‘ชีวภัณฑ์’ อาวุธคู่กายคนทำเกษตรปลอดภัย

เรื่องโดย ปิยพร เศรษฐศิริไพบูลย์
ฝ่ายจัดการความรู้และสร้างความตระหนัก
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)


ศัตรูพืชเป็นปัญหาสำคัญของการผลิตพืชผักที่ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร ศัตรูพืชมีทั้งโรคพืช วัชพืช แมลงศัตรูพืช และสัตว์ศัตรูพืช การจัดการศัตรูพืชทำได้หลายวิธี เช่น วิธีเขตกรรม วิธีกล การใช้สารเคมีหรือสารชีวภาพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น รูปแบบการผลิต (เคมี ปลอดภัย อินทรีย์) องค์ความรู้ ประสบการณ์ กำลังทรัพย์ กำลังแรงงาน


ลักษณะอาการของโรคพืช


การเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มความต้องการบริโภคพืชผักปลอดภัย-อินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กอปรกับเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตตระหนักถึงสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น เกษตรกรจึงมองหาวิธีจัดการศัตรูพืชโดยใช้สารเคมีให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย ‘ชีวภัณฑ์’ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่พูดถึง …สถานี AGRITEC ฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จักกับชีวภัณฑ์และการทำงานถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กันค่ะ

รู้จัก ‘ชีวภัณฑ์’

ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช (biocontrol agents) หมายถึง สิ่งมีชีวิตหรือสารสกัดที่ได้จากสิ่งมีชีวิตที่นำมาใช้กำจัดหรือควบคุมการระบาดของศัตรูพืชได้ แบ่งได้เป็น ตัวห้ำ-ตัวเบียน (predators & parasites) สารจากตัวแมลง (pheromones & kairomones) สารสกัดจากธรรมชาติ (natural products) จุลินทรีย์ต่าง ๆ (microbial biocontrol agents)

ชีวภัณฑ์ที่มาจากจุลินทรีย์ต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย รา ไวรัส เป็นชีวภัณฑ์ที่เกษตรกรคุ้นเคย เช่น ราไตรโคเดอร์มา ราบิวเวอเรีย แบคทีเรียบีที แบคทีเรียบีเอส ชีวภัณฑ์เหล่านี้มีทั้งจำหน่ายในเชิงการค้าและการให้บริการวิชาการจากหน่วยงานรัฐ รวมถึงการถ่ายทอดวิธีการผลิตให้เกษตรกรสามารถผลิตใช้เอง เช่น ราไตรโคเดอร์มา ราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม


เพลี้ยแป้งที่ตายและปกคลุมด้วยราบิวเวอเรีย

ชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มจุลินทรีย์กำจัดเชื้อสาเหตุโรคพืช เช่น ราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma) และแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส หรือบีเอส (Bacillus subtilis) กลุ่มจุลินทรีย์กำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ราบิวเวอเรีย (Beauveria) ราเมตาไรเซียม (Metarhizium) ไวรัสเอ็นพีวี (nucleopolyhedro virus: NPV) แบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส หรือบีที (Bacillus thuringiensis) ไส้เดือนฝอยสไตเนอร์นีมา (Steinernema) หรือ EPN (entomopathogenic nematode)

ชีวภัณฑ์แต่ละชนิดมีความจำเพาะต่อแมลงเป้าหมายหรือโรคพืชต่างกัน และมีกลไกการออกฤทธิ์ต่างกัน การเลือกใช้เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดจึงต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ตั้งแต่รู้จักลักษณะของโรคพืช-แมลงศัตรูพืช วงจรชีวิตแมลง กลไกการทำงานของชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต การออกฤทธิ์จัดการแมลงศัตรูพืชจึงต้องใช้ระยะเวลา ลักษณะการเข้าทำลายแมลงศัตรูพืช วิธีฉีดพ่น เป็นต้น เหล่านี้ต้องอาศัยการสังเกต จดบันทึก และวิเคราะห์ร่วมด้วยเพื่อเลือกใช้ชีวภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยคลายความกังขาของหลายคนว่าทำไมใช้ชีวภัณฑ์แล้วจึงไม่เห็นผล


