ศูนย์มะเร็ง MD Anderson มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ติดตามศึกษาพฤติกรรมในกลุ่มคนตัวอย่าง พบว่าคนที่เฉื่อยชามีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่ชอบอยู่นิ่งเฉย
นักวิจัยได้ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างราว 8,000 คน ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2556 โดยให้คนกลุ่มนี้พกอุปกรณ์ติดตามความเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างวัน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาซึ่งทำกับคนอเมริกันที่มีอายุเกิน 45 ปีจำนวนกว่า 30,000 คน โดยเฉพาะที่เป็นคนอเมริกันผิวดำและที่อยู่ในรัฐทางใต้ เพื่อหาคำตอบว่าเหตุใดคนกลุ่มนี้จึงมีอัตราเส้นเลือดในสมองอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียความจำ หรือทำให้เป็นโรคหลงลืมมากกว่าคนกลุ่มอื่น
ผลการศึกษาหลังจากที่ติดตามเก็บข้อมูลเป็นเวลาห้าปี ได้พบว่า กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเฉื่อยชา คือชอบอยู่นิ่งๆ โดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้น มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงกว่าคนกลุ่มอื่นถึง 82% ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตัดตัวแปรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุ เพศ หรือสถานะโรคประจำตัวออกไปแล้ว และกลุ่มตัวอย่างที่ว่านี้ก็ไม่เคยมีใครเป็นมะเร็งมาก่อนเลยก่อนเริ่มการวิจัย
แพทย์หญิงซูซาน กิลคริสต์ หัวหน้านักวิจัยของศูนย์มะเร็งที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัสบอกว่า การศึกษานี้นับเป็นครั้งแรกที่บ่งชี้ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างการไม่เคลื่อนไหวร่างกายกับการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง การค้นพบความสัมพันธ์ที่ว่านี้ช่วยเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการนั่งอยู่กับที่ให้น้อยลง และเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น
ทั้งนี้ แพทย์ผู้วิจัยแนะว่า การเปลี่ยนอิริยาบถ อย่างเช่น ลุกขึ้นยืนหรือเดินราว 5 นาทีในทุก ๆ ชั่วโมง หรือการเคลื่อนไหวร่างกายแบบเบา ๆ เช่น การเดินวันละ 30 นาที จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลงได้ราว 8% และการทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายระดับปานกลางถึงระดับเข้มข้น เช่น การถีบจักรยานด้วยความเร็วราว 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การเดินเร็วๆ การเคลื่อนไหวแบบแอโรบิกในน้ำ ไปจนถึงการเต้นรำในจังหวะบอลรูมหรือการเล่นเทนนิส จะช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากมะเร็งลงได้ถึง 31%
ข้อมูลจาก >> https://www.voathai.com/a/cancer-and-movement-ct/5472040.html