เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ
วันที่ผมกำลังเขียนบทความฉบับนี้เป็นวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีของการเปิดตัว “เปเปอร์รายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์จระเข้แคระชนิดใหม่ของประเทศไทย” ในวารสาร Zoological Journal of the Linnean Society ซึ่งเป็นวารสารที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในวงการสัตววิทยา
จระเข้นี้ตัวเล็ก เป็นจระเข้แคระ ค้นพบจริง ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่หมวดหินเสาขัว อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ถูกเอามาศึกษาอย่างละเอียดถึง 5 ปี จึงได้สรุปว่าเป็นจระเข้ชนิดใหม่ คำถามคือทำไมเรื่องนี้ถึงน่าสนใจ ? ส่วนตัวแล้วผมไม่เชี่ยวชาญเรื่องจระเข้ งู และสัตว์เลื้อยคลานใด ๆ ขนาดที่ทำงานมีตัวเงินตัวทอง หรือที่เรามักเรียกกันแบบเหมาเข่งว่า น้องบุ๋ยหรือตั่วเฮีย เอ้ยยยย ! ตัวเหี้ย ผมยังแทบจะแยกไม่ออกเลยว่าน้องตัวที่เห็นนั่นเป็นเหี้ยชนิดไหน มังกรดำ เห่าช้าง ตุ๊ดตู่ แลนดอน ตะกวด หรือแค่เหี้ยเฉย ๆ
แต่เอาจริง ๆ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าที่พบบ่อยสุดก็คือน้องเหี้ยธรรมดาหรือเหี้ยลายดอก หรือที่บางคนอาจเลือกเรียกให้ฟังดูแกรนด์นิดนึงว่า “มังกรลายดอก”
และความพิเศษของซากดึกดำบรรพ์นี้ก็คือความสมบูรณ์อย่างน่าทึ่งของมัน จนแทบจะเรียกว่าเป็นระดับมาสเตอร์พีซของวงการจระเข้โบราณ แม้จะเก่าแก่ทนแดดทนฝนอยู่มายาวนานกว่า 130 ล้านปีตั้งแต่ยุคทองของไดโนเสาร์ ทีมวิจัยเผยว่านี่คือซากฟอสซิลจระเข้ที่อาจเรียกได้ว่าสมบูรณ์ที่สุดที่เคยขุดพบในเอเชียเลยทีเดียว
ด้วยความสมบูรณ์สวยงามของซากฟอสซิล นักวิจัยที่นำโดย รศ. ดร.คมศร เลาห์ประเสริฐ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี และ ดร.โยฮัน โปชาต-คอตติลัวซ์ (Yohan Pochat-Cottilloux) จากมหาวิทยาลัยโกลด แบร์นาร์ ลียง เอิง (Université Claude Bernard Lyon 1) ประเทศฝรั่งเศส จึงศึกษาโครงสร้างร่างกายของจระเข้แคระตัวนี้ได้อย่างละเอียด
ฟอสซิลและภาพจำลองของวาราโนซูคัส สกลนครเอนซิส (Varanosuchus sakonnakhonensis)
ที่มาภาพ : “New Cretaceous neosuchians (Crocodylomorpha) from Thailand bridge the evolutionary history of atoposaurids and paralligatorids” by Pochat-Cottilloux et al. (2024), Zoological Journal of the Linnean Society.
อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าน้องตัวไม่ใหญ่ นักวิจัยคาดว่าขนาดตัวโดยเฉลี่ยของจระเข้ชนิดใหม่นี้ไม่น่าจะเกิน 1 เมตร ซึ่งถือว่าเล็กมากถ้าเทียบกับจระเข้น้ำจืดปกติที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป ขนาดน่าจะพอ ๆ กับตัวตะกวดหรืออีกัวน่าตัวใหญ่ ๆ มากกว่า
ถ้าดูรูปร่าง ขาของน้องดูจะกางและเหยียดซึ่งเป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าน้องน่าจะเคลื่อนที่ได้ไวบนบก เป็นไปได้ว่าน้องอาจจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนบกมากกว่าในน้ำ
แต่ที่สำคัญภาพสามมิติจากซีทีสแกน (CT scan) ของกะโหลกของน้องบ่งชี้ชัดว่าน้องมีโครงหน้าที่สั้นทู่ถ้าเทียบกับจระเข้ชนิดอื่น และนั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแม้ว่าน้องจะเป็นจระเข้ แต่หน้าน้องนั้นกลับผิดแผกไปจากเครือญาติสายชาละวัน คือสั้นกว่าตะโขง สั้นกว่าจระเข้ และสั้นกว่าอัลลิเกเตอร์ ดูเผิน ๆ น่าจะกระเดียดไปละม้ายคล้ายสัตว์ตระกูลบุ๋ย (ลายดอก)
ด้วยเหตุนี้น้องจึงได้ชื่อที่ฟังดูเหมือนโดนบุลลีอยู่ตลอดเวลาว่า Varanosuchus sakonnakhonensis หรือ “จระเข้หน้าเหี้ย” แห่งจังหวัดสกลนคร
ด้วยชื่อที่แสนแปลกประหลาดเรียกแขกของน้องทำให้จระเข้หน้าเหี้ยกลายเป็นไวรัลแห่งปี พ.ศ. 2567
จริง ๆ ผมก็แอบคิดว่าถ้าเรียกจระเข้หน้าบุ๋ยจะฟังดูน่ารักกว่านิดนึงไหมนะ
ที่สำคัญน้องหน้าเหี้ยไม่ใช่จระเข้โบราณตัวแรกในไม่กี่ตัวที่เราเจอ แต่เป็นอีกหนึ่งตัวที่เพิ่มเข้ามาในลิสต์ที่แสนยืดยาวในทำเนียบจระเข้และตะโขงสายพันธุ์ไทย ร่วมกับอัลลิเกเตอร์แห่งลุ่มน้ำมูล (Alligator munensis) จระเข้ยักษ์ชาละวัน (Chalawan thailandicus) อัลลิเกเตอร์แห่งกระบี่ (Krabisuchus siamogallicus) ตะโขงกาฬสินธุ์ (Indosinosuchus kalasinensis) และอีกสารพัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพอันน่าทึ่งของประเทศไทยในอดีต
ที่หมวดหินเสาขัว เทือกเขาภูพานนี้นอกจากการค้นพบน้องจระเข้หน้าบุ๋ยแล้ว ก่อนหน้านี้ยังมีการค้นพบซากจระเข้ดึกดำบรรพ์ชนิดอื่น ๆ ที่มีโครงสร้างร่างกายแตกต่างกันอย่างชัดเจน 2 ชนิด ทำให้หมวดหินเสาขัวและเทือกเขาภูพาน ได้รับความสนใจอย่างมากในฐานะแหล่งซากฟอสซิลจระเข้ดึกดำบรรพ์ที่แสนอุดมสมควรแก่การขุดค้นและศึกษา
ว่าแล้วก็แอบคิดนะว่าน้องหน้าเหี้ยก็โดนบุลลีจนเป็นกระแสไปแล้ว จะเป็นไปได้ไหมที่จะปั้นน้องขึ้นมาให้เป็นดาราเหมือนหมูเด้งและผองเพื่อน
ไม่แน่ว่าอาจจะทำให้งานวิจัยบรรพชีวินวิทยาคึกคักขึ้นมาบ้างก็ได้ ไม่มากก็น้อย