“นักวิจัยอาชีพ” มีที่ยืนหรือไม่ในมหาวิทยาลัย ?

โดย ป๋วย อุ่นใจ


ครั้งก่อนผมแชร์มุมมองพร้อมตั้งประเด็นกระทู้ถามว่า จำเป็นไหมที่อาจารย์ต้องเป็นนักวิจัย ?

เป็นอะไรที่ไม่คาดคิด เพราะหลังจากที่บทความออนไลน์ ก็มีเพื่อน  ๆ พี่ๆ น้อง ๆ ในวงการวิชาการ ช่วยกันแชร์และคิดต่อ เปิดเป็นประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งแน่นอนหลายประเด็นก็จะเป็นเรื่องของนโยบายที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ประเด็นจริยธรรม และความไม่ชัดเจนในเรื่องของภาระงาน (เพราะความเป็นจริงตอนนี้ตำแหน่งอาจารย์ทำงานค่อนข้างจับฉ่าย)

แต่หนึ่งในประเด็นที่ผมชอบและรู้สึกว่าน่าตื่นเต้นและน่าคิดกันต่อก็คือประเด็นที่ท่านศาสตราจารย์ ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ หนึ่งในปราชญ์นักคิดที่มีแนวคิดลุ่มลึกและน่าสนใจที่สุดได้ร่วมต่อยอดและตั้งกระทู้ถามให้คิดต่อ “ถ้าอาจารย์ต้องเป็นนักวิจัย แล้วจำเป็นไหมที่นักวิจัยต้องเป็นอาจารย์ด้วย ?

ประเด็นนี้ ต้องบอกว่ายิงเข้าเป้าความเหลื่อมล้ำของวงการวิชาการในปัจจุบันเข้าเต็ม ๆ เพราะในมหาวิทยาลัยนั้นยังมีอีกตำแหน่งซึ่งก็คือ นักวิจัย ถ้า “อาจารย์” ก็ทำวิจัย แล้ว “นักวิจัย” โดยตำแหน่ง จะไปอยู่ที่ตรงไหน และควรจะต้องสอนให้ความรู้คนรุ่นใหม่เช่นเดียวกับคนที่อยู่ในตำแหน่งอาจารย์หรือไม่

ก่อนไปต่อ ออกตัวก่อนเลยว่า “บทความนี้ไม่วิชาการ” แต่เป็นความเห็นและการเล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์ที่เคยเห็นและเคยประสบมาจากการทำงานในวงการ “วิทยาศาสตร์” นะครับ

ส่วนตัว ผมได้เทรนมาเพื่อเป็นนักวิจัย ตั้งแต่ทำทีสิสทั้งหมดคือ “เน้นวิจัย” ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องการจัดการเรียนการสอนเลย ทีสิสตอนปริญญาเอกก็ทำกับอาจารย์ที่อยู่ในสถาบันวิจัย (ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล) จนกระทั่งหลังปริญญาเอกก็ยังทำอยู่ในศูนย์การแพทย์ในเท็กซัส กับห้องปฏิบัติการแห่งชาติของกระทรวงพลังงาน สหรัฐอเมริกา ในแคลิฟอร์เนีย

จนจับพลัดจับผลูต้องมาเป็นอาจารย์ ถึงได้มีโอกาสมาเรียนรู้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมเอาจากหน้างาน และโชคดีที่มีคอร์สและเวิร์กชอปต่าง ๆ  ที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้

ดังนั้นคำถามที่ว่า “นักวิจัยต้องเป็นอาจารย์ด้วยไหม ?” … จากประสบการณ์ของผมที่ทั้งเรียนทั้งฝึกวิจัยส่วนใหญ่มาจากสถาบันวิจัย คำตอบมันเห็นได้ชัดเจน “แน่นอน นักวิจัยควรต้องสอน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้คนรุ่นต่อไป ไม่ต่างจากอาจารย์

