ผู้แทนจาก 30 ประเทศกำหนดสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติเพื่อพลิกโฉมการศึกษาในเอเชียและแปซิฟิก

กรุงเทพฯ วันที่ 19 กันยายน 2567 – ตัวแทนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการศึกษาหลายภาคส่วนจาก 30 ประเทศทั่วเอเชียและแปซิฟิกเห็นพ้องในสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติเพื่อพลิกโฉมระบบการศึกษาและพลิกโฉมเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ทั่วภูมิภาค ข้อแนะนำของผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ สู่การศึกษาสีเขียว การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานโดยครอบคลุมทุกกลุ่มคน การประเมินทักษะด้านการคิดคำนวณและการอ่านออกเขียนได้ ตลอดจนความคิดริเริ่มอื่นที่ออกแบบมาเพื่อเร่งขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 (Sustainable Development Goal 4 – SDG4) ภายในปี 2573

ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำเยาวชน ตัวแทนจากภาคประชาสังคม รวมกว่า 220 คนหารือกันที่การประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการศึกษา 2030 ครั้งที่ 6 (6th Asia-Pacific Meeting on Education 2030 – APMED 6) ซึ่งจัดโดยยูเนสโก ร่วมกับยูนิเซฟ และรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 10 ถึง 12 กันยายนที่กรุงเทพฯ การประชุมนี้จัดขึ้นท่ามกลางวิกฤติการเรียนรู้ในภูมิภาคซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะหยุดยั้งความคืบหน้าต่อการบรรลุ SDG4 หรือเป้าหมายการทำให้ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาคและนับรวมทุกกลุ่มคนภายในปี 2573

ยูเนสโกระบุในผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อช่วงก่อนหน้าในปีนี้ว่ามีนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นไม่ถึงร้อยละ 50 ที่บรรลุสมรรถนะการเรียนรู้ขั้นต่ำในด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ และมีนักเรียนชั้นมัธยมปลายไม่ถึงร้อยละ 40 ที่เรียนจนสำเร็จการศึกษาได้ ขณะเดียวกัน มีผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 25 ถึง 54 ปีในภูมิภาคเพียงร้อยละ 2.5 ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาหรือการฝึกอบรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา

ซูฮย็อน คิม ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ กล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนที่ต้องมีแนวทางแบบองค์รวมที่จะแก้ไขวิกฤตินี้ว่า “ผู้เรียนต้องการมากกว่าความสำเร็จทางวิชาการ ผู้เรียนต้องการการศึกษาที่หล่อเลี้ยงความอยู่ดีมีสุข ให้ผู้เรียนพร้อมมีปฏิสัมพันธ์กับโลกที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น และส่งเสริมความยืดหยุ่นฟื้นตัวเมื่อเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลก ผู้เรียนจะสามารถเติบโตไปได้ทั้งในด้านวิชาการ สังคม และอารมณ์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราลงมือทำ”

จูน คูนูงิ ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ สำนักงานภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวถึงวิสัยทัศน์ร่วมกันของผู้เข้าประชุมว่า เด็กทุกคนในเอเชีย-แปซิฟิก “ไปโรงเรียนและอยู่ในระบบการศึกษา มันคือวิสัยทัศน์ที่เด็กทุกคนได้เดินหน้าตามความใฝ่ฝันและบรรลุศักยภาพที่แท้จริง”

ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนโครงการของยูเนสโกในด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาช้านานผ่าน Funds-in-Trust ของญี่ปุ่น ในการกล่าวเปิดงาน ฮิโรอากิ โมโตมูระ ผู้อำนวยการด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความเข้าใจเรื่อง SDG4 ในภูมิภาคและกล่าวว่าความสนับสนุนที่ญี่ปุ่นให้มาโดยตลอดต่อการประชุม APMED มีส่วนส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคและขับเคลื่อนแรงส่งสู่การบรรลุวาระการศึกษา 2030

ข้อแนะนำที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากเอเชียและแปซิฟิกเสนอใน APMED 6 ยังรวมถึงมาตรการเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้พื้นฐาน การบรรจุเรื่องการศึกษาว่าด้วยภูมิอากาศเข้าไว้ในการศึกษากระแสหลัก การกำหนดกรอบงานสมรรถนะปัญญาประดิษฐ์สำหรับครู การเพิ่มการลงทุนสาธารณะ และการส่งเสริมความเป็นผู้นำของเยาวชน ข้อแนะนำจากเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้จาก APMED ครั้งนี้จะได้รับการเสนอต่อการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต ซึ่งจัดขึ้นโดยสหประชาชาติในเดือนกันยายนที่นครนิวยอร์กและจะได้รับการเสนอต่อที่ประชุมการศึกษาโลก ณ เมืองโฟร์ตาเลซา ประเทศบราซิล ปลายเดือนตุลาคมนี้

ใน APMED 6 ครั้งนี้ ยูเนสโกยังได้เปิดตัวความคิดริเริ่ม SDG4 Navigators (ผู้นำทาง SDG4) เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาคว่าด้วยเรื่อง SDG4 และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดร. บาเอลา จามิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Idara-e-Taleem-o-Aagahi (ศูนย์การศึกษาและความตระหนักรู้) กองทุนทรัสต์สาธารณกุศลที่ปากีสถาน ซึ่งเป็นผู้กล่าวปาฐกถาสำคัญของการประชุม กล่าวว่า “APMED เป็นประจักษ์ถึงความพยายามมุ่งสู่เส้นทางที่ทะเยอทะยานโดยภูมิภาคที่มีความหลากหลายและเป็นที่อาศัยของประชากรโลกร้อยละ 60”

ลักษณะเด่นข้อหนึ่งของ APMED 6 คือการให้ความสำคัญกับมุมมองของเยาวชน โลวันคอร์ ดอตสัน ผู้นำเยาวชนด้าน SDG4 วัย 20 ปีจากประเทศปาปัวนิวกินีและสมาชิกทีมปฏิบัติการเยาวชน (YPAT) แห่งองค์การยูนิเซฟภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า “ฉันเชื่อว่า APMED เป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับฉันที่จะนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ของประเทศของฉันในเวทีระดับโลก และสร้างการเชื่อมต่อในระดับโลกเพื่อสนับสนุนแนวคิดของพวกเรา”

จอห์น ทิโมธี พาลิมา สมาชิก YPAT วัย 25 ปีจากฟิลิปปินส์ กล่าวในปาฐกถาเยาวชนว่า การศึกษาคือ “ความสามารถในการสัมผัสความมหัศจรรย์ ความน่าทึ่ง ศักยภาพในการเติบโตเฟื่องฟูของมนุษย์” เขากล่าวว่าอนาคตของ “เด็กหญิงและเด็กชายมากกว่าพันล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในภูมิภาค คือเดิมพันของการพูดคุยครั้งนี้”


ข้อมูลเพิ่มเติม:

About Author