ภารกิจ Asian Try Zero-G 2018 ณ ประเทศญี่ปุ่น ตอนที่ 2 (จบ)

เรื่องโดย ไอซี (วริศา ใจดี)


การมาญี่ปุ่นครั้งนี้ ฉันและพี่สาวมีโอกาสชมการทดลองของพวกเราโดยนักบินอวกาศญี่ปุ่น ณ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ผ่านการถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศนานาชาติ อีกทั้งยังได้ชม พิพิธภัณฑ์อวกาศ Tsukuba Space Center และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งชาติของญี่ปุ่น (มิไรคัง) อีกด้วย


 

จำลองการฝึกแบบนักบินอวกาศและชมพิพิธภัณฑ์ JAXA’s Tsukuba Space Center

วันที่สองใน Tsukuba Space Center (JAXA) วันนี้เป็นวันที่เราจะต้องปฏิบัติภารกิจของเรานั่นคือนำเสนอการทดลองที่เราส่งมา ก่อนจะเข้ารับชมถ่ายทอดสดการทดลองของเราจากบนสถานีอวกาศ โดยคุณโนริชิเงะ คะไน โดยในตอนเช้า ทาง JAXA จะมารับพวกเรารวมถึงตัวแทนจากแต่ละประเทศ ไปเยี่ยมชมที่พิพิธภัณฑ์ของ JAXAหรือ JAXA’s Tsukuba Space Center (TKSC) ก่อน

กิจกรรมการฝึก EVA training

ส่วนแรกที่เราจะได้ไปคือ ไปทำกิจกรรมใส่ชุดฝึกของนักบินอวกาศและทดลองฝึกในการฝึกที่มีชื่อว่า EVA training หรือการฝึกจำลองปฏิบัติภารกิจในสภาวะจำลองเสมือนไร้แรงโน้มถ่วงซึ่งในการฝึกสำหรับนักบินอวกาศของจริงนั้นจะต้องทำการฝึกใต้น้ำ ในสระน้ำนอกอาคาร แต่ในวันที่เราไปกัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายสำหรับเด็กๆ ที่ไม่มีประสบการณ์การฝึกจริงมาก่อน เราจึงได้ทดลองทำภารกิจกันในแบบจำลองบนบกที่จะอยู่ในห้องขนาดใหญ่แทน

แบบจำลองนั้นคือโมเดลส่วนหนึ่งของยานอวกาศขนาดเท่าของจริง และมีมือจับพร้อมกับสายยึดกับชุดนักบินอวกาศ โดยก่อนลงไปปฏิบัติภารกิจ ได้มีการตกลงกันในกลุ่มเพื่อนๆ จากประเทศต่างๆ ว่าใครจะทำหน้าที่อะไรกันบ้าง เพราะหลักสำคัญของการเป็นนักบินอวกาศที่ดีคือการมีทีมเวิร์กที่ดี มีความสามัคคี รักษาความเที่ยงตรงแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลา การทำตามขั้นตอนด้วยความระมัดระวัง และข้อสำคัญที่สุดคือการมีทักษะการสื่อสารที่ดี


แบ่งหน้าที่ภารกิจร่วมกับเพื่อนๆ จากต่างประเทศ

โดยจะมีทั้งหมด 3 คนที่ได้ออกไปปฏิบัติงาน ได้แก่ หัวหน้าทีม ผู้ช่วย และคนถ่ายภาพ ส่วนคนอื่นๆ จะรอยู่ในสถานีเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนโดยการติดต่อสื่อสารผ่านเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งจะมีความยุ่งยากอยู่บ้างเนื่องจากเวลาพูดผ่านเครื่องเราจะต้องกดปุ่มค้างไว้ โดยจะพูดได้แค่คนเดียวในแต่ละครั้งเท่านั้น ทำให้ต้องสลับกันพูด และบางทีสัญญาณขาดหายไปทำให้การติดต่อผิดพลาดได้

