โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์
https://www.facebook.com/WaterAndFishes
บันทึกเมื่อ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563
วันก่อนผมลงพื้นที่ทุ่งใหญ่ปากพลี ที่นครนายก เพื่อช่วยมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทยและมูลนิธิอีสต์ ฟอรั่ม สำรวจแม่น้ำบางปะกงทั้งระบบ ทำให้นึกถึงปลาชนิดหนึ่งที่ผมตามหาอยู่ คือเจ้าปลาสายยู
ปลาสายยู (Ceratoglanis pachynema Ng, 1999) เซอราโตกลานิสพาชีนีมา เป็นปลาตระกูลปลาเนื้ออ่อน หน้าตาประหลาด ตาเล็กๆ มีหนวดขนาดเล็กเป็นตุ่ม เวลาว่ายหนวดจะกระดิกรัวๆ ดิ๊งๆ เหมือนหนวดมนุษย์ต่างดาว ขนาดตัวใหญ่สุดจากหัวถึงปลายหางยาวประมาณจากข้อมือถึงข้อศอกของผู้ชาย เป็นปลาที่เจอเฉพาะในแม่น้ำบางปะกงเท่านั้น
ผมรู้จักปลาสายยูครั้งแรกตอนเรียนวิชาปลาของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเห็นชื่อจากหนังสือ The Freshwater Fishes of Siam or Thailand เป็นหนังสือปลาน้ำจืดของไทยเล่มแรก เขียนโดยหมอสมิธ (Hugh McCormick Smith) เจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ (อธิบดีกรมประมง) คนแรกของไทย ตีพิมพ์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2488 สมิธเขียนไว้ว่า ได้ตัวอย่างปลาชนิดนี้มาจากลูกเสือที่ได้มาจากแม่น้ำนครนายก (ได้ในย่านใกล้เคียงกับที่ได้ปลาหวีเกศแห่งบางปะกงที่สูญพันธุ์ไปแล้ว) เขาบันทึกไว้ว่า ปลาสายยูเป็นชนิดเดียวกับที่พบในบอร์เนียว ชวา สุมาตรา ในชื่อ Ceratoglanis scleronema ครั้งนั้นเป็นการพบปลาสายยูครั้งแรกในประเทศไทย
ผมอ่านๆ ดูก็ไม่สนใจอะไรนัก เพราะตอนนั้นผมสนใจปลาทะเลและปลาสีสวยๆ มากกว่า หลังจากนั้น ผมก็มีโอกาสเห็นตัวอย่างเจ้าปลาชนิดนี้ที่สมิธเก็บไว้คที่คณะประมงครั้งหนึ่ง และไปเห็นอีกครั้งที่สถาบันสมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา ตอนไปฝึกงานที่นั่น
ภาพปลาสายยูตัวเป็นๆ โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์
ครั้งต่อมาที่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าสายยูก็ตอนเรียนปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราวปี พ.ศ. 2526-2527 ครั้งนั้น ฮิโรชิ เซโน่ เพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนมาจากมหาวิทยาลัยริวกิว ประเทศญี่ปุ่น ไปได้ตัวอย่างปลามาจากแม่ค้าแบกะดินข้างตลาดสามย่าน (ตอนนี้เป็นสามย่านมิตรทาวน์ไปแล้ว) แม่ค้าคนนี้ขายของพื้นบ้านจากย่านปราจีนบุรี นครนายก เซโน่ถ่ายรูปไว้ แล้วดองปลาเป็นตัวอย่างส่งกลับไปที่มหาวิทยาลัยริวกิว แต่ตอนนั้นผมก็ยังไม่สนใจอีก คิดว่าเป็นปลาเหมือนที่พบในบอร์เนียวอย่างที่สมิธเขียนไว้ แถมยังบอกเซโน่อีกว่า น่าจะเป็นปลาเนื้ออ่อนพิการมั้ง เพราะหน้าตามันประหลาด
