ม.มหิดล ต่อยอดผลิตยาแอนติบอดีจากเซลล์พืชสาหร่ายลดอาการรุนแรงไวรัสไข้เลือดออก

          ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เคยมีรายงานการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่ที่สุดว่า เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยมีจำนวนผู้ป่วยมากถึงกว่า 170,000 ราย เสียชีวิตกว่า 1,000 ราย หลังจากนั้นก็ยังคงมีการระบาดอยู่เรื่อยๆ

          เช่นเดียวกับมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกในเขตร้อนชื้น ที่พบโรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” ในปัจจุบัน และได้นำไปสู่อาการรุนแรงของโรคจากปรากฏการณ์ “ADE – Antibody-dependent Enhancement” หรือการติดเชื้อไวรัสซ้ำทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิต

          ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยแอนติบอดี และหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึง “ปรากฏการณ์ ADE” ว่าเป็นอาการรุนแรงของโรคไข้เลือดออกที่เกิดขึ้นหลังอาการไข้สูง โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีซ้ำด้วยสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้มีเซลล์ที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และเกิดเลือดออกทั่วร่างกายจากโปรตีน NS1 ของไวรัส

          โจทย์ดังกล่าวได้นำมาสู่การคิดค้นยาแอนติบอดีตัวใหม่ที่สามารถทั้งยับยั้งไวรัสในช่วงไข้สูง ลดเซลล์ติดเชื้อ และลดการเกิดเลือดออกในช่วงไข้ลด ที่เพิ่งจดสิทธิบัตร และมีบริษัทญี่ปุ่นตกลงลงทุนพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งยาตัวใหม่นี้มีคุณสมบัติดีกว่า ยาแอนติบอดีตัวแรกที่ใช้ยับยั้งไวรัสได้เฉพาะในช่วงไข้สูง ที่มีบริษัทจากอินเดียมาลงทุนพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และจะเริ่มทดสอบในอาสาสมัครในปี พ.ศ. 2567

          ค้นพบโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปานน้ำทิพย์ รามสูต ร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับรางวัลระดับเอเชีย Euglena Award โดยจะได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นในการผลิตยาแอนติบอดีโดยใช้ “Algae System”

          โดยการใส่ DNA ของยีนแอนติบอดีรักษาไข้เลือดออกที่ต้องการลงไปใน “เซลล์พืชสาหร่าย” ทำให้สามารถผลิตยาแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกได้ครั้งละจำนวนมาก ทั้งประหยัดพื้นที่และต้นทุน นวัตกรรมดังกล่าวอยู่ระหว่างการผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ภายใต้การผลิตในระบบโรงงานมาตรฐาน GMP ต่อไปในอนาคต

          ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต กล่าวเพิ่มเติมว่า “ยาแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออก” ตัวใหม่นี้ นอกจากสามารถทั้งยับยั้งไวรัสในช่วงไข้สูงและลดอาการรุนแรงของโรคในช่วงไข้ลดได้แล้ว เมื่อผลิตจากเซลล์พืชจะมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงของโรคจาก ADE

          “Life Below Water” หรือความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตใต้ผืนน้ำ ตามเป้าหมาย SDG14 แห่งสหประชาชาติ อาจต่อชีวิต “Life on Land” หรือชีวิตบนบก ของทั้งมนุษย์ และสัตว์ ตามเป้าหมาย SDG15 ให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้

          มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล สานต่อองค์ความรู้อันเปี่ยมค่านี้ เพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ โดยหวังให้ทุกชีวิตห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก และมีอนาคตที่สดใสจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากสุขภาวะที่ดีต่อไป

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author