“สารสังเคราะห์” ยังคงมีบทบาทสำคัญ แม้กระทั่งยาสามัญประจำบ้านบางชนิดที่ทุกคนต้องรับประทานเวลาเจ็บไข้ ก็ยังต้องผลิตมาจากสารสังเคราะห์
รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี สู้รักรัมย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ ได้กล่าวถึงความปลอดภัยของยาที่ทำมาจากสารสังเคราะห์ว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ “โครงสร้างเคมี” และ “สูตรของยา” ที่ใช้ว่าได้มีการ “ออกแบบ” ให้สามารถออกฤทธิ์ให้ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร และเพียงใด
เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี สู้รักรัมย์ ประสบความสำเร็จจากการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์สารออกซินโดลที่มี “ฟลูออรีนอะตอม”
โดยในเบื้องต้นสังเคราะห์ได้ประมาณ 30 – 40 โครงสร้าง ภายใต้การสนับสนุนจากทุนช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 29 พ.ศ. 2565 มูลนิธิโทเรเพื่อส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “The Journal of Organic Chemistry” เตรียมขยายผลสู่การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพโดยมุ่งเป้าไปที่สารต้นแบบที่มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็ง
ด้วยองค์ความรู้ทางเคมีสามารถช่วยให้ประชาชนปลอดภัยจากผลข้างเคียงของยา จากการศึกษาโครงสร้างของตัวยาซึ่งมีสารสำคัญจากสารสังเคราะห์ที่พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติจำเป็นที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ การละลายน้ำ การดูดซึม การกำจัดออกจากร่างกาย รวมถึงความเสถียรที่จะไม่ส่งผลให้ยาออกฤทธิ์เร็ว หรือช้าเกินไป
หลังจากที่ค้นพบและตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี สู้รักรัมย์ เตรียมขยายความร่วมมือเพื่อต่อยอดงานวิจัย เพื่อเป้าหมายคือสารต้นแบบรักษามะเร็ง ซึ่งการทำวิจัยที่ยั่งยืนจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย และจะเกิดประโยชน์สูงสุด หากทำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของสังคม
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210