เรื่อง (ไม่) ลับฉบับกัญชา (แมว)

โดย ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


 

          หลังจากรอคอยกันมาพักใหญ่ ดีเดย์ที่กัญชงจะได้รับการปลดล๊อกกำลังใกล้เข้ามา และนี่อาจจะกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนไทย

ต้นกัญชาแมว หรือตำแยแมว

          แต่บทความนี้ ไม่ได้จะพูดถึง กัญชง แต่อย่างใด แต่จะพูดถึง กัญชาแมว ตำแยแมว หรือ แคทนิป (catnip) พืชที่ทำให้น้องแมวสุดน่ารักฟินนนนน แบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

          เปเปอร์ใหม่ที่พึ่งจะเผยแพร่ออกมาหมาดๆ ในวารสาร Science Advance กลายเป็นที่ฮือฮากันอย่างมากในหมู่ทาสแมว เพราะงานวิจัยจากแดนอาทิตย์อุทัยได้เริ่มที่จะไขปมปริศนาว่าทำไมแมวถึงคลั้งไคล้ต้นกัญชาแมวกันจนถึงขนาดเคลิบเคลิ้มสติหลุด

          และที่จริงแล้ว กัญชาแมวมีประโยชน์อะไรกับพวกมันกันแน่

ดอกกัญชาแมว สีม่วงสดใส

          หลายคนคิดว่าน่าจะมาจากกลิ่นหอมอ่อนๆ สุดรัญจวนของต้นกัญชาแมว ที่ไปละม้ายคล้ายคลึงกับกลิ่นฟีโรโมนของสัตว์ในตระกูลแมว แต่ถ้าว่ากันตามจริงแมวหนุ่มก็น่าจะสนฟีโรโมนจากแมวสาว ส่วนสาวเจ้าก็น่าจะพิศวาสกลิ่นกายจากชายหนุ่ม แต่แล้วเหตุใดทั้งแมวหนุ่มแมวสาวถึงคลั่งไคล้กัญชาแมวไม่ต่างกัน

กลไกกระตุ้นความฟิน

          มาซาโอะ มิยาซากิ (Masao Miyazaki) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยอิวาเตะ (Iwate University) ใช้เวลากว่าห้าปีเพื่อศึกษาถึงกลไกของกัญชาแมวที่ทำให้สัตว์ในตระกูลแมวคลั่งไคล้  เขาพบว่ากลิ่นที่ดึงดูดเหล่าแมวเหมียวนั้นเป็นกลิ่นของสารในกลุ่มอิริดอยด์ (iridoid) ซึ่ง​ที่เจอเยอะในกัญชาแมว คือ “เนเพตาแลคโตน (nepetalactone)”

หน้าตาออดอ้อนของน้องแมวที่ทำให้ทาสแมวต้องยอมไปหากัญชาแมวมาปรนเปรอ

          แต่ในญี่ปุ่น จะมีพืชอีกประเภทที่ส่งผลกับพฤติกรรมแมวได้ไม่ต่างจากกัญชาแมว เรียกว่า ซิลเวอร์ไวน์ (silver vine) – ผมลองเสิร์ชดูเจอว่าในไทยมีขายในชื่อ “มาทาทาบิ”

          ในมาทาทาบิ หรือซิลเวอร์ไวน์ก็มีสารพวกอิริดอยด์เช่นกัน แต่เป็น “เนเพทาแลคตัล (nepetalactol)” ซึ่งสามารถเอามาใช้หลอกล่อแมวได้ไม่ต่างจากกัญชาแมว แมวชื่นชอบสารอิริดอยด์พวกนี้มาก ถ้าเจอจะเข้าไปเลีย ไปไซ้ ไปไถ ไปถู ผลจากการตรวจเลือดแมวที่ได้รับสารเข้าไปพบว่าระดับฮอร์โมนเบต้าเอนออฟินส์นั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

