ระเบิด : มัจจุราชประดิษฐ์

เรื่องโดย รวิศ ทัศคร


          เราต่างเป็นมนุษย์ เราจึงตระหนักกันดีว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ก้าวร้าว แต่ร่างกายอ่อนแอ ไม่มีเขี้ยวเล็บจะไปสู้กับใครเขา ในธรรมชาติเราต้องหาหนทางอยู่รอดจากสัตว์นักล่าต่างๆ ทำให้ต้องพัฒนาอาวุธง่ายๆ ขึ้นทดแทนสิ่งที่ตนเองขาดไปในธรรมชาติ นานวันเข้ามนุษย์ก็รบพุ่งกันเอง ความต้องการพัฒนาอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงจึงตามมาอย่างช่วยไม่ได้

          หนึ่งในประดิษฐกรรมที่เริ่มมาจากความต้องการทำอาวุธ แต่นำมาใช้ในการพัฒนาสังคมมนุษย์ด้วยเช่นกัน คือระเบิดแบบต่างๆ ที่คนเราสร้าง เคยสงสัยไหมครับว่า ระเบิดแบบต่างๆ ที่อยู่เคียงคู่คนเรามาหลายศตวรรษนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

ถ้าจะพูดถึงระเบิด ต้องพูดถึงดินปืนก่อน

          ดินปืนเป็นวัตถุระเบิดเคมีที่ประกอบด้วยส่วนผสมของ กำมะถัน ถ่าน และโพแทสเซียมไนเตรต (ดินประสิว) เป็นวัตถุเคมีที่เป็นสารระเบิดชนิดแรกที่คนเราประดิษฐ์ขึ้น และยังเป็นชนิดเดียวที่มีอยู่จนกระทั่งถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ระหว่าง พ.ศ. 2344-2443)

          หลายคนคงทราบกันว่าดินปืนนั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน เดิมทีนักเล่นแร่แปรธาตุชาวจีนผู้ค้นพบดินปืนตั้งใจจะหายาอายุวัฒนะ จึงค้นคว้าทดลองทางเคมีเรื่อยมา พวกเขาพบตั้งแต่ปี พ.ศ. 1035 แล้วว่าดินประสิวเผาแล้วให้เปลวไฟสีม่วง แต่ครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงดินปืนคือกลางคริสต์ศตวรรษที่ 9 (ระหว่าง พ.ศ. 1344-1443) ในช่วงราชวงศ์ถัง ในคัมภีร์เต๋า “Zhenyuan miaodao yaolüe” โดยสูตรดินปืนที่เก่าแก่ที่สุดที่บันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรคือ เมื่อ พ.ศ. 1587 ในหวู่จิงจงเหยา (Wujing Zongyao) ซึ่งเป็นตำราพิชัยยุทธโบราณฉบับสมบูรณ์ของจีน

          คัมภีร์หวู่จิงจงเหยามีบันทึกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการทำอาวุธในสมัยนั้น ตั้งแต่ธนูเพลิง เครื่องยิงหิน และ “หอกอัคคี” (huo qiang) ซึ่งเป็นเครื่องพ่นไฟโบราณ ใช้ดินปืนเป็นเชื้อเพลิง บังคับทิศทางการระเบิดของดินปืนให้ผ่านออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ โดยเมื่อจุดระเบิดแล้ว วัตถุที่เป็นกระสุน เช่น ลูกศร ชิ้นส่วนโลหะ จะพ่นออกมาจากปากกระบอกไม้ไผ่ ถือว่าเป็นบรรพบุรุษในยุคแรกเริ่มของพวกอาวุธปืน

          คงเพราะเหตุที่ดินปืนมีความสำคัญต่อการศึก ในปี พ.ศ. 1610 จักรพรรดิจีนจึงมีราชโองการระงับการขายดินประสิวรวมถึงกำมะถันให้ชาวต่างชาติ และห้ามมิให้เอกชนทำการค้าเกี่ยวกับสินค้าประเภทนี้ รวมถึงยึดอุตสาหกรรมการผลิตวัตถุระเบิด เช่น ดินปืน เป็นของรัฐ ดำเนินงานโดยรัฐเท่านั้น จวบจนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 (พ.ศ. 1744-1843) จีนจึงเริ่มพัฒนาปืนที่แท้จริงที่ทำจากทองเหลืองหรือเหล็กหล่อขึ้นมาใช้งาน แต่ปืนเริ่มมีปรากฏในโลกตะวันตกในปี พ.ศ. 1847 ซึ่งเป็นยุคหลังจากนั้น

พัฒนาการของระเบิด

          เนื่องจากดินปืนในยุคแรกไม่มีแรงเผาไหม้มากพอที่จะทำให้เกิดการระเบิดที่รุนแรง จึงใช้ดินปืนกับพวกระเบิดควันเท่านั้น แต่ระเบิดในแบบที่ใช้เป็นอาวุธทำลายจริงๆ เริ่มนำมาใช้เมื่อปี พ.ศ. 1764 โดยราชวงศ์จิ้น (หรือต้าจิน) ซึ่งเป็นแคว้นของของชนเผ่าหยูเจิน (Jurchen) มีอำนาจอยู่ทางตอนเหนือของจีนในช่วง พ.ศ. 1658–1777 และเป็นบรรพบุรุษของชาวแมนจู ราชวงศ์จิ้นอยู่ในยุคเดียวกับราชวงศ์ซ่ง ทำสงครามกับเมืองต่างๆ ของซ่ง

