การเล่น “การ์ดเกม” (Card Game) ถือเป็นหนึ่งใน Passive Recreation ที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยได้มีผลพิสูจน์แล้วว่าดีต่อสุขภาพจิตเพียงใด
อาจารย์ ดร. นายแพทย์กรกฤษณ์ อิ่มวัฒนา อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ”BactoBattle” การ์ดเกมพิชิตโลกจุลชีพ สำหรับนักศึกษาแพทย์ฯ ศิริราช ให้ได้เรียนไปด้วย ได้ผ่อนคลายไปด้วย
จากความสนใจในการเล่นการ์ดเกมเป็นทุนเดิม ประกอบกับความสนใจในโลกแห่งจุลชีพ ซึ่งนับเป็นอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สุด แต่ยิ่งใหญ่ที่สุด จนสามารถค้นพบเคล็ดลับเพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งให้ผลที่ดีกว่าการท่องจำเพียงอย่างเดียว
ด้วยการปล่อยให้สมองได้สร้างแผนที่ทางความคิด ไปพร้อมกับการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งลำพังการท่องจำเพียงชื่อของเชื้อจุลชีพไม่อาจบ่งบอกถึงลักษณะที่ง่ายต่อการจดจำ แต่หากเชื่อมโยงกับโรคที่เกิดขึ้นตามอวัยวะ และระบบต่างๆ ภายในร่างกาย จะทำให้มองเห็นกลไกของการเกิดโรคได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น เชื้อจุลชีพก่อโรคที่เกิดขึ้นภายในลำไส้ จัดเป็นกลุ่มให้จดจำใน 2 ลักษณะ คือแบบ “ขับถ่ายเป็นน้ำ” เช่น เชื้ออหิวาต์ (Vibrio cholerae) และอีโคไล (Escherichia coli) และแบบ “ขับถ่ายเป็นเลือด“ ที่ทำให้ลำไส้อักเสบ และเกิดอาการปวดบิด เช่น เชื้อซาลโมเนลลา (Samonella enterica) และชิเกลลา (Shigella spp.) เป็นต้น หากจำเป็นกลุ่มของการก่อโรคจะทำให้จำได้ง่ายยิ่งขึ้น
แม้นักศึกษาแพทย์จะสำเร็จการศึกษาออกไปทำหน้าที่แพทย์ แล้วต้องพบกับเชื้ออุบัติใหม่อีกมากมายเพียงใด แต่ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเชื้อจุลชีพที่ได้สั่งสมไว้ ยังคงสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการอธิบายการเกิดโรค และนำไปสู่การคิดค้นยาใหม่ๆ ต่อไปได้เสมอ
นอกจากนี้ การนำความรู้เรื่องจุลชีพมาจัดทำเป็นนวัตกรรมสื่อการสอนยังทำให้นักศึกษาแพทย์ได้รับความเพลิดเพลินจากการได้สังสรรค์และท้าทายผลัดกันเป็นผู้ชนะในการหาทางกำจัดเชื้อ และการดื้อยาให้ถูกโรคในเกม
การได้ผ่อนคลายจะช่วยให้สามารถต่อสู้กับ “โรคซึมเศร้า” ซึ่งมักเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่สำคัญซึ่งคอยคุกคามนักศึกษาแพทย์ให้ต้องเผชิญจากความกดดันในการเรียนที่ต้องทุ่มเทอย่างหนักเพื่อการเตรียมตัวเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์พร้อมต่อไปในอนาคต
จากการค้นพบว่าการเป็น “นักศึกษาแพทย์” ที่จะเป็น “แพทย์วิชาชีพ” ซึ่งประสบความสำเร็จได้ต่อไปในอนาคต ไม่จำเป็นต้องเรียนเพียงอย่างเดียว อาจารย์ ดร. นายแพทย์กรกฤษณ์ อิ่มวัฒนา กล่าวว่าได้รับคำปรึกษาที่ดีจาก ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โดย อาจารย์ ดร. นายแพทย์กรกฤษณ์ อิ่มวัฒนา ในขณะนั้นทำหน้าที่แกนนำนักศึกษาแพทย์ศิริราชจัดแข่งขันตอบปัญหาจุลชีววิทยานานาชาติ (Siriraj International Medical Microbiology Parasitology and Immunology Competition : SIMPIC) ซึ่งต่อมาได้จุดประกายให้เกิดการต่อยอดสร้างเป็นนวัตกรรม ”BactoBattle” เพื่อการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
ผลงานนวัตกรรม ”BactoBattle” ได้รับการตีพิมพ์ถึงความสำเร็จของผลการเรียนรู้ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Access Microbiology” แห่งสมาคมจุลชีววิทยาในยุโรป และได้ขยายประโยชน์ออกไปทั่วโลก
ก้าวต่อไป อาจารย์ ดร. นายแพทย์กรกฤษณ์ อิ่มวัฒนา เตรียมพัฒนา ”BactoBattle” ให้ครอบคลุมจำนวนเชื้อจุลชีพก่อโรคที่นักศึกษาแพทย์ควรรู้ตามมาตรฐานแพทยสภาให้มากขึ้น
และจะขยายผลพัฒนาสู่เวอร์ชันอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึง ซึ่งจะเป็นการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติลดโลกร้อน
ตลอดจนช่วยอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาแพทย์สามารถเรียนรู้และเพลิดเพลินกับการ์ดเกมได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์ดิจิทัล ตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG4 เพื่อการศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality) และ SDG12 เพื่อการใช้ทรัพยากรด้วยสำนึกรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production)
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210