ความหวังในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวให้หายขาดเป็นจริงแล้วในปัจจุบัน ด้วยเทคนิคการตัดต่อยีนแม่นยำสูงคริสเปอร์-แคสไนน์ (CRISPR/Cas9) ซึ่งเป็นผลงานรางวัลโนเบลสาขาเคมีและการแพทย์ ประจำปี ค.ศ.2020 ของ Prof.Emmanuelle Charpentier และ Prof.Jennifer A. Doudna ได้พิสูจน์ถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรมในโลกยุคดิสรัปชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมทางแพทย์ว่ามีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติเพียงใด
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย และหัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุ่มเทเวลากว่า 20 ปีเพื่อการศึกษาวิจัยโรคมะเร็งและโรคเลือดในเด็ก จนทำให้ผู้ป่วยเด็กสามารถเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับโลก และหายขาดจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง มองว่า “เซลล์และยีนบำบัด” จะเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สร้างชาติได้ในอนาคต จึงได้ต่อยอดความสำเร็จจากการใช้เทคนิคคาร์ทีเซลล์ (Car-T cells) ซึ่งเป็นการตัดต่อยีนเม็ดเลือดขาวให้มีประสิทธิภาพในการกำจัดเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว สู่การสร้างผลิตภัณฑ์เชิงชีววัตถุ (Biomedical Product) ในรูปแบบของ StartUp ครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน
“นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เราสามารถทำได้อย่างครบวงจรตั้งแต่การคิดค้น จดสิทธิบัตร ไปจนถึงการผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล จากราคาเข็มละประมาณ 15 – 25 ล้านบาท จนเหลือราคาเพียงประมาณ 7 แสนบาท ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษา อีกทั้งยังสามารถนำผลตอบแทนกลับมาต่อยอดพัฒนางานวิจัยให้สามารถขยายผลต่อไปได้อีกด้วย”
“แม้แพทย์ไทยจะรักษาเก่งเพียงใด แต่วงการแพทย์ไทยคงจะก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ หากมหาวิทยาลัยเราไม่ได้สร้างนวัตกรรม ซึ่งหมายถึงความหวังและอนาคตของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่ฝากเอาไว้กับมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง กล่าวทิ้งท้าย
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210