ฐานข้อมูลกลางด้านชีวภาพไขปริศนาโรคแห่งยุคสมัย

          จากความทุกข์ทรมานที่ต้องป่วย หรือติดเชื้อด้วย “โรคแห่งยุคสมัย” จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) หรือโรค COVID-19 ฯลฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเหมือน “คนแปลกหน้า” ที่จู่ๆ ก็มาเคาะประตูบ้าน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นเหมือน “คนคุ้นเคย” ไปโดยปริยาย

          งานวิจัยทางการแพทย์หลายโครงการต้องล้มพับไป เนื่องจากขาดข้อมูลพื้นฐานทางชีวภาพเป็นฐานข้อมูลกลางที่จะนำไปสู่การค้นหาคำตอบที่เพียงพอ ชัดเจน และแม่นยำ ซึ่งฐานข้อมูลทางชีวภาพที่ดีที่สุด คือ ฐานข้อมูลที่สร้างขึ้นมาเองจากประชากรของแต่ละท้องถิ่นเป็นฐานข้อมูลกลาง ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถทำนายโรคได้อย่างแม่นยำแล้ว การมีฐานข้อมูลกลางทางชีวภาพให้ได้ใช้ศึกษาร่วมกันยังเป็นการประหยัดงบประมาณและทรัพยากรอีกด้วย

          ปี 2565 นี้จึงถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของงานวิจัยเพื่อการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำทางด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพอันดับโลก ได้ประสานพลังสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมสร้างฐานข้อมูลชีวภาพเพื่อไขปริศนาโรคแห่งยุคสมัยอย่างจริงจัง

          ความหวังที่จะทำให้ไทยและประเทศเครือข่าย ได้มีฐานข้อมูลชีวภาพเป็นฐานข้อมูลกลางของตัวเอง ซึ่งสามารถใช้วินิจฉัยโรคได้อย่างตรงจุดจะได้เกิดขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดล โดย กลุ่มภารกิจศูนย์ปฏิบัติการด้านชีววิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (ICBS – Integrative Computational BioScience center) ภายใต้สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยชั้นนำของภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และทุนระดับโลก อาทิ จาก Newton Fund สหราชอาณาจักร และทุน Chan Zuckerberg Initiative (CZI) สหรัฐอเมริกา

          ด้วย Single-cell omics technology หรือ “เทคโนโลยีโอมิกส์ระดับเซลล์” ซึ่งเป็นเป็นการวิเคราะห์ในเชิงลึกเพื่อศึกษาโครงสร้างทางพันธุศาสตร์ถึงระดับเซลล์ เชื่อมั่นได้ว่าจะทำให้การสร้างแผนที่ความหลากหลายทางภูมิคุ้มกันโรคของชาวเอเชีย (Asian Immune Diversity Atlas (AIDA) หนึ่งในโครงการระดับโลกที่ชื่อว่า แผนที่เซลล์มนุษย์ (Human Cell Atlas) ไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป และเนื่องจาก “เอเชีย” เป็นทวีปที่ใหญ่ที่สุด และมีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ยังมีข้อมูลทางพันธุศาสตร์ปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับยุโรปและอเมริกา ภารกิจยิ่งใหญ่ในครั้งนี้จะบรรลุผลสำเร็จต่อไปไม่ได้หากไม่มีพันธมิตรจาก 8 ประเทศร่วมด้วยช่วยกันทำให้เกิดขึ้น โดยนอกจากจะมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทยร่วมโครงการวิจัยแล้ว ยังมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน และ รัสเซีย มาคอยเสริมกำลังอย่างแข็งขัน

          ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ระดมสมองนักวิทยาศาสตร์ระดับแถวหน้าที่มากด้วยประสบการณ์ทำวิจัยจากหลากหลายสาขา อาทิ ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หรือ “หมอมานพ” ที่ประชาชนคนไทยทุกคนรู้จักดีในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ และโรคมะเร็งลำดับต้นๆ ของเมืองไทย รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงพรพรรณ มาตังคสมบัติ ชูพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อ และภูมิแพ้ รองศาสตราจารย์ ดร.วโรดม เจริญสวรรค์ อาจารย์นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยโด่งดังและเป็นที่ยอมรับในระดับทวีป จากการคว้ารางวัล Federation of Asian and Oceanian Biochemists and Molecular Biologists Young Scientist Award 2018 และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูมิ สุขธิติพัฒน์ จากภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาพันธุศาสตร์และชีวสารสนเทศทางการแพทย์

          ร่วมเป็นกำลังใจ และติดตามภารกิจครั้งยิ่งใหญ่ สร้างฐานข้อมูลชีวภาพไขปริศนาโรคแห่งยุคสมัย เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับการแพทย์แม่นยำ เพื่อชาวไทย และประเทศเครือข่าย ได้ที่ Facebook: ICBS – Integrative Computational BioScience center, Mahidol University

          รายละเอียดโครงการวิจัยและทุนที่ได้รับ
https://chanzuckerberg.com/science/programs-resources/single-cell-biology/ancestry-networks/immune-cell-atlas-of-asian-populations/

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ออกแบบแบนเนอร์โดย
วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author