“ความกลัว” มักเกิดขึ้นจาก “ความไม่รู้” เช่นเดียวกับเวลาที่ต้องเดินอยู่ในความมืด และเข้าไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน แล้วรู้สึกกลัวว่าจะต้องเดินไปชนอะไรที่ไม่รู้เข้า
“นักสรีรวิทยา” เปรียบเหมือนผู้นำตะเกียงส่องทางเข้าไปในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเปรียบเหมือนดินแดนอันลี้ลับที่รอคอยการค้นพบ จากการศึกษาการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายที่ทำหน้าที่สอดประสานกัน เพื่อทำนายการเกิดโรคที่ซ่อนไว้ หรืออาจไม่มีผู้ใดเคยค้นพบวิธีการรักษามาก่อน เพื่อขจัด “ความกลัว” หรือ “ความไม่รู้” ให้มลายหายไป
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย และอาจารย์ประจำโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นักสรีรวิทยารุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2565 สรีรวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย และอาจารย์ประจำโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นักสรีรวิทยารุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2565 สรีรวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
โดยเป็นผู้ทุ่มเทเวลากว่าทศวรรษในการไขความลับโรคท้องร่วงด้วยศาสตร์แห่งสรีรวิทยา จนสามารถค้นพบกลไกการเกิดโรค และสร้างเป็นโมเดล หรือแบบจำลองจากการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ที่ได้จากผู้ป่วยโรคท้องร่วงในห้องปฏิบัติการ เพื่อทดลองยาใหม่ที่ใช้รักษาได้อย่างตรงจุดเฉพาะราย
จากการค้นพบนี้สามารถตอบคำถามที่ว่า ทำไมแพทย์จึงจำเป็นต้องออกแบบการรักษาให้กับผู้ป่วยไม่เหมือนกัน ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการมีโครงสร้างทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งส่งผลต่อการตอบสนองทางยาที่ไม่เหมือนกันด้วย
ในขณะที่ “โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย”(Genomics Thailand) เพื่อสร้างฐานข้อมูลโครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากรไทยกำลังเดินหน้า การค้นหาวิธีการรักษา ตลอดจนคิดค้นยาใหม่เพื่อให้ผลการรักษาตรงจุดเฉพาะรายก็ดำเนินควบคู่กันไปด้วย
ซึ่งการศึกษากลไกการเกิดโรคท้องร่วงของผู้วิจัย เป็นการดูการทำงานภายในลำไส้ใหญ่ ถึงการหลั่งของ “สารคลอไรด์” ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมอาการท้องร่วง เพื่อแก้ไขปัญหาทางสาธารณสุขที่อยู่คู่ประชากรโลกในเขตร้อน ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคท้องร่วงที่เจริญเติบโตได้ดีในซีกโลกที่มีอุณหภูมิสูงมาช้านาน หรืออาการท้องร่วงที่เป็นผลข้างเคียงของยา หรือพบในโรคเรื้อรังต่างๆ ที่พบได้ในประชากรทั่วโลก
ก้าวต่อไป ผู้วิจัยมุ่งต่อยอดผลการศึกษาสู่การเพิ่มผลผลิต “พริกไทยดำ” ซึ่งได้ค้นพบแล้วว่ามีฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องร่วง และปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมให้เพาะปลูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมการผลิตยาใหม่สนองนโยบาย BCG ของประเทศชาติต่อไป
แม้ปัจจุบันจะยังเป็นเพียงความสำเร็จในห้องปฏิบัติการ แต่ด้วยองค์ความรู้ทางสรีรวิทยาที่นับวันจะยิ่งเพิ่มค่าตลอดเวลาที่ผ่านมาของนักสรีรวิทยารุ่นใหม่ดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท เชื่อมั่นได้ว่า จะสามารถทำให้ความหวังของมวลมนุษยชาติ ที่จะได้เห็นโลก “ตื่นจากความกลัว”
โดยสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงของประชากรโลก และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินอย่างมหาศาลสู่ประเทศชาติ จากการเพิ่มผลผลิต “พริกไทยดำ” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยาใหม่รักษาโรคท้องร่วงที่มีประสิทธิภาพ เสริมกำลังการวิจัยเพื่อให้การรักษาตรงจุดเฉพาะรายเป็นจริงได้ในที่สุดต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210