ผมได้ยินเรื่องเจ้าสายยูอีกครั้งจากไทสัน โรเบิร์ตส์ ช่วงปี พ.ศ. 2534-2535 ตอนเริ่มทำงานที่กรมประมงแล้ว ไทสันเป็นนักวิจัยชาวอเมริกันที่เคยมาอยู่เมืองไทย เขาเก็บตัวอย่างปลาทั่วเอเชียและแอฟริกา และเดินทางเก็บปลาน้ำจืดมาแล้วเกือบทั่วโลก ไทสันเล่าว่า เขานั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปค้างคืน เพื่อตื่นให้ทันตลาดเช้าปราจีนบุรีก่อนพระอาทิตย์ขึ้น จึงทันซื้อปลาสายยูมาเป็นตัวอย่าง ผมฟังแล้วก็เริ่มสนใจ และอยากถ่ายรูปของเจ้าสายยูให้ได้แบบสวยๆ จากนั้นมา ถ้าผมได้ไปไปสำรวจย่านแม่น้ำบางปะกงที่ปราจีนบุรีทีไร ผมจะลุกแต่เช้ามืดไปตลาดเพื่อหาปลาสายยูทุกครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้
ปี พ.ศ. 2542 อึง ฮอก ฮี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ตีพิมพ์บทความบรรยายชนิดว่า เจ้าสายยูเป็นปลาชนิดใหม่ของโลก โดยมีความต่างจากปลาที่สมิธบันทึกไว้คือ Ceratoglanis pachynema มีหนวดหนากว่า พบในแม่น้ำบางปะกง (มีตัวอย่าง) และพบในลุ่มน้ำโขง ที่จังหวัดอุบลราชธานี (จากรายงานของจารุจินต์ นภีตะภัฎ ในหนังสือพืชและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย, 2533)
ผมเห็นในบทความของฮอก ฮี มีเฉพาะตัวอย่างจากลุ่มน้ำบางปะกง จ.ปราจีนบุรี แต่ไม่มีตัวอย่างจากแม่น้ำโขง จึงคุยกับมอริส คอตทีแลต ผู้เขียนหนังสือ Fishes of Laos ที่เคยขอรูปปลาสายยูบางปะกงจากผมไปลงหนังสือเล่มนี้ของเขา พอเขาก็เอาไปลง คนอ่านก็เข้าใจว่าเป็นปลาจากลาว
คอตทีแลตเป็นนักมีนวิทยาชาวสวิส เราเป็นพันธมิตรด้านการสำรวจปลากันมายาวนาน และเคยเขียนบรรยายปลาซิวเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ Amblypharyngodon chulabhornae และปลาซิวแคระ Boraras micros เป็นปลาชนิดใหม่ของโลกด้วยกัน ผมขอดูตัวอย่างสายยูแม่น้ำโขงจากคอตทีแลตว่าหน้าตาเป็นยังไง ตัวแค่ไหน ขอดูรูปถ่ายก็ได้ เขาว่าไม่มี เขาแค่เห็นปลาในตลาดที่ปากเซ ประเทศลาว พอเดินกลับมาจะซื้อ ปลาก็ไม่อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นธรรมดาของปลาหนึ่งตัว ถ้าเราเห็นแล้วไม่ซื้อหรือถ่ายรูปไว้ทันที โอกาสสูญจะสูงมาก แต่ผมก็ยังติดอยู่ว่า ถ้าเป็นเจ้าสายยูจริง คอตทีแลตต้องรีบตะครุบทันที เพราะเป็นปลาหายากมากในพื้นที่นั้น แต่นี่น่าจะเป็นว่า พอเดินผ่านไปแล้วเขามาฉุกคิดว่า น่าจะเป็นปลาตัวนี้มั้ง ผมว่าน่าจะเป็นแบบนี้
ภาพปลาสายยูตัวเป็นๆ โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์
ผมมั่นใจว่าครั้งนั้นคอตทีแลตตาฝาดว่าปลาที่เห็นคือสายยู เพราะในช่วงสิบปีหลังจากนั้น มีนักสำรวจปลาทั้งไทยและญี่ปุ่นไปสุ่มสำรวจปลาทุกสปีชีส์ในพื้นที่ที่คอตทีแลตบอกอีกร่วมสามสิบครั้ง ทั้งในลาวใต้และกัมพูชา แต่ก็ไม่เจอเจ้าสายยูเลย
ผมเองก็ไปสำรวจที่ปากเซเกินสามครั้ง และสมัยทำงานอยู่ WWF ก็ไปสำรวจแม่น้ำโขงในกัมพูชา ส่วนที่ต่อมาจากปากเซและหลี่ผีของลาว ซึ่งจะมีปลามารวมกันมากกว่าที่ปากเซ โดยไปสามครั้งในสามฤดูในช่วงปี พ.ศ. 2549-2550 ในเดือนพฤศจิกายน เมษายน และสิงหาคม เรานั่งเรือสำรวจจากกระแจะทวนน้ำขึ้นไปถึงสตึงเตรง แวะนอนไปตามทาง และได้สัมภาษณ์ชาวบ้านด้วย ผมเอารูปสายยูให้ดู ชาวบ้านก็บอกว่า โอ๊ย ปลาดังแดงนี่แหละ มีเยอะแยะ
ผมรู้ว่าไม่ใช่ดังแดงแน่ ดังแดง (Hemisilurus mekongensis) กับสายยู หน้าตาคล้ายกันมาก ตัวผู้หนวดสั้นเหมือนสายยู แต่หนวดไม่เป็นตุ่มและไม่กระดิกเท่านั้นเอง ส่วนดังแดงตัวเมียหนวดยาวเหมือนไม้