะมารวมกันเมื่อผลมารูลาสุกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนโดยมิได้นัดหมาย มารูลาจะทวีคูณเป็นที่ต้องการมากขึ้นหลังจากเริ่มเน่าและผ่านการหมักภายใต้แสงแดดอันร้อนระอุจนได้ที่แล้ว เริ่มต้นด้วยพี่ช้าง ยีราฟ และน้องลิงเป็นหัวเรือใหญ่เขย่ากิ่งจนผลร่วงหล่นลงมา เปิดโอกาสให้สัตว์ที่อยู่ด้านล่าง ไม่ว่าจะเป็นหมูป่า แรด ละมั่งป่า นกกระจอกเทศ สัตว์น้อย สัตว์ใหญ่ มะรุมมะตุ้มเข้ามาแบ่งกันกินผลไม้อันอุดมโภชนาและรสชาติโอชะนี้อย่างเอร็ดอร่อย เมื่อฉลองอย่างเริงร่ากันจนได้ที่ก็จะเดินโซซัดโซเซแยกย้ายกลับที่พัก…พรุ่งนี้ค่อยมาว่ากันใหม่
ยิ่งกินยิ่งติดใจ
นักศึกษาจาก Dartmouth College สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของตัวอายอาย (aye-aye) และลิงลม (slow loris) พบว่า สัตว์ทั้งสองชนิดนี้มีความพึงพอใจกับการเลือกกินเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากกว่าเครื่องดื่มทั่วไปเป็นอย่างมาก
พิเรนทร์กว่านั้น ในมาดากัสการ์ ลีเมอร์ (lemur) ไพรเมต (primate) ตาโตไล่จับกิ้งกือมาสนองความต้องการเมาของมันด้วยการกัดเบาๆ ไม่ใช่เพื่อการกิน แต่เพื่อให้กิ้งกือตกใจหลั่งสารพิษฤทธิ์เป็นกรด ที่มีส่วนผสมของแอลคาลอยด์ (alkaloid) ออกมาป้องกันตัว กิ้งกือใช้สารพิษนี้ขับไล่ศัตรูที่ตัวเท่าๆ กันได้ แต่ไม่ได้ผลแบบนั้นกับลีเมอร์ของที่นี่ ลีเมอร์จะเลียกินสารพิษรสขมตามลำตัวของกิ้งกือเพื่อให้เกิดอาการเมา เคลิบเคลิ้มเป็นสุข (euphoria) แบบเดียวกับการเสพฝิ่นและโคเคนอีกด้วย (ชมความเมาของลีเมอร์ได้จาก Spy in the Wild – BBC https://youtu.be/yYXoCHLqr4o)
เมา…ถูกปรับถูกจับฆ่า
ในสังคมของผึ้งที่มีการแบ่งวรรณะและแยกหน้าที่กันอย่างเข้มข้น การเมาระหว่างการทำงานนั้นอาจหมายถึงชีวิต ผึ้งงานที่มีหน้าที่ออกไปหาน้ำหวานจากดอกไม้และน้ำเลี้ยงต้นไม้ เก็บมาในกระเพาะเก็บน้ำหวาน พอมาถึงรังก็จะสำรอกออกมาส่งให้ผึ้งประจำบ้านนำไปเก็บไว้ในหลอดรวงต่อไป แต่หากบังเอิญไปเจอน้ำหวานที่ผ่านการหมักมาแล้ว มันก็ไม่ต่างอะไรจากการดื่มสุราหมักตามธรรมชาติ และเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาทต่อผึ้ง เดาไม่ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผึ้งจะเมา บินเซไปมา ชนโน่นทีนี่ที จนเกิดการบาดเจ็บตามร่างกาย พอกลับมาถึงที่รัง ก็ไม่วายถูกผึ้งทหารขับไล่ ซวยซ้ำไปอีก เพราะผึ้งที่เมาแบบนี้ไม่เป็นที่ต้องการของฝูง มันอาจถูกรุมทำร้ายจนถึงตายได้เลย ปกติแล้วผึ้งงานทุกตัวต้องทำงานเพื่อแลกกลิ่น (ฟีโรโมน) จากผึ้งนางพญาเป็นรางวัล หากทำงานไม่ได้จะถูกลากไปทิ้งนอกรัง (ชมความเมาน้ำหวานของผึ้งได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=rSqknjdKJ3c)
เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้เอง
จากการศึกษาของนักชีววิทยา นายฟรานซิสโก ซานเซซ (Francisco Sanchez) จาก Ben–Gurion University of the Negev ประเทศอิสราเอล พบว่า ค้างคาวตะวันออกกลางชนิดหนี่งก็ชื่นชอบการลิ้มรสน้ำหวานและเกสรดอกไม้ของลูกมะเดื่อและอินทผลัมที่มีแอลกอฮอล์เจือปนเป็นพิเศษ หลังอาหารมื้ออร่อย มันจะบินตุปัดตุเป๋ชนสิ่งกีดขวางต่างๆ การหาตำแหน่งโดยเสียงสะท้อนของค้างคาว (echolocation) ใช้ได้ไม่ดีเหมือนเคย แต่เจ้านกมีหูหนูมีปีกนี้ก็ฉลาดพอที่รู้จักแก้ไขเพื่อฟื้นตัวเองให้เร็วที่สุด โดยจะพยายามหาผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรักโทสมากินให้มากขึ้น เพราะน้ำตาลฟรักโทสเป็นน้ำตาลในผลไม้ที่ช่วยให้ร่างกายย่อยเอทานอลได้เร็ว หรือแก้อาการเมาค้างได้ดีนั้นเอง
อย่างไรก็ตามดีกรีความแรงของแอลกอฮอล์ในผลไม้สุกงอมจัดตามธรรมชาติมีเพียงแค่ 1-4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเทียบได้กับเบียร์ดีกรีอ่อนๆ เท่านั้นเอง แต่มันก็ทำให้ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ร่วมอภิรมย์ไปกับอารมณ์ผ่อนคลายจากมันได้เหมือนๆ กัน ถึงแม้ทุกตัวคนจะรู้ว่าความสุขที่ได้จากเครื่องดื่มเหล่านี้จะมิใช่ความสุขที่จีรังยั่งยืน แต่ในช่วงชีวิตของพวกเรามีกี่สิ่งกันที่จะจีรังจริงๆ …ใช่ไหมล่ะ