จับตาดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 อาจพุ่งชนโลกในอีก 7 ปีข้างหน้า

เรื่องโดย ปริทัศน์ เทียนทอง


ทั่วโลกต่างจับตามองดาวเคราะห์น้อย “2024 วายอาร์ 4” (2024 YR4) ซึ่งค้นพบเมื่อปลายปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา โดยข้อมูลล่าสุดจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) บ่งชี้ว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีโอกาสที่จะพุ่งชนโลกในอีก 7 ปีข้างหน้า ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2575

“2024 YR4” เป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดกลาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40-90 เมตร คาดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยประเภทหิน เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 46,800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือประมาณ 13 กิโลเมตรต่อวินาที เส้นทางการโคจรของมันตัดผ่านวงโคจรของโลกจึงมีความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลกได้ในอนาคต ถึงแม้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างต่ำ คือประมาณ 3.1% ก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงติดตามและศึกษาดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อย่างใกล้ชิด เพราะหาก 2024 YR4 พุ่งชนโลก มันจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง โดยอาจทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ แผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิ

ปกติแล้วผลกระทบที่เกิดกับโลกจะรุนแรงขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับขนาด องค์ประกอบ และสถานที่ที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน นักวิทยาศาสตร์จากนาซาและหน่วยงานอวกาศอื่น ๆ ทั่วโลกกำลังติดตามและศึกษาดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 อย่างใกล้ชิด เพื่อคาดการณ์เส้นทางการโคจรของมันได้อย่างแม่นยำ และเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีและวิธีการต่าง ๆ ในการป้องกันโลกจากภัยคุกคามจากดาวเคราะห์น้อย ทั้งการใช้ยานอวกาศพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยเพื่อให้เปลี่ยนเส้นทางการโคจร การใช้ระเบิดนิวเคลียร์เพื่อทำลายดาวเคราะห์น้อย เป็นต้น

ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ GISTDA

ด้าน ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“แม้ว่าโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะพุ่งชนโลกจะอยู่ที่ประมาณ 3.1% ซึ่งถือว่ายังต่ำอยู่ แต่เนื่องจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้นอาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง นานาชาติรวมถึงประเทศไทยจึงยังคงเฝ้าติดตามและศึกษาวงโคจรของมันอย่างใกล้ชิด ในกรณีพุ่งชนโลกจริง พลังงานที่ปลดปล่อยออกมาอาจเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดมหึมาในกรณีที่พุ่งชนบนบก หรืออาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิหากตกลงในมหาสมุทร อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่แท้จริงจะขึ้นอยู่กับพิกัดที่ตก องค์ประกอบของดาวเคราะห์น้อย และมุมพุ่งชนโลก

หากมีแนวโน้มที่ชนโลก แนวทางการมาตรการป้องกัน โดยการใช้เทคนิคเบี่ยงเบนวงโคจรซึ่งมีเคยมีการทดสอบจริงมาแล้ว ตัวอย่างเช่น ภารกิจ Double Asteroid Redirection Test (DART) โดยเป็นการดำเนินการของ NASA และ ESA จุดประสงค์ คือ การทดสอบเปลี่ยนวงโคจรดาวเคราะห์น้อยโดยการใช้ยานอวกาศพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยเพื่อเปลี่ยนทิศทาง ทั้งนี้ GISTDA มีการติดตามและทำงานร่วมกับหน่วยงานอวกาศระดับโลกเพื่อติดตามข้อมูลของดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 อย่างใกล้ชิด และเผยแพร่ข้อมูลอัปเดตให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะ หากมีความเสี่ยงที่จะกระทบประเทศไทย ทาง GISTDA จะดำเนินการแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันและบรรเทาสถานการณ์


ข้อมูลอ้างอิง:

About Author