ทิศทางการดูแลสุขภาวะเพื่อชีวิตที่ห่างไกลจากโรค NCDs เปลี่ยนไปตามสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลง แม้ปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่จะไม่มีแนวโน้มลดลง ผู้ป่วยเดิมจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะ “อยู่กับเบาหวาน”
เป็นที่มาของทิศทางการดูแลสุขภาวะผู้ป่วยโรคเบาหวานแนวใหม่ ที่เน้นการติดตามระยะยาวสู่ระดับนโยบาย ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน ริเริ่มโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ ที่ปรึกษาภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้านการสร้าง “สังคมสุขภาพ” ที่ผ่านมา ในฐานะแกนนำ “เครือข่ายคนไทยไร้พุง”
โดยจะเข้ารับรางวัล “มหิดลทยากร” ในงาน 55 ปีวันพระราชทานนาม 136 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 2 มีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ก่อนจะที่ผลักดันประเทศไทยสู่ทิศทางการดูแลสุขภาวะผู้ป่วยโรคเบาหวานแนวใหม่ โดยเน้นการติดตามระยะยาว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG3 สู่การมีสุขภาวะที่ดี (Good Health and Well – being) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ ได้มีบทบาทในการเป็นผู้ชี้นำสังคมไทย
โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังขนาดเส้นรอบเอวควบคู่ไปกับเฝ้าระวังการเกิดโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน จากการพบว่าผู้ที่มีเส้นรอบเอวเกินมาตรฐาน มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
จนได้มาสู่การนำร่องลงทะเบียนผู้ป่วยโรคเบาหวานเพื่อการติดตามระยะยาว ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยที่ผ่านการเก็บข้อมูลมาแล้วกว่า 3,000 ราย เตรียมสรุปผลผลักดันสู่ระดับนโยบายเพื่อการติดตามดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชาวไทยให้มีชีวิตที่ยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ มองว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้วางแนวทางการรณรงค์เพื่อให้คนไทยห่างไกลจากโรคเบาหวานไว้ดีอยู่แล้ว จากการเปิดให้ผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงโรคเบาหวานลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จนได้รับความสนใจเข้าร่วมจากประชาชนทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังได้รับการติดตามจากทั่วโลก เนื่องด้วยปัจจุบันเบาหวานถือ “วาระสุขภาพโลก” ด้วยความภาคภูมิใจในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล “มหาวิทยาลัยผู้นำแห่งสุขภาวะ” พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ สืบสานภารกิจต่อชีวิตผู้ป่วยโรคเบาหวาน ให้ได้เข้าถึงการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่ออยู่เป็นกำลังสำคัญร่วมพัฒนาประเทศชาติสู่อนาคตที่ดีสืบต่อถึงรุ่นลูก-หลานต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210