ม.มหิดล เดินหน้าคิดค้น’ยาต้านปรสิต’ตัดวงจรวิกฤติของปรสิตดื้อยา

การดื้อยาของปรสิตเป็นวิกฤติหนึ่งของวงการสาธารณสุข ส่งผลให้ทางเลือกในการใช้ยาลดลง

จึงได้นำไปสู่ความพยายามในการค้นคว้า “ยาต้านปรสิตชนิดใหม่” เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาต้านปรสิตชนิดใหม่ โดยให้ผลเป็นที่น่าพอใจเมื่อทดสอบในสัตว์ทดลอง และกำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอสิทธิบัตร

รองศาสตราจารย์ ดร.อรภัค เรี่ยมทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีผลงานวิจัยด้านเทคนิคเคมีวิเคราะห์ (Mass spectrometry) และเทคโนโลยีการศึกษาสิ่งมีชีวิตโดยอาศัยข้อมูลของโปรตีนองค์รวม (Proteomics) รวมกว่า 100 เรื่อง

และเป็นเบื้องหลังการคิดค้นนวัตกรรมดังกล่าว ได้อธิบายถึงวิกฤติดื้อยาของเชื้อปรสิต ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม หรืออาจมาจากการติดเชื้อดื้อยา จากสัตว์สู่คน การติดเชื้อดื้อยาทำให้การรักษาผู้ป่วยยากยิ่งขึ้น มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เกิดพิษและผลข้างเคียงมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

นอกจากนี้ยังเป็นเบื้องหลังของการต่อยอดการวิจัยด้าน Proteomics โดยได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และนักวิจัยของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานวิจัย โดยได้ฝึกคิด และร่วมวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการวิจัยร่วมกัน

ตลอดจนได้เปิดโลกวิจัยนอกห้องเรียนสู่ระดับนานาชาติ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาและนักวิจัยได้ทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นคู่ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ Oxford University สหราชอาณาจักร และ Osaka University ประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนได้เดินทางไปร่วมแสดงผลงานและสร้างเครือข่ายวิจัยในงานประชุมวิชาการในประเทศต่างๆ

จากผลงานที่ผ่านมาประกอบกับความมุ่งมั่นทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.อรภัค เรี่ยมทอง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่าง จากสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ประจำปี 2566

ซึ่งหากงานวิจัย “ยาต้านปรสิต” สามารถทำสำเร็จจนถึงปลายน้ำก็จะสามารถช่วยแก้ไข-ปัญหาโรคติดปรสิตดื้อยา เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author