          ลูกระเบิดจากกระบอกไม้ไผ่มีใช้ในจีนมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 (พ.ศ. 1544-1643) แต่ระเบิดที่มีเปลือกทำจากเหล็กหล่อและมีดินปืนที่มีแรงระเบิดสูงปรากฏในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 มันได้รับการขนานนามว่า เจิ้นเทียนเล่ย (震天雷) หรือระเบิดฟ้าคำรณ (Thunder-crash bomb) ราชวงศ์จิ้นใช้รบทางเรือกับพวกมองโกล ในปี พ.ศ. 1774 โดยเมื่อราชวงศ์จิ้นยึดเมืองไคเฟิงได้แล้ว พวกมองโกลก็ยังยกทัพมาตีเมืองในปี พ.ศ. 1775 ทัพมองโกลจึงได้ประสบกับอาวุธใหม่ชนิดนี้ของราชวงศ์จิ้น มีบันทึกไว้ว่าเมื่อจุดชนวนแล้ว เสียงระเบิดของมันได้ยินไปไกลกว่า 30 ไมล์ (ประมาณ 48 กิโลเมตร) มีรัศมีระเบิดกินพื้นที่ถึงครึ่งหมู่ (หมู่ (亩) เป็นหน่วยวัดพื้นที่มีค่าประมาณ 666.66 ตารางเมตร หรือราว 0.208 ไร่) และแรงขนาดเจาะทะลุเกราะเหล็กได้ ราชวงศ์ซ่งและพวกมองโกลได้นำระเบิดฟ้าคำรณไปใช้ในการสงครามกับญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 1817 ด้วย

          ในไม่ช้าความรู้เกี่ยวกับอาวุธใหม่ก็ได้แพร่กระจายรั่วไหลผ่านพรมแดนของจีนไป โดยกองทัพมองโกลที่ได้รุกรานดินแดนอื่นๆ ทั้งญี่ปุ่นและทางตะวันตก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ได้พาเอาข่าวคราวเกี่ยวกับอาวุธไปยังดินแดนต่างๆ ด้วย จากอินเดียไปจนถึงยุโรป ขณะที่ทางจีนก็ยังคงพัฒนาสูตรที่เพิ่มดินประสิวให้มากขึ้น ทำให้เกิดการระเบิดที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมถึงออกแบบทั้งลูกระเบิดกระสุนปืนใหญ่ที่ระเบิดได้แบบแรกๆ ของโลก ลูกธนูติดระเบิด และระเบิดแบบต่างๆ ที่น่าเกรงขามมากมาย

          ความรู้เหล่านี้ที่แพร่ไปถึงตะวันออกกลาง ซึ่งรวมถึงซีเรีย อียิปต์ และไปถึงยุโรปในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ต่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 นั้น สะท้อนอยู่ในงานเขียนที่ชื่อ Treatise on Horsemanship and Stratagems of War ของนักเคมีและวิศวกรชาวซีเรียในสมัยโบราณ ชื่อ ฮาซาน อัลรัมมะฮ์ (Hasan al-Rammah) ในปี พ.ศ 1823 เขาได้เขียนถึงส่วนผสมของวัตถุระเบิดเอาไว้ถึง 107 สูตร และเรียกดินประสิวว่า หิมะจีน (Chinese snow)[2]

          นอกจากคิดสูตรดินปืนใหม่หลายชนิดแล้ว อัลรัมมะฮ์ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ชนวนระเบิดชนิดใหม่และที่จุดไฟแบบใหม่สองชนิดในยุคนั้นอีกด้วย แต่ที่เขามีชื่อเสียงที่สุดก็คือเป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดของลูกระเบิดตอร์ปิโดขึ้นเป็นครั้งแรก เขาเรียกสิ่งประดิษฐ์นั้นว่า “ไข่ที่เคลื่อนที่และเผาไหม้ได้” ซึ่งในปี พ.ศ. 2519 บริษัท George Marsden Design Company ได้จำลองรูปร่างของอาวุธชนิดนี้ตามรูปสเกตช์ของอัลรัมมะฮ์ เพื่อมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ National Air and Space Museum ของสถาบันสมิธโซเนียน

          กองทัพต่างๆ ในยุโรปยุคนั้นก็ตื่นตัวที่จะนำเอาดินปืนมาใช้ โดยมีตัวอย่างเป็นภาพวาดชิ้นแรกของอาวุธยิงที่เป็นปืนใหญ่โลหะยุคต้นๆ ที่ชื่อว่า pot-de-fer (ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า หม้อเหล็ก) ซึ่งมีลูกศรขนาดใหญ่ยิงออกมาจากลำกล้องของมัน ซึ่งเขียนเอาไว้ในปี ค.ศ. 1326 โดยบัณฑิตชาวอังกฤษชื่อ Walter de Milemete[2]

