กว่า 3 ทศวรรษแล้วที่ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus) ได้รับการค้นพบโดย 3 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจโรคติดเชื้อดังกล่าวอย่างแพร่หลาย ในฐานะโรคซึ่งเป็นมหันตภัยเงียบคร่าชีวิตมนุษย์อย่างไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการในระยะท้าย กับตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลกที่สูงถึง 70 ล้านรายต่อปี และผู้เสียชีวิตถึง 4 แสนรายต่อปี โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใช้รักษาแต่อย่างใด
ดร.กิตติรัฐ กลับอำไพ ผู้ช่วยนักวิจัยระดับปริญญาเอก ประจำศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านโปรตีนรักษาและพันธุวิศวกรรมแอนติบอดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) : รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ดร.กิตติรัฐ กลับอำไพ ผู้ช่วยนักวิจัยระดับปริญญาเอก ประจำศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านโปรตีนรักษาและพันธุวิศวกรรมแอนติบอดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความพยายามที่จะศึกษาวิจัยเพื่อหาหนทางสู่การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยที่ยังศึกษาในระดับปริญญาเอก ซึ่งมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ปรมาจารย์ด้านโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกันเมืองไทย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จนสามารถค้นพบวิธีการผลิต “แอนติบอดีจิ๋ว” และ “แอนติบอดีสายเดี่ยว” ซึ่งสามารถไขปริศนาสู่หนทางยับยั้งไวรัสชนิดดังกล่าวได้จนเกือบเห็นผล 100%
การศึกษาวิจัยเริ่มขึ้นในห้องปฏิบัติการ จากที่ผู้วิจัยได้ค้นพบว่า การใช้แอนติบอดี หรือเซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งได้จากโปรตีนของมนุษย์ เป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่าการใช้ยาซึ่งเป็นสารเคมี และหากใช้แอนติบอดีขนาดใหญ่ แทนที่จะช่วยในการรักษา แต่กลับจะไปคอยกระตุ้นให้ร่างกายติดเชื้อมากขึ้น ผู้วิจัยจึงได้ตัดเอาบางส่วนของแอนติบอดีที่จะสามารถไปจับกับโปรตีนเป้าหมายเพื่อมุ่งผลในการรักษา ซึ่งเป็นที่มาของการใช้ “แอนติบอดีจิ๋ว” และ “แอนติบอดีสายเดี่ยว” เพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเป็นผลงานวิทยานิพนธ์ที่เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสามารถคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) : รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผู้วิจัยได้วางแผนการทำวิจัยว่าจะแล้วเสร็จสามารถผลักดันสู่กระบวนการผลิตภายใน 5 – 10 ปี ปัจจุบันทดลองแล้วได้เห็นผลใกล้บรรลุเป้าหมาย โดยสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ถึงร้อยละ 80 และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Scopus ที่ได้รับการอ้างอิง (citation) อย่างต่อเนื่องแล้วจำนวน 2 เรื่อง
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ในที่สุดโลกจะสามารถค้นพบวัคซีนที่จะสามารถใช้รักษาเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้หรือไม่นั้น ผู้วิจัยได้ชี้ให้เห็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า คือ การตระหนักถึงปัจจัยซึ่งจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไร้การป้องกัน ซึ่งมักพบว่านอกจากอาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV อีกด้วย
และด้วยไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคที่จะไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต โดยเชื้อจะเข้าไปทำลายตับ จนกระทั่งเกิดอาการตับอักเสบ แล้วจบลงด้วยการป่วยเป็นโรคมะเร็งตับได้ในที่สุด จึงควรไม่ประมาท หมั่นเข้ารับการตรวจเลือดประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210