ปัญหาจากการใช้ยาสิ้นเปลืองนับเป็นมูลค่าของการสูญเสียของประเทศอย่างมหาศาลในแต่ละปี ส่วนหนึ่งเกิดจากการปฏิเสธยา หรือทิ้งยาเพราะความไม่รู้ หรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับข้อบ่งใช้ในตัวยานั้นๆ ของประชาชน
รองศาสตราจารย์ เภสัชกรธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นแบบอย่างในการทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” เป็นที่พึ่งของประชาชนให้คำปรึกษาปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา
โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 4 เพื่อการศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) ข้อที่ 10 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Reduced Inequality) และข้อที่ 12 เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า (Responsible Consumption and Production)
เพราะ “ยา” เปรียบเหมือน “เหรียญที่มีสองด้าน” หรือ “ดาบสองคม” ต้องใช้ให้ได้ถูกชนิด และถูกขนาดจึงจะได้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด และเกิดความปลอดภัยมากที่สุดด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในกระบวนการพัฒนายาชนิดใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรคนั้น นอกจากจะมุ่งหวังให้เกิดผลการรักษาที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยาอีกด้วย
นอกจากนี้ “ยาที่ดี มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ราคา” เพียงอย่างเดียว แต่จะขึ้นอยู่ที่ “คุณสมบัติเฉพาะ” ของยา แต่ละชนิดเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น กลุ่มยาแก้แพ้ หากเป็นการนำไปใช้เพื่อรักษาอาการน้ำมูกไหลจากโรคหวัด ควรเลือกใช้ยาแก้แพ้ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง จะให้ประสิทธิภาพดีกว่ายาแก้แพ้ชนิดไม่ทำให้ง่วง
แต่หากเป็นการใช้เพื่อรักษาอาการน้ำมูกไหลจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ควรเลือกใช้ยาแก้แพ้ชนิดไม่ทำให้ง่วงนอน จะได้ความปลอดภัยมากกว่าชนิดทำให้ง่วงนอน และยังรับประทานยาเพียงวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้นด้วย
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง คือ “พาราเซตามอล” (paracetamol) ที่ใช้เพื่อรักษาอาการปวด หรือใช้ลดไข้ หาซื้อได้โดยทั่วไปในราคาที่แตกต่างกัน โดยพาราเซตามอลรุ่นใหม่จะมีการพัฒนารูปแบบยาให้ออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้รวดเร็วรูปแบบเม็ดทั่วไป เช่น ปกติจะได้ผลการรักษาภายใน 30 – 60 นาที เหลือเพียง 10 – 15 นาที ซึ่งก็จะมีราคาสูงกว่าด้วย แต่ก็ยังอาจก่อให้ก่ออาการไม่พึงประสงค์ได้ไม่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ ยาบางชนิดยังมีข้อบ่งชี้ในการใช้ได้อย่างหลากหลาย โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของเพศ และวัย แต่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้ของแพทย์ผู้สั่งยาว่า ต้องการให้ออกฤทธิ์ในการรักษาหรือบรรเทาอาการต่อส่วนใดของร่างกาย
ตัวอย่างเช่น “ยาแทมซูโลซิน ไฮโดรคลอไรด์” (tamsulosin hydrochloride) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มปิดกั้นตัวรับแอลฟา (alpha-1 blockers) โดยตัวรับของ “แอลฟา” นี้จะพบได้ที่บริเวณกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะทั้งในเพศชายและหญิง รวมถึงยังพบตัวรับนี้ที่ต่อมลูกหมากในเพศชายอีกด้วย
ดังนั้น ยาในกลุ่มนี้ที่มีฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับแอลฟา จึงสามารถนำไปใช้บรรเทาอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก เนื่องจากภาวะต่อมลูกหมากโตในเพศชายเป็นข้อบ่งใช้หลัก แต่ตัวรับแอลฟานี้ไม่ได้พบเฉพาะที่กระเพาะปัสสาวะเท่านั้น ยังพบได้ที่กล้ามเนื้อหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายอีกด้วย ดังนั้นจึงสามารถนำไปใช้เสริมในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
แต่ยากลุ่มนี้ก็มักจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือดได้ด้วย ที่พบบ่อย คือ อาการหน้ามืด ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า หรือเป็นลมได้
ในบางครั้ง เราจะพบการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยหญิง ซึ่งในผู้หญิงนั้นจะไม่มีต่อมลูกหมาก จึงทำให้เกิดความสงสัยเกิดขึ้นว่า ยานี้ใช้เพื่ออะไร ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ตัวรับแอลฟานั้นพบได้ที่บริเวณกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะ ในเพศหญิงนั้นมักพบกลุ่มอาการปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะลำบาก ใช้แรงเบ่งปัสสาวะมาก ปัสสาวะบ่อย โดยกลุ่มอาการนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุมาก ภาวะเครียด การติดเชื้อ โรคเบาหวาน
การรักษากลุ่มอาการปัสสาวะผิดปกตินี้จำเป็นต้องหาสาเหตุให้พบ และรักษาที่สาเหตุเป็นสำคัญ เช่น หากมีการติดเชื้อ ก็ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ส่วนการใช้ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับแอลฟานั้น มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ยากลุ่มนี้สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการปัสสาวะผิดปกติได้ แต่ก็จะเป็นการใช้ยาเสริมจากการรักษาหลัก และเป็นการใช้ยาที่นอกเหนือจากข้อบ่งใช้หลักของยาดังกล่าวด้วย
รองศาสตราจารย์ เภสัชกรธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ ยังได้กล่าวเตือนทิ้งท้ายเรื่องการรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามจำนวนและวันที่กำหนดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการป้องกันการเกิดเชื้อโรคดื้อยา ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการรักษาภาวะติดเชื้อต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยในอนาคตได้ เพราะมีโอกาสจะทำให้ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดดังกล่าวไม่ได้ผล
นอกจากนี้ ไม่ควรหยุดใช้ยาเอง หากสงสัยว่าจะเกิดอาการข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์จากยาเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อจะได้รับคำแนะนำให้หยุดยา หรือควรรับประทานยาต่อไปได้ รวมถึงแนวทางการจัดการอาการที่เกิดขึ้นดังกล่าวอย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย
ซึ่งการใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพ จำเป็นต้องศึกษาให้ดีก่อนนำมารับประทาน เชื่อมั่นว่าเภสัชกรทุกรายยินดีให้คำปรึกษาโดยเท่าเทียมกัน แต่ควรแจ้งรายละเอียดของยาเดิมที่ได้รับให้ครอบคลุมถึงยาสมุนไพร และอาหารเสริมที่กำลังรับประทานด้วย เนื่องจากสมุนไพร หรืออาหารเสริมบางชนิดอาจส่งผลต่อการทำงานและการออกฤทธิ์ของยาแผนปัจจุบันที่กำลังรับประทานอยู่ได้
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210