           สมัยราชวงศ์หมิงในคริสต์ศตวรรษที่ 14 (พ.ศ. 1844-1943) มีบันทึกถึงการพัฒนาระเบิดชนิดมีสะเก็ดระเบิดขึ้นในตำราทางทหารที่ชื่อ ฮั่วหลุงฉิง (Huolongjing) หรือ คู่มือมังกรไฟ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับอาวุธที่ใช้ดินปืนแบบต่างๆ ในสมัยนั้น ตั้งแต่ดินปืน วัตถุระเบิด หอกอัคคี (เครื่องพ่นไฟแบบโบราณที่ใช้ดินปืน) ลูกระเบิดปืนใหญ่ และปืน รวมถึงทุ่นระเบิดสำหรับใช้ในการรบทางน้ำอีกด้วย สำหรับลูกระเบิดที่มีสะเก็ดนั้นจะบรรจุสะเก็ดระเบิดที่ทำจากเม็ดเหล็กหรือเศษถ้วยชามเซรามิกที่แตกเอาไว้ภายใน เพื่อให้เมื่อระเบิดออกมาแล้ว สะเก็ดจะได้เจาะทะลุผิวหนังและทำให้ทหารศัตรูตาบอดได้

           หลังจากนั้นลูกกระสุนระเบิดและปืนใหญ่ก็พัฒนาเรื่อยมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ปืนใหญ่โลหะสามารถยิงหินหนัก 100 กิโลกรัม ไปได้ไกลราว 1 ไมล์ (ประมาณ 1.6 กิโลเมตร) หรือมากกว่านั้น คริสต์ศตวรรษที่ 15-16 (พ.ศ. 1944-2143) เป็นช่วงที่ปืนใหญ่ได้รับการพัฒนาไปพร้อมกับระเบิด

           สำหรับไทยเราเองก็ผลิตและใช้ปืนใหญ่มาช้านาน มีหลักฐานเป็นปืนใหญ่จากไทยจำนวนสองกระบอกในสงครามที่ชวา ปี พ.ศ. 1857 และในระหว่างสงครามที่นำมาซึ่งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112 โดยปืนใหญ่ที่ไทยเราผลิตในคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีคุณภาพดีมากจนเป็นที่เลื่องลือ อย่างในปี พ.ศ. 2121 พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่กลับต้องเสียกระบวนไปด้วยฤทธิ์ของ “นารายณ์สังหาร” ปืนใหญ่ไทยซึ่งมีอำนาจทำลายล้างรุนแรงเกินกว่าที่พม่าคาดคิดไปมาก หลังจากนั้นไทยกอบกู้กรุงศรีอยุธยาได้และเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2149 ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ โชกุนอิเอยาสึ แห่งญี่ปุ่น ยังส่งสาส์นมาทูลขอพระราชทานปืนใหญ่และไม้หอมไปใช้งาน โดยมอบของกำนัลเพื่อตอบแทนการเจริญสัมพันธไมตรีอันดีเป็นดาบญี่ปุ่นและเกราะรวมถึงปืนคาบศิลาอีกนับร้อยกระบอก[4], [5]

           เนื่องจากความเพี้ยนของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด ในยุคสมัยเดียวกันกับอยุธยานั่นเอง แต่ข้ามฝากไปที่ฝั่งยุโรป ประเทศเยอรมนีก็มีแนวคิดใหม่ ใช้แมวกับนกที่มีจรวดผูกติดเอาไว้บนหลังเป็นหน่วยกล้าตายนำเอาระเบิดไปลุยกับข้าศึก ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือความยาว 235 หน้า ชื่อ Feuer Buech (แปลว่า Fire book) ที่พิมพ์ในปี พ.ศ. 2127 อีกด้วย[6]

          เรื่องราวของระเบิดชนิดต่างๆ ในประวัติศาสตร์ช่วงยุคกลางยังมีอีกมากมาย ทั้งระเบิดมือที่ใช้ในสงครามครูเสด และอื่นๆ แต่การพัฒนาระเบิดสมัยใหม่นั้น คงต้องขอบคุณคุณูปการจากนักเคมีในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่อช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งจะมาเล่าให้คุณผู้อ่านฟังในตอนต่อไป แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ


แหล่งข้อมูล
[1] เทมเพิล, โรเบิร์ต. ต้นกำเนิด 100 สิ่งแรกของโลก-The Genious of China. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554

[2] Lowe, D.B. 2016. The chemistry book : from gunpowder to graphene, 250 milestones in the history of chemistry. Sterling Publishing Co., Inc.

[3] Meyers, S., Shanley, E.S. 1990. Industrial explosives – a brief history of their development and use. J. of Hazardous Materials, 23, 183-201.

[4] https://th.wikipedia.org/wiki/ปืนใหญ่
[5] https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000009074
[6] https://www.dailymail.co.uk/news/article-2268087/Plot-use-cats-birds-bombers-revealed–16th-Century-German-weapons-manuscript.html

About Author