          เบต้าเอนโดฟินท์เป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ร่างกายจะหลั่งออกมาทำให้เข้าสู่สภาวะสุขกายสบายอุรา ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปจับกับโปรตีนตัวรับโอปิออยด์ (opioid receptor) กระตุ้นการทำงานของระบบโอปิออยด์ในเซลล์ในระบบประสาท ทำให้ร่างกายรู้สึกฟิน อาจจะแนวๆ เหมือนเมายานิดๆ เพราะที่จริงยาเสพติดหลายชนิดอย่างฝิ่น มอร์ฟีนหรือเฮโรอีนก็ออกฤทธิ์ผ่านระบบโอปิออยด์เช่นกัน

          การทดลองเอาสารเนเพตัลแลคตัลไปทดลองกับสัตว์ในตระกูลแมวอื่นทั้งแมวป่า (feral cat) แมวลิงซ์ (lynx) เสือดาว (leopard) และจากัวร์ (jaguar) พบว่าไม่ว่าจะแมวเล็กแมวใหญ่ เนเพตัลแลคตัลนั้นได้ผลอย่างชะงัด แต่กับสุนัขและหนู กลับไม่เวิร์ค แม้เพียงนิด!

          เป็นไปได้ว่า แมวและมวลหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่ของพวกมันอาจจะพัฒนากลไกการรับกลิ่นที่จำเพาะต่อเนเพตัลแลคตัลมาแล้ว ผ่านวิวัฒนาการอันเชื่องช้าและยาวนาน

          มาซาโอะเชื่อว่าแค่เพียงทำให้ฟินคงไม่พอ ที่จริงแล้ว มันน่าจะมีเหตุผลที่ดีกว่านี้มาอธิบายว่าทำไมสัตว์ในตระกูลแมวถึงได้คลั่งไคล้ไหลลงกัญชาแมว (และซิลเวอร์ไวน์) ได้มากขนาดนี้ หรือว่า อิริดอยด์ จะมีประโยชน์อื่นที่ทำให้แมวสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดหรือสืบพันธุ์ได้ดีขึ้น

โคโลญจน์สยบยุงของน้องแมว

          กัญชาแมวเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ทาสแมว เพราะเป็นสมุนไพรที่เป็นเลิศในด้านการกระตุ้นความฟินในแมว แต่ทว่าบางคนอาจจะเอามาชงเป็นชา เอามาหมักเนื้อให้นุ่ม หรือแม้แต่เอามาใช้เป็นตำรับยาสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อลดไข้ บรรเทาหวัด ตะคริว และอาการปวดหัวไมเกรน 

          คริส ปีเตอร์สัน นักกีฏวิทยาจากกรมป่าไม้และการเกษตร สหรัฐอเมริกา (US Department of Agriculture Forest Service) ในตอนที่เป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐไอโอวา (Iowa State University) ได้ค้นพบคุณสมบัติพิเศษของสารสกัดกัญชาแมว “เนเพทัลแลคโตน” ในการไล่แมลง

          การทดลองของคริสพบว่า เนเพทัลแลคโตนจากกัญชาแมวสามารถตะเพิดยุงลายให้หลีกหนีหายไปไกลๆ ได้ดีกว่าสาร DEET ที่เป็นองค์ประกอบหลักของยากันยุงที่วางขายกันทั่วไปถึง 10 เท่า แถมการสกัดสารออกฤทธิ์ออกมายังง่ายอีก

          “ถ้าจะสกัดน้ำมันเนเพทัลแลคโตน ห้องปฏิบัติการเคมีธรรมดาในโรงเรียนมัธยมก็น่าจะกลั่นมันออกมาได้ และถ้าอยากเพิ่มปริมาณการสกัดให้ได้เยอะๆ ในระดับอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร” คริสให้สัมภาษณ์

