ดูแลตนเองอย่างไรให้ห่างไกล “มะเร็ง”

          “โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย (DNA) หรือสารพันธุกรรมในร่างกายที่มีการแบ่งตัวผิดปกติ และกลไกการซ่อมแซมของร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ จนเกิดเซลล์ที่มีความผิดปกติซ้ำ ๆ เกิดขึ้น และเมื่อระยะเวลาผ่านไปเซลล์เหล่านี้จะเกิดการแบ่งตัวจนควบคุมไม่ได้กลายเป็นเซลล์มะเร็งเกิดขึ้น ซึ่งความรุนแรงขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเกิดโรค โดยสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งทั่วไป สามารถจำแนกได้ 3 สาเหตุ ดังนี้

  1. ตัวเรา – เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นมาแต่กำเนิด การติดเชื้อไวรัส เช่น ตับอักเสบบี, ไวรัส HPV และไวรัส HIV เป็นต้น
  2. สภาพแวดล้อม – การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด เช่น ฝุ่น PM 2.5, ควันบุหรี่มือสอง, มลพิษจากการประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม และการสัมผัสสารเคมีหลายชนิด เป็นต้น
  3. พฤติกรรมของบุคคล – การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การไม่ป้องกันตนเองจากแสงแดด, การรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่าง, การรับประทานอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และภาวะโรคอ้วน

          ในชีวิตประจำวันของเรามีสารมากมายที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในร่างกาย หากได้รับสารหรือสัมผัสสารเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน เช่น สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) จากเชื้อราในถั่วลิสง สารเฮทเทอโรไซคลิก เอมีน (Heterocyclic Amines; HCAs) ในอาหารประเภทปิ้งย่างไหม้เกรียม สารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ในอาหารที่ทอดหรืออบด้วยความร้อนสูง เช่น มันฝรั่งทอด ขนมปังกรอบ โดยเฉพาะน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหารซ้ำเกิน 2 ครั้ง จะมีสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการแตกตัวของน้ำมันที่เสื่อมสภาพ สารไนเตรต–ไนไตรต์ (Nitrate-Nitrite) หรือสารเร่งเนื้อแดง ในผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ ไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม กุนเชียง ฯลฯ สารออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) จากสารกำจัดแมลงที่ปนเปื้อนมากับผัก ผลไม้ และสารแอซีทาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) จากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณสูง สารเหล่านี้เมื่อมีการสะสมในร่างกายในปริมาณที่สูงขึ้นจนทำให้ร่างกายขับออกไม่ทันและจะเข้าไปทำลาย DNA ในร่างกายรวมถึงกระตุ้นเซลล์มะเร็งต่าง ๆ ในร่างกายให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา เล็กดำรงกุล
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา เล็กดำรงกุล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สารก่อมะเร็งต่าง ๆ ผสมผสานอยู่แทบทุกส่วนในชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้น วิธีการที่จะช่วยหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งเหล่านี้เราสามารถทำได้โดย ปรุงอาหารรับประทานเอง ใช้วัตถุดิบที่ไม่มีสารก่อมะเร็งทดแทน ล้างผักผลไม้ให้ถูกต้องตามกรรมวิธี เลือกซื้อผักและเนื้อสัตว์จากแหล่งที่ปลอดภัยจากสารพิษ รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนที่เป็นต้นทางในการผลิตอาหาร เช่น การปลูกผักแบบปลอดสารพิษ หรือเลี้ยงสัตว์แบบปลอดสารเคมี นอกจากนี้ การควบคุมน้ำหนัก การตรวจเต้านมด้วยเอง การตรวจมะเร็งปากมดลูก การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร และฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามกำหนด ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ทั้งนี้ เราสามารถสังเกตอาการของตนเองในเบื้องต้นได้ด้วยสัญญาณอันตราย 7 ประการ ที่บ่งชี้ว่าอาจจะมีโอกาสเสี่ยงโรคมะเร็ง ได้แก่ 1) ระบบขับถ่ายมีการเปลี่ยนแปลง มีอาการท้องผูก ท้องเสียง่าย 2) เป็นแผลแล้วหายยาก 3) มีสารคัดหลั่งไหลตามรูทวารของร่างกาย 4) คลำพบก้อนเนื้อ ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย 5) รับประทานอาหารได้ยากขึ้น เช่น กลืนยาก แน่นท้อง 6) ไฝ หูด ที่มีสีเข้มขึ้น มีเลือดไหลออกมา 7) มีอาการไอผิดปกติ เจ็บคอ เสียงแหบ หากมีอาการตามที่กล่าวมานี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

          วิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในปัจจุบันจะใช้วิธีการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษาหรือยามุ่งเป้า โดยแพทย์จะดูแลในส่วนของการรักษาอาการเป็นหลัก ส่วนผู้ป่วยเองต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจควบคู่กันไป ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ ปลา เนื้อ ถั่ว ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อป้องกันกล้ามเนื้ออ่อนแรง หลีกเลี่ยงผักสดและของหมักดอง เช่น ส้มตำ ยำ น้ำพริกต่างๆ รักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อลดความเครียด ก็จะทำให้อาการของโรคดีขึ้นได้

About Author