การทำกิจกรรมฝึกนี้จะมีผู้กำกับที่อยู่บนสถานีคอยส่งคำสั่งการมาให้ลูกทีม 3 คนที่ออกไปปฏิบัติการในอวกาศ เมื่อลูกทีมได้รับคำสั่งนั้นจะต้องตอบรับว่า copy และเมื่อปฏิบัติตามแล้วจนสำเร็จ ให้แจ้งว่า complete หรือถ้าเป็นคำถามที่ต้องการรู้คำตอบ เช่น ไฟที่กะพริบขึ้นเป็นสีฟ้าใช่หรือไม่ ถ้าเป็นสีฟ้าก็ตอบไปว่า confirm พวกเราทำภารกิจเสร็จสิ้นผ่านไปด้วยดีอย่างสนุกสนาน จากกิจกรรมนี้ทำให้พวกเราได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ครบทุกประเทศเลยทีเดียว

พวกเรากับเพื่อนๆ ชาวอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ได้มาร่วมโครงการในปีนี้

เมื่อจบจากกิจกรรมนี้ก็มีการมอบเกียรติบัตรที่แสดงว่าพวกเราได้ผ่านการฝึกในครั้งนี้ ก่อนจะเข้าสู่กิจกรรมต่อไป คือการไปเยี่ยมชมส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับยานอวกาศ จรวดขับดัน กระสวยอวกาศ และดาวเทียมต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น ภายในมีการจัดแสดงข้อมูลพัฒนาการของเทคโนโลยีอวกาศของญี่ปุ่น และเรื่องราวเกี่ยวกับภารกิจทางอวกาศต่างๆ

ภาพภายนอกแบบจำลองห้อง Kibo ที่มีขนาดเท่าของจริง

ต่อมา พวกเรายังได้เข้าชม Japanese Experiment Module (JEM) หรือที่เรียกกันว่า Kibo โดยสร้างแบบจำลองห้อง Kibo เป็นขนาดเท่าของจริงให้พวกเราได้เข้าไปเดินดูภายในนั้น ในห้องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของ International Space Station (ISS) ซึ่งเป็นส่วนห้องทดลองของประเทศญี่ปุ่นที่ส่งขึ้นไปติดอยู่กับสถานีอวกาศนานาชาติ และจะเป็นส่วนที่นักบินอวกาศญี่ปุ่นจะทำการทดลองของพวกเราในวันนี้นั่นเอง

ชมการทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ

พวกเราเข้าร่วมชมการทดลองแบบ real time ที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน Tsukuba Space Center และได้ทดลองจริงไปด้วยเปรียบเทียบกับการทดลองบนอวกาศ

และแล้วในช่วงเย็น ช่วงเวลาสำคัญก็มาถึง กับภารกิจโครงการ Asian Try Zero G 2018 ของพวกเรา เริ่มจากการนำเสนอไอเดียการทดลองที่ได้รับคัดเลือกมาทดลองจริง โดยแต่ละทีมหรือผู้เข้าร่วมในงานนี้ ได้นำเสนอแนวความคิดของตนเอง ซึ่งถ้ารวมการทดลองของเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่นด้วยแล้วจะมีประมาณ 10 การทดลอง หลังจบการนำเสนอแล้วพวกเราทั้งหมดก็ได้ไปยังห้องสถานีควบคุมและติดต่อสื่อสารระหว่างคนบนโลกกับนักบินอวกาศของญี่ปุ่น คือคุณโนริชิเงะ คะไน โดยจะเรียงลำดับการทดลองมาเรื่อยๆ เมื่อถึงการทดลองของใคร ก็จะได้รับอุปกรณ์ที่เหมือนกันกับชุดที่นำขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติให้เรามาประกอบเพื่อสังเกตผลเปรียบเทียบกับผลการทดลองบนอวกาศควบคู่กันไปด้วย