          มาซาโอะ สนใจคุณสมบัติพิเศษนี้ และสงสัยว่า​ เนเพทัลแลคตัล ที่เขาสกัดได้จากต้นซิลเวอร์ไวน์ จะมีฤทธิ์ไล่ยุงได้ เหมือนกับน้ำมันกัญชาแมวหรือไม่

          เขาจึงเอาเนเพทัลแลคตัล ไปหยอดให้น้องแมวในห้องทดลอง ผลเป็นที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะยุงลายจำนวนมากจะพยายามไม่เฉียดใกล้แมวที่หยอดเนเพทัลแลคตัล  แต่กระนั้น ก็ยังพอมีส่วนน้อยที่ยังเข้าไปเกาะน้องแมวอยู่บ้าง

          ที่ทำให้มาซาโอะนั้นตื่นเต้นยิ่งกว่าเดิม คือ การถูไถของแมวไปกับใบกัญชาแมว หรือซิลเวอร์ไวน์ นั้นเพียงพอแล้วที่จะทำให้ยุงหลีกหนีไปอยู่ห่างๆ

          “พฤติกรรมการคลั่งไคล้กัญชาแมวของน้องแมว น่าจะเป็นพฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน” มาซาโอะคาดเดา

          อย่างน้อยก็ไล่ยุงได้ชะงัด!

แมวเป็นสัตว์ผู้ล่า มีฝีเท้าย่องเบา และอาจล่าเหยื่อโดยการซุ่มจู่โจม

          สัตว์ในตระกูลแมว ล้วนเป็นนักล่าที่มีสัญชาติญานในการล่าอย่างเต็มเปี่ยม พวกมันจะย่องอย่างเงียบเชียบ หรือซุ่มซ่อนในพงหญ้าที่รกชัฎเพื่อเตรียมกระโจนเข้าจู่โจมเหยื่อโชคร้ายที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อย่างหวังผล

          กลิ่นหอมของกัญชาแมวบนขนจะช่วยทำให้พวกมันปลอดภัยจากยุงร้าย ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ

          การกระตุ้นตัวรับโอปิออยด์ในระบบประสาท โดยกัญชาแมวน่าจะช่วยทำให้แมวผู้ล่ารู้สึกมีความสุข ฟิน ไม่ต้องคอยสะบัดหัวหู และคอยปัดยุง เหลือบ ริ้น ไร และแมลงชวนรำคาญอื่นๆ  พวกมันจะสามารถซุ่มซ่อนรอล่าอย่างนิ่งสงบได้แม้จะมีแมลงจอมตื้อบางตัวที่ไม่แยแสกลิ่นกัญชาแมว และยังคงทู่ซี้ก่อกวน บินว่อนวุ่นวายอยู่ใกล้ๆ มัน

          ความอดทนอดกลั้นจะทำให้พวกมันล่าเหยื่อได้เหนือกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

          อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการทดลองใดที่จะชี้ขาดว่าแมวจะสนใจฝั่งไหนมากกว่า ระหว่าง กัญชาแมว กับเหยื่ออันโอชะ

บทต่อยอดของความฟินนน น น

          สำหรับการต่อยอด ทั้งคริสและมาซาโอะต่างก็มีไอเดียคล้ายๆ กันคืออยากจะเอาสารสกัดอิริดอยด์จากกัญชาแมวและซิลเวอร์ไวน์มาทดลองทำเป็นโรลออน หรือสเปรย์กันยุงที่สามารถนำมาใช้กับคนได้

          และนี่คงเป็นอีกหนึ่ง ตัวอย่างงานวิจัยต้นน้ำที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นงานวิจัยบนหิ้ง แต่ในความเป็นจริงอาจจะแปรเปลี่ยนผันกลายเป็นนวัตกรรมต่อยอดขึ้นมาให้คนได้ใช้ประโยชน์จริงๆ ในอนาคตกันใกล้

          และเมื่อวันนั้นมาถึง คงไม่ใช่แค่แมวที่จะรู้สึก “ฟิน”!


ดาวน์โหลดบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ที่
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/219927

About Author