เพราะในความเป็นจริง บทบาทของอาจารย์ในการทำงานวิจัยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนวางกรอบวิจัย วางแผนการทดลอง หาทุน วิเคราะห์ผล ช่วยแก้ปัญหาและโคชชิงนักศึกษาและนักวิจัย เพราะด้วยภาระงานที่หนักหน่วงของการเป็นอาจารย์ การที่จะหาเวลามา get hands dirty ลงมือตะลุยงานวิจัยด้วยตัวเองนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย และนั่นคือสาเหตุที่ในหลายองค์กรการศึกษา อาจารย์สามารถขอลาสอนระยะยาวที่เรียกว่า sabbatical เพื่อทำงานวิจัยได้

และถ้ามองในเรื่องของเทคนิคและความชำนาญในการลงมือปฏิบัติ ผู้ที่อยู่หน้างานจริงมักจะมีความแม่นและทักษะการ “ลงมือ” ทำมากกว่าผู้อยู่เบื้องหลัง (แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นจริงในทุกกรณีนะครับ เพราะอาจารย์บางท่านก็เทพมาตั้งแต่ตอนเรียน อันนั้นก็มี)

นอกจากนี้เพื่อทำงานวิจัยให้สำเร็จลุล่วง หลายครั้งขึ้นกับโพรเจกต์ นักวิจัยจะต้องมีมุมมองที่ข้ามศาสตร์ สามารถบูรณาการองค์ความรู้ แนวความคิด และพร้อมที่จะพลิกแพลงงานวิจัยที่หลุดจากกรอบแนวคิดเดิม ๆ เพื่อให้โครงการบรรลุผล และเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้วงการ

ก็เหมือนกับการที่อาจารย์ควรคิดและทำงานวิจัยนั่นแหละครับ นักวิจัยก็ควรจะมีโอกาสได้สอนนักศึกษา คงน่าเสียดายถ้าจะปล่อยให้ความช่ำชอง ลุ่มลึก และทักษะดี ๆ ที่สั่งสม หล่อหลอมผ่านประสบการณ์ที่ยาวนานของนักวิจัยค่อยๆ สูญหายไปโดยไม่มีคนสานต่อ อย่าลืมว่าทักษะระดับเทพหลาย ๆ อย่างของนักวิจัยอาชีพนี่แหละที่จะเป็น transferable skill หรือทักษะที่จะติดตัวนักศึกษาไปใช้ต่อยอดในการทำงานจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศในสายดีปเทค

แต่ประเด็นก็คือ มีอาจารย์ที่ทำวิจัยแล้ว ยังควรมี “นักวิจัย” กับเขาด้วยไหม หรือจะปล่อยให้นักวิจัยนั้นอยู่กันแต่ในสถาบันวิจัยอย่างเดียว อันนี้น่าคิด ขึ้นกับว่าเราจะมองตำแหน่ง “นักวิจัย” เป็นแบบไหน

อันดับแรกต้องแยกให้ออกก่อนว่า “นักวิจัย” ในมหาวิทยาลัย กับ “ผู้ช่วยวิจัย” ในโครงการ นั้นต่างกัน สำหรับผู้ช่วยวิจัยมีหน้าที่คือทำงานวิจัยเพื่อให้โครงการบรรลุผลสมประสงค์ตามกรอบที่อาจารย์หรือนักวิจัยที่เป็นหัวหน้าโครงการ หรือที่มักจะเรียกกันว่า principle investigator หรือ PI นั้นวางไว้ ก็ในเมื่อรับเงินเดือนจากโครงการ กรอบการทำงานและการทำวิจัยก็จะขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าโครงการ

แต่ทว่านิยามของตำแหน่งนักวิจัยในมหาวิทยาลัย (อย่างน้อยที่เคยพบเจอมาในสถาบันในต่างประเทศ) นั้นแตกต่างไป ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ตำแหน่งนักวิจัยมีที่ยืนที่ชัดเจน…เทียบเท่า “อาจารย์”