พี่ไอเดีย (คนที่สองจากซ้ายมือ) ร่วมการแถลงข่าวสรุปผลการทดลองและการนำไปใช้

เมื่อรับชมครบทุกการทดลองแล้ว แต่ละทีมก็จะต้องส่งตัวแทนเพื่อไปนั่งแถลงข่าวให้แก่สำนักข่าวต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น เพื่ออธิบายถึงผลการทดลองว่าออกมาเป็นอย่างไร ตรงกับที่ตั้งสมมติฐานหรือไม่ และตอบคำถามของนักข่าวว่าเราจะนำสิ่งที่เราได้รับจากการมาครั้งนี้ กลับไปประยุกต์ใช้หรือต่อยอดเพิ่มเติมอย่างไรได้บ้าง และในการนำเสนอครั้งนี้คุณคิมิยะ ยูอิ (Mr. Kimiya Yui) ก็ได้เข้าร่วมฟังด้วย พวกเรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้พบกับนักบินอวกาศญี่ปุ่นตัวจริง ผู้ทำการทดลอง แนวความคิด Zero-G Painting ของพวกเราเมื่อปี 2558 คุณยูอิบอกว่าพวกเราเก่งมากที่ได้รับคัดเลือกถึงสองครั้ง และคุณยูอิ ก็ได้มอบสติกเกอร์เป็นภาพ flight patch ประจำตัวนักบินอวกาศให้กับพวกเราด้วย

พวกเราถ่ายรูปกับคุณคิมิยะ ยูอินักบินอวกาศญี่ปุ่นผู้ทดลองแนวความคิด Zero G Painting ของพวกเราเมื่อปี พ.ศ. 2558

สำหรับแนวความคิดในการทดลองครั้งนี้ของพวกเรามีชื่อว่า “INSIDE THE SLINKY” เป็นการทดลองเพื่อศึกษาดูการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีน้ำหนักต่างกันภายในสลิงกี้ ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงเพื่อเปรียบเทียบกับบนโลก โดยเราจะออกแรงกระทำในลักษณะที่ต่างกันกับสลิงกี้ที่ภายในช่องว่างถูกบรรจุด้วยลูกบอลทำจากวัสดุต่างกัน และมีน้ำหนักต่างกัน แต่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากัน เช่น จับสลิงกี้ยืดออกในแนวตั้ง ยืดออกในแนวนอน พลิกกลับไปมา แล้วสังเกตดูการเคลื่อนที่ของลูกบอลวัสดุต่างกันคือ ฟองน้ำ ไม้ พลาสติก และลูกเหล็ก ผลการทดลองโดยคุณโนริชิเงะ คะไน

ภาพอธิบายแนวความคิดการทดลอง Inside the Slinky ของพวกเราโดยจับสลิงกี้ยืดออกในแนวตั้ง และยืดออกในแนวนอน

ในครั้งนี้ เราพบว่า ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง น้ำหนักของวัตถุไม่มีผลต่อทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุภายในสลิงกี้ สิ่งที่มีผลคือแรงกระทำจากภายนอกที่กระทำต่อสลิงกี้ ซึ่งผลการทดลองก็เป็นไปตามสมมติฐานที่เราได้ตั้งไว้ สิ่งที่ได้จากผลการทดลองนี้ ทำให้เราสองคนคิดถึงหลักการเคลื่อนย้ายวัตถุจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยออกแรงกระทำที่ท่อนำส่ง วัตถุไม่ว่าหนักหรือเบาก็จะถูกทำให้เคลื่อนที่ได้โดยการออกแรงที่เท่ากันในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง

ภาพการทดลองจริงในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง “Inside the Slinky” โดยคุณโนริชิเงะ คะไน ถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

นอกจากนี้ฉันยังคิดว่าหากมีโอกาสอยากจะทำการทดลองเพิ่มเติมในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงโดยใช้สลิงกี้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ขึ้น และใส่วัตถุที่มีน้ำหนักเท่ากัน แต่มีรูปทรงแตกต่างกันไว้ภายใน เพื่อสังเกตดูการเคลื่อนที่ของวัตถุนั้นๆ ภายในสลิงกี้ว่าจะเหมือนหรือแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร

ชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งชาติของญี่ปุ่น

เสร็จสิ้นภารกิจที่ Tsukuba Space Center แล้ว ก่อนกลับประเทศไทย พวกเราได้เดินทางไปพักที่โตเกียว และมีโอกาสไปชม พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งชาติของญี่ปุ่น หรือ มิไรคัง “National Museum of Emerging Science and Innovation (Miraikan)” ฉันชอบเทคนิคการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องสนุก น่าสนใจ โดยถ่ายทอดมันออกมาผ่านเกม การทดลอง การทำ workshop และดึงเรื่องใกล้ตัวมาอธิบายด้วยหลักการวิทยาศาสตร์ เช่น การทำงานของอินเทอร์เน็ต อธิบายโดยใช้ลูกบอลมาวิ่งตามรางส่ง เปรียบเทียบว่าลูกบอลคือข้อมูลที่เราจะส่งจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยจะมีสะพาน มีประตูกั้น มากระทำต่อลูกบอลแทนปัจจัยต่างๆ เราได้ชมนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์หลายอย่าง และก่อนกลับ เรายังได้ไปชมภาพยนตร์สามมิติในโดม 360 องศา (Dome Theater Gaia) คล้ายกับท้องฟ้าจำลอง แต่นำเสนอในรูปแบบของเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ เกี่ยวกับทฤษฎีของเวลาและมิติ ที่มีชื่อว่า The Man from the 9 Dimensions ซึ่งมีความน่าสนใจและอธิบายทฤษฎียากๆ ให้สนุกน่าติดตาม ลุ้นตามในทุกขณะที่เรารับชมอยู่ รวมถึงเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ยังทำออกมาได้สมจริงและมีมิติตามคอนเซปต์ของภาพยนตร์อีกด้วย

เชิญชวนส่งโครงงานร่วมประกวด


ภาพนักบินอวกาศที่พี่ไอเดียวาดมอบให้คุณโนริชิเงะ คะไน

และนี่ก็คือประสบการณ์ที่พวกเราได้รับทั้งความรู้ และความสนุกสนาน ถ้าหากว่าเพื่อนๆ คนไหนสนใจอยากจะได้รับโอกาสดีๆ อย่างพวกเราบ้าง ก็ติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซต์ของ สวทช. หรือติดตามเฟซบุ๊ก JAXA Thailand อยู่เรื่อยๆ ส่วนเพื่อนๆ ที่เคยส่งแล้วก็อย่าพึ่งท้อใจ ให้พยายามศึกษาแนวความคิดการทดลองที่เคยมีส่งกันในปีก่อนๆ เพื่อไม่ให้ซ้ำที่มีอยู่ โดยสามารถหาดูได้จากเว็บไซต์ของ JAXA และ NASA

ถ้าคิดออกแล้วว่าจะทดลองอะไร แต่ไม่รู้ว่าจะเขียนสมมติฐานยังไง สรุปผลอย่างไง เพราะมันยังไม่ได้ทดลองจริงบนอวกาศ ก็แนะนำว่าให้ลองคิดจินตนาการว่าบนนั้น สภาวะเป็นยังไง พยายามนึกถึงทฤษฎีต่างๆ ในบทเรียนที่เราเคยเรียนมา นึกถึงการทดลองที่เราเคยรู้ เคยทำมา หรือคุยกับคุณครู และเพื่อนๆ ที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน แล้วช่วยกันคิดออกมาเยอะๆ โดยดึงเอาสิ่งรอบๆ ตัวเรา หรือสิ่งที่เราสนใจ มาผลัดกันตั้งคำถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้า…? แล้วเราจะรู้ว่ายังมีคำถามอีกมากมายรอเราอยู่!

พวกเราสองคนขอขอบคุณกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) ที่ได้ร่วมกันจัดทำโครงการ Asian Try Zero-G ให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสนำเสนอแนวความคิด ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอวกาศกับเพื่อนๆ พี่ๆ และผู้เชี่ยวชาญ ในตอนนี้ฉันกับพี่คิดว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีในอวกาศเป็นเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งและทุกคนควรเปิดกว้างในการศึกษาหาความรู้ เพราะอวกาศจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และที่อยู่อาศัยของมนุษย์โลกในอนาคตอันใกล้


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 63 เดือนมิถุนายน 2561
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/142703

About Author