กลไกการออกฤทธิ์ของไวรัสเอ็นพีวี


หลักการใช้ชีวภัณฑ์ให้ได้ประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีชีวภัณฑ์ที่จำหน่ายเชิงการค้าหลากหลายยี่ห้อและราคา การเลือกซื้อจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลบนฉลากเพื่อสร้างความมั่นใจ สำหรับชีวภัณฑ์ที่ สวทช.พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นั้น สวทช.ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทเอกชนจำหน่ายแล้ว ได้แก่ ราบิวเวอเรีย บัสเซียนา สายพันธุ์ BCC2660 ราเมตาไรเซียมสายพันธุ์ BCC4849 ควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน และไวรัสเอ็นพีวีจำเพาะหนอน 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสเอ็นพีวีของหนอนกระทู้หอม (SeMNPV) ไวรัสเอ็นพีวีของหนอนกระทู้ผัก (SpltNPV) และไวรัสเอ็นพีวีหนอนเจาะสมอฝ้าย (HearNPV)


ข้อควรพิจารณาก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์


ชีวภัณฑ์ที่ไบโอเทค สวทช. พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เอกชนผลิตจำหน่าย

 รู้ใช้ ใช้จริง ใช้ได้ผล

การถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ของ สวทช. นอกจากจะเป็นในรูปแบบเชิงพาณิชย์แล้ว สท.ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้กลุ่มเกษตรกรผลิตและใช้ชีวภัณฑ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งขยายผลไปสู่การพัฒนาเกษตรกรผู้ผลิตชีวภัณฑ์ (บิวเวอเรียและเมตาไรเซียม) ที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองและจำหน่ายให้สมาชิก ช่วยลดต้นทุนการซื้อชีวภัณฑ์สำเร็จรูป

“สารชีวภัณฑ์พวกนี้ดีอยู่แล้ว เอาศัตรูพืชอยู่จนผมมั่นใจ ช้าแต่ชัวร์ การผลิตไม่ได้ยาก ประสิทธิภาพเห็นผลแน่ ๆ ถ้าเราใช้ถูกที่ ถูกเวลา สภาพแวดล้อมเหมาะสม ได้ผลเหมือนกัน” คำบอกเล่าจากชนะพล โห้หาญ ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี อดีตพนักงานบริษัทที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยและอินทรีย์มากว่า 20 ปี พร้อม ๆ กับพัฒนาตนเองและสมาชิกศูนย์ฯ ผลิตบิวเวอเรียและเมตาไรเซียมคุณภาพแบ่งปันให้เกษตรกรในพื้นที่ ราบิวเวอเรียที่ศูนย์ฯ ผลิตได้มีความเข้มข้นของสปอร์ไม่ต่ำกว่า 109 สปอร์ต่อกรัม อัตราส่วนการมีชีวิตรอดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และลดการปนเปื้อนได้ถึงร้อยละ 80

เช่นเดียวกับสุนทร ทองคำ ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลวังท่าช้าง ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลวังท่าช้าง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่ไม่เพียงเห็นความสำคัญของการใช้ชีวภัณฑ์ แต่ยังลงทุนสร้างห้องผลิตราบิวเวอเรียและเมตาไรเซียม หลังจากได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์คุณภาพจาก สวทช. ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ให้ถูกวิธี

“ยิ่งเราทำบ่อยก็ยิ่งเชี่ยวชาญ จะตรวจสอบคุณภาพดูด้วยสายตาก่อน มีความฟุ้งของสปอร์ ไม่มีเส้นใย และทุกรอบผลิตจะส่งตรวจกับ สวทช. มีปริมาณสปอร์ 109 เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับถ่ายทอดจาก สวทช.”

