เรื่องโดย
รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เรามาต่อกันที่ครอบครัวใหญ่ที่ไม่มีวันเหงาของโลมา แล้วตามด้วยฮาเร็มแห่งรักของครอบครัวสิงโตและจิงโจ้แดง
ครอบครัวใหญ่ไปไหนไปกัน อาจเทียบเคียงได้กับ “ครอบครัวขยาย” ในสังคมเรา เดิมอาจมีแค่พ่อ แม่ ลูก พอลูกแต่งงานก็ยังอาศัยอยู่ร่วมกัน แล้วอาจมีปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา รวมอยู่ในครอบครัวด้วย
ตัวอย่างของครอบครัวแบบนี้คือ ครอบครัวของ “โลมา” ขี้เหงา ชอบเข้าสังคม ชอบมีปฏิสัมพันธ์ ดังนั้นเราจึงเห็นมันอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่บ้าง เล็กบ้าง กลุ่มก้อนนี้ตามภาษาโลมาเรียกว่า pod ซึ่งมีขนาดและประเภทสมาชิกในครอบครัวแตกต่างกันไปหลายรูปแบบ เอาแน่เอานอนไม่ได้ แล้วแต่ว่าเป็นโลมาชนิดไหน บางครั้งอาจเห็นโลมาหลายเจเนอเรชันอาศัยอยู่ร่วมกัน ช่วยดูแล อบรมสั่งสอนกัน มีลูกน้อยว่ายคลอเคลียไปกับแม่ โดยมีพ่อ พี่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา คอยดูแลอยู่ห่างๆ บางครอบครัวอาจมีเฉพาะแม่กับลูกน้อย เพราะโลมาตัวผู้จะออกแนวเพลย์บอยรักสนุก มักจะชิ่งออกจากกลุ่มไปเจ๊าะแจ๊ะสาวบ้านอื่น หรือไม่ก็ติดเพื่อน ไปไหนไปกันกับเพื่อนโลมาตัวผู้ตลอดเวลา
ในบางพื้นที่ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ เราจะพบครอบครัวโลมาหลายครอบครัวอาศัยอยู่ ซึ่งประชากรรวมอาจหนาแน่นถึงพันตัว และในบางสถานการณ์ เช่น ระหว่างล่าเหยื่อ หรือมีฉลามบุกประชิด โลมาหลายครอบครัวจะมารวมก๊วนเป็น super pod ยกพวกไปปฏิบัติภารกิจด้วยกัน เมื่อสำเร็จลุล่วงแล้ว ก็จะแยกย้ายกลับไปบ้านใครบ้านมัน
ฮาเร็มแห่งรัก
ฮาเร็มของสิงโตหนุ่ม
ภาพจาก https://mbutamassee.afrikblog.com
จ้าวป่าอย่างสิงโต ใช้ชีวิตอยู่รวมกันเป็นครอบครัว แตกต่างจากสัตว์อื่นในตระกูลเสือและแมว ในครอบครัวสิงโตมักจะมีสิงโตตัวผู้แค่หนึ่งถึงสองตัว ที่เหลือเป็นตัวเมียและลูกๆ หน้าที่เตรียมอาหารเป็นของสิงโตตัวเมีย ถ้ามันล่าเหยื่อขนาดใหญ่ได้ นางสิงโตจะลากเหยื่อมาแบ่งปันกับตัวอื่นๆ ในครอบครัว ในยามที่ท้องแก่ใกล้คลอด แม่สิงโตจะออกจากฝูงไปช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อหาที่สงบและมิดชิดในการคลอดลูก หลังจากผ่านไป 3 เดือนแม่สิงโตจะพาลูกน้อยกลับมาบ้าน ถึงตอนนี้สิงโตตัวเมียตัวอื่นๆ ก็จะมาช่วยกันเลี้ยงดูลูกสิงโตโดยไม่เกี่ยงงอนว่าเป็นลูกใคร แม้ว่าสิงโตตัวผู้ไม่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกโดยตรง แต่พวกมันมีหน้าที่แบบแมนๆ คือลาดตระเวน สอดส่อง ป้องกันอันตรายให้กับลูกๆ และฝูงอย่างเข้มแข็งตลอดเวลา
แม่ลูกจิงโจ้แดง
ภาพจาก https://worldkings.org/
จิงโจ้แดงแห่งออสเตรเลีย อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเช่นกัน เฉลี่ยประมาณ 10 ตัว โดยในกลุ่มนั้นมีตัวผู้จ่าฝูง บรรดาภรรยา และลูกเด็กเล็กแดง บางครอบครัวอาจมีตัวผู้ลูกกระจ๊อกอีกตัวสองตัว ในบางพื้นที่ อาจพบจิงโจ้แดงหลายครอบครัวอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันถึงพันตัว จิงโจ้แดงพร้อมผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี ไม่เป็นฤดูกาลเหมือนสัตว์บางชนิด ตัวผู้ต้องคอยสังเกตดูความพร้อมของตัวเมียในฮาเร็มเอาเอง
แม่จิงโจ้แดงถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง มันตั้งท้องทุกวัน ยกเว้นวันที่คลอดลูก นั่นแปลว่าอะไร? หลังจากคลอด ลูกจิงโจ้แรกเกิดจะไต่เข้าไปในกระเป๋าหน้าท้องของแม่เพื่อดูดนม ในขณะนั้น แม่จิงโจ้แดงสามารถตกไข่และพร้อมผสมพันธุ์ใหม่ได้เลย ซึ่งหากมีการปั๊มลูกเกิดขึ้น แม่จิงโจ้ใช้เวลาตั้งท้องประมาณเดือนนึง ตัวแรกยังไม่ทันโต อีกตัวที่คลอดออกมา คงถูกเหยียบตายในกระเป๋าหน้าท้องเป็นแน่ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา แม่จิ้งโจ้แดงมีทางออก มันสามารถฟรีซตัวอ่อนในครรภ์ไว้ก่อน เพื่อรอให้ลูกตัวแรกโตและออกมาใช้ชีวิตอยู่นอกกระเป๋าได้อย่างสมบูรณ์ ถึงจะค่อยคลอดตัวต่อไป ซึ่งกินเวลาประมาณ 6-8 เดือน แล้วพอคลอดน้องสองออกมา ก็อาจมีน้องสามแช่แข็งรอคลอดอยู่ในครรภ์ด้วยก็ได้ สำหรับอาหารการกินก็ไม่ใช่ปัญหาอีกเช่นกัน เพราะแม่จิงโจ้แดงมีนม 4 เต้า และสามารถผลิตนมสองชนิด ที่เหมาะกับลูกน้อยทั้งสองวัยได้ด้วย
หลายครอบครัว หลายเรื่องราว ในโอกาสต่อไปเรายังมีตัวอย่างครอบครัวสัตว์อีกหลายชนิดมาชวนให้ทึ่ง ซึ้ง รั่ว กันอีก แล้วพบกันเมื่อมีโอกาสค่ะ
แหล่งที่มา
https://animal.discovery.com/fansites/mostextreme/mostextreme.html
https://arkive.org
https://animals.nationalgeographic.com/animals/
ขอขอบคุณ ดร.ประทีป ด้วงแค และ ดร.ยอดชาย ช่วยเงิน สำหรับข้อมูลและช่วยตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