เพราะในสถาบันการศึกษาที่ผมเคยเจอ ตำแหน่งอาจารย์จะแบ่งออกเป็นสามสาย สายสอน (teaching track) สายวิจัย (research track) และสายสร้างความก้าวหน้า ผลักดันงานวิจัย (tenure track) ซึ่งอาจารย์จากทั้งสามสายจะร่วมกันทำงาน และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพันธกิจต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้านการสอนและการวิจัย

แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมากที่สุดมักจะเป็นอาจารย์ในสายสร้างความก้าวหน้าและผลักดันงานวิจัยที่เรียกว่า tenure track ซึ่งภาระงานของอาจารย์หรือนักวิจัยในสายนี้มักจะเน้นเรื่องการตะลุยงานวิจัยระดับแนวหน้าของโลก เน้นงานพื้นฐานแบบล้ำ ๆ โหด ๆ แบบที่ตีพิมพ์กันอย่างมากมายในวารสารชั้นนำอย่างวารสาร Nature วารสาร Cell หรือวารสาร Science หรือไม่ก็ทำงานในสายเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมแห่งอนาคต วางรากฐานการพัฒนาและเป็นแกนนำให้ฟากฝั่งอุตสาหกรรมได้ติดสอยห้อยตาม อาจารย์กลุ่มนี้จะดัง แม้จะมีงานสอนอยู่บ้างแต่ก็ไม่เยอะ มหาวิทยาลัยจะชอบเพราะสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยและคอยหาทุนวิจัยจากแหล่งทุนมาให้องค์กรได้หักหัวคิว

แน่นอนพอเป็นมหาวิทยาลัย ที่ขาดไม่ได้คือการสร้างคน นั่นหมายความว่าอาจารย์ในสายที่สองที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสายแรกก็คือ สายสอน พันธกิจของอาจารย์ในสายนี้จะเน้นการเรียนการสอน พวกเขามักเข้าใจความต้องการของผู้เรียนเป็นอย่างดีและมีทักษะในการสอนเป็นเลิศ กลุ่มนี้แม้จะมีงานสอนเยอะมาก แต่ก็ยังคงต้องทำงานวิจัยด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในด้านการพัฒนาแนวคิดและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า pedagogical research แต่ก็มีอาจารย์สายสอนบางคนที่วิ่งขอทุนมาทำงานวิจัยสายโหดแข่งกับสาย tenure ก็มี

สายสุดท้าย… สายวิจัย สายนี้ตอนแรกที่ผมได้ยินก็แอบสับสนเพราะเอาไปปนกับสายแรก ตรงคำว่าวิจัย แต่ในความเป็นจริง ภาระความรับผิดชอบนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อาจารย์ในสายนี้มักมีภาระงานสอนน้อยกว่าสองสายแรก บางคนแทบจะไม่ต้องสอนเลยสักคลาส ซึ่งถ้ามองแล้วน่าจะคล้ายกับบทบาทของนักวิจัยในมหาวิทยาลัย

แม้ว่าชื่อสายจะบอกว่าเป็นสายวิจัย แต่สำหรับอาจารย์ในสายนี้พันธกิจหลักของพวกเขากลับไม่ใช่การทำงานวิจัย แต่เป็นการดูแลควบคุมการใช้งานของเครื่องมือไฮเอนด์ต่าง ๆ และสนับสนุนการทำงานวิจัยในระดับสูง อาจารย์สายนี้มักดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ต่าง ๆ คอยจัดการเครื่องมืองานวิจัยที่มีความซับซ้อนจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์และทักษะขั้นสูง เพราะการทำวิจัย รวมถึงการดูแลและการใช้ครื่องมือวิจัยขั้นสูงมูลค่าหลักสิบหลักร้อยล้านให้ได้งานวิจัยล้ำ ๆ พลิกโลกได้นั้น ผู้ใช้จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการฝึก การเทรนมากกว่าสองสามสัปดาห์…สองสามเวิร์กชอป

อาจารย์ในสายวิจัยนี้จึงมักจะเป็นสายซัปพอร์ตที่นอกจากจะช่วยให้บริการด้านงานวิจัย (แบบคิดเงิน) รวมถึงทำงานร่วมกันกับสาย tenure เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยสร้างชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย และเช่นเดียวกับสายสอน อาจารย์ในสายนี้หลายคนก็เขียนทุนวิจัยของตัวเอง บางคนสามารถทำวิจัยสร้างทีม สร้างกลุ่มวิจัยได้โด่งดังไม่ต่างไปจากสาย tenure

ในด้านงานวิจัย หลายคนอาจจะคิดว่าอาจารย์สาย tenure คืออาจารย์ที่สอนวิจัยให้แก่เด็ก ซึ่งถ้ามองในภาพรวมก็ไม่ผิด แต่ถ้ามองลึกลงไปในกระบวนการ ในเชิงเทคนิค  ผู้ที่สอนงานวิจัยจริง ๆ ให้เด็ก กลับไม่ใช่ตัวอาจารย์เอง แต่มักเป็นผู้ช่วยวิจัยและรุ่นพี่ในห้องแล็บ หรือถ้าเป็นเรื่องการใช้เครื่องมือ ผู้ที่สอนงานจริง ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นอาจารย์สายวิจัยในศูนย์เครื่องมือ

นั่นหมายความว่าบทบาทของอาจารย์สายวิจัยในการพัฒนากำลังคนก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าอาจารย์อีกสองสายเลยแม้แต่น้อย แม้จะไม่ได้ลงไปสอนจริง ๆ จัง ๆ ในคลาส แค่สอนทักษะการวิจัย สอนการใช้งานและการดูแลเครื่องมือผ่านการร่วมวิจัยกับสาย tenure หรือการให้บริการสนับสนุนงานวิจัย

และนั่นคือสาเหตุที่มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องมีอาจารย์สายวิจัยที่แทบไม่สอนเลยอยู่ด้วย จุดนี้น่าสนใจ เพราะถ้ามองเทียบกันจริง ส่วนตัวมองว่าสายวิจัยนี้แหละที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งนักวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยมากที่สุด (ถ้าไม่นับผู้ช่วยวิจัยนะครับ)

และในเมื่อตำแหน่งเป็นอาจารย์ ความก้าวหน้าในอาชีพของสายวิจัยจึงค่อนข้างชัด พวกเขาสามารถขอตำแหน่งขึ้นไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ได้ และที่สำคัญอย่างที่บอกไปก่อนหน้า สามารถขอทุนทำวิจัยตามความสนใจได้ไม่ต่างจากสาย tenure

ย้อนกลับไปมองที่บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในสังคม ถ้ามองว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยคือสถานที่สำหรับเตรียมให้ “นักศึกษา” มีความพร้อมในการเข้าสู่โลกของความเป็นจริงในสังคม การถ่ายทอดทักษะการทำวิจัย และการใช้เครื่องมือจากอาจารย์สายวิจัยนั้นอาจจะมีความสำคัญไม่ต่างไปจากองค์ความรู้ที่มาจากสายสอน และมุมมองด้านงานวิจัยจากสาย tenure เลยด้วยซ้ำ

ดังนั้นหากจะตั้งคำถามว่านักวิจัยจะมีที่ยืนไหม แล้วควรจะต้องสอนมากน้อยแค่ไหนในมหาวิทยาลัย ?  ผมว่าคำตอบคงชัดเจนมากขึ้น

และถ้าวางยุทธศาสตร์ให้ดี อัดฉีด เสริมสรรพกำลังให้ทั้งอาจารย์และนักวิจัยทำงานได้อย่างเต็มที่ ให้ร่วมกันขับเคลื่อนพันธกิจ ทั้งในการขับเคลื่อนงานวิจัย การเรียนการสอน และการบริการสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำว่า “เวิลด์คลาส” (world-class) ก็อาจจะอยู่ไม่ไกล…

About Author