ทักษะและความใส่ใจการผลิตชีวภัณฑ์ของสุนทร ทำให้ได้บิวเวอเรีย เมตาไรเซียม และไตรโคเดอร์มาที่มีคุณภาพและได้รับความเชื่อถือจากคนทำเกษตรอินทรีย์ทั้งในจังหวัดปราจีนบุรีและต่างพื้นที่ที่สั่งซื้อไปใช้งานอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเขายังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้เป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบล และยังเป็นจุดเรียนรู้การผลิตชีวภัณฑ์คุณภาพระดับชุมชนของ สวทช. อีกด้วย

ชนะพลและสุนทรเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่เห็นความสำคัญของการใช้ชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืชในระบบการผลิตแบบอินทรีย์ แต่สำหรับระบบเกษตรปลอดภัยและระบบเกษตรเคมี ชีวภัณฑ์ก็เป็นเครื่องมือที่เข้าไปหนุนเสริมได้เช่นกัน เพื่อลดปริมาณหรือทดแทนการใช้สารเคมีในกรณีที่ศัตรูพืชนั้นดื้อสารเคมีแล้ว ดังเห็นได้จากกรณีสวนกล้วยไม้ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ที่เคยประสบปัญหาการระบาดของหนอนกระทู้หอมอย่างหนัก สร้างความเสียหายมหาศาลต่อการส่งออกกล้วยไม้ของชาวสวน

ด้วยใช้สารเคมีเป็นหลักในสวนกล้วยไม้มาตลอด เมื่อต้องใช้สารชีวภัณฑ์อย่าง “ไวรัสเอ็นพีวี” ศุภิสิทธิ์ ว่องวณิชพันธุ์ เจ้าของสวนกล้วยไม้ส่งออก ย่อมหวั่นใจในประสิทธิภาพ แต่เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น เขาจึงตัดสินใจใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำจาก สวทช. ซึ่งในช่วงเดือนแรกยังไม่ค่อยเห็นผล แต่เมื่อเข้าเดือนที่สอง พบว่าประชากรหนอนลดลง

“ถ้าเปรียบเทียบกับการใช้ยาเคมี ต้องใช้ชนิดที่เจาะจงกับหนอน และถ้าจัดการหนอนไม่อยู่ก็ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ หรือถึงแม้หนอนลดลง แต่ก็ยังต้องใช้ปริมาณเดิม ทำให้ต้นทุนสูงมาก ส่วนไวรัสเอ็นพีวีราคาสูงก็จริง แต่ข้อดีคือ สามารถลดปริมาณการใช้ลงได้เมื่อประชากรหนอนลดลง คนงานจึงไม่ต้องฉีดพ่นบ่อย และที่เห็นชัดคือ ควบคุมประชากรหนอนได้ดีกว่ายาเคมีและไม่เป็นอันตรายต่อคนฉีด ในแง่ของต้นทุนการผลิตจึงลดลงมากกว่าใช้ยาเคมี”

อื่น ๆ อีกมากมายกับ ‘ชีวภัณฑ์’

เรื่องราวของ ‘ชีวภัณฑ์’ ยังมีอีกมากมาย ทั้งในแง่ของรายละเอียดชีวภัณฑ์แต่ละชนิด กระบวนการผลิต หรือเทคนิคการใช้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสื่อต่าง ๆ ที่ สท. ผลิตขึ้น เช่น คู่มือรู้จัก-รู้ใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช, เสวนาออนไลน์ “รู้จัก-รู้ใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชอย่างมืออาชีพ”, AGRITEC Live เคลียร์ ชัด ทุกคำตอบ “ชีวภัณฑ์กำจัดแมลง” หรือตัวอย่างเกษตรกรที่ สท. ได้ทำงานส่งเสริมการผลิตและการใช้ชีวภัณฑ์คุณภาพ ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มและมีประสบการณ์การทำเกษตรที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความต้องการ “ความปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเองและผู้บริโภค” …รอติดตามเรื่องราวของเกษตรกรเหล่านี้ รวมถึง “จุดเรียนรู้การผลิตชีวภัณฑ์คุณภาพระดับชุมชน” ได้ในฉบับต่อ ๆ ไปค่ะ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
คู่มือ “รู้จัก-รู้ใช้ ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช”, สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2565.

About Author