ปลาหมึกน่าหม่ำ

เรื่องโดย ชวลิต วิทยานนท์


หรือ หมึก เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในชั้นเซฟาโลพอดส์ (Cephalopods) เราเรียกกันติดปากว่า “ปลาหมึกแม้จะไม่ใช่ญาติสนิทกับปลาด้วย เพราะ แต่นานมาแล้วที่ทุกคนเข้าใจและเรียกสัตว์น้ำหลายอย่างที่ว่ายน้ำหรืออยู่ในน้ำด้วยคำนำหน้าว่า “ปลา” หมึกเป็นญาติกับหอย เป็นสมาชิกในไฟลัมมอลลัสกา (Mollusca) แต่ต่างกันตรงที่หอยส่วนใหญ่มีเปลือกแข็งหุ้มร่างกาย ในขณะที่หมึกส่วนใหญ่ไม่มีเปลือกหุ้มร่างกาย

โครงสร้างภายนอกของหมึกประกอบด้วย หัวและหนวดจำนวน 8-10 เส้น ยื่นออกมาจากรอบปาก หนวดหมึกมีปุ่มดูดและมีเซลล์ประสาทรับความรู้สึกอยู่มากมาย ตาพัฒนากว่าพวกหอย คือ มองเห็นเป็นภาพ หมึกยังมีโครงสร้างพิเศษที่ใช้ในการเคลื่อนที่คือ ท่อน้ำ (siphon) โดยจะหดกล้ามเนื้อในตัวแล้วพ่นน้ำออกมาทางท่อน้ำเพื่อผลักตัวไปในทิศทางตรงข้าม นอกจากนี้ยังมีอวัยวะพิเศษที่ไม่เหมือนใครอีกอย่างคือ ถุงน้ำหมึก (ink sac) ที่บรรจุน้ำหมึกเอาไว้ใช้พ่นใส่ศัตรูเพื่อกำบังกายก่อนหลบหนี คนสมัยก่อนนำน้ำหมึกจากหมึกมาใช้เขียนหรือวาดภาพ แต่ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ในประกอบอาหารบางอย่าง

หมึกแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ดังนี้ กลุ่มหมึกกระดอง (cuttlefish) กลุ่มหมึกกล้วย/หอม (squid) กลุ่มหมึกสาย (octopus) และกลุ่มหอยงวงช้าง (nautilus)

กลุ่มหมึกกระดอง (cuttlefish) รูปร่างลำตัวออกเป็นรูปไข่แบน มีครีบสองข้างที่ปลายลำตัว มีหนวดสั้น (arm) 8 เส้น และหนวดยาว (tentacle) 2 เส้นเช่นกัน มีโครงสร้างภายในเป็นแผ่นหินปูนแข็งสำหรับช่วยพยุงตัวที่เรียกว่า ลิ้นทะเล (cuttle bone) หมึกกระดองเปลี่ยนสีได้เร็ว พรางตัวเก่ง ในประเทศไทยพบประมาณ 20 ชนิด เช่น หมึกในสกุล Sepia สีซีเปียที่เป็นชื่อเรียกสีน้ำตาลอมแดงก็มาจากชื่อของหมึกกระดองนี่เอง

กลุ่มหมึกกล้วย/หอม (squid) รูปร่างยาวรี มีครีบสองข้างที่ปลายลำตัว เคลื่อนที่เร็ว มีหนวดสั้น  8 เส้น และหนวดยาว 2 เส้น ตรงส่วนปลายจะแผ่เป็นกว้าง ใช้จับเหยื่อ ไม่มีเปลือกแต่มีโครงร่างเป็นแผ่นแบนแข็งสีใส (pen) อยู่ข้างในลำตัว ในประเทศไทยพบมากกว่า 40 ชนิด เช่น หมึกกล้วยต่าง ๆ หมึกหอม หมึกเรืองแสง หมึกปีกเพชร และหมึกจิ๋ว (bobtail squid) ที่เป็นหมึกขนาดเล็ก รูปร่างกลม ลำตัวยาวประมาณ 1-10 เซนติเมตร มีหนวดสั้น 8 เส้น และหนวดยาว 2 เส้น เช่น หมึกการ์ตูน หมึกหูช้าง หมึกสกุล Euprymna

กลุ่มหมึกสาย (octopus) หัวเป็นทรงกลม นิ่ม ไม่มีโครงแข็ง มีหนวดสั้นขนาดเท่า ๆ กัน 8 เส้น ไม่มีหนวดยาว 2 เส้นเหมือนหมึกกล้วยและหมึกกระดอง เป็นอินโทรเวิร์ตชอบอาศัยอยู่ลำพัง ไม่อยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูงเหมือนหมึกกล้วย หมึกกระดอง ในประเทศไทยพบกว่า 20 ชนิด เช่น หมึกยักษ์ในสกุล Octopus หมึกผ้าห่ม Tremoctopus รวมทั้งหอยงวงช้างกระดาษสกุล Argonauta  ที่แม้จะเรียกว่าหอย แต่เป็นญาติสนิทของหมึกสาย

 กลุ่มหอยงวงช้าง (nautilus) มีหัวขนาดใหญ่ มีหนวดประมาณ 50-80 เส้น ลำตัวมีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก เปลือกหนาแข็ง ผิวเรียบ มีลาย ข้างในแบ่งเป็นห้อง ๆ ใช้บรรจุน้ำหรืออากาศเพื่อควบคุมการลอยตัว เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่อยู่คู่โลกมานานหลายร้อยล้านปี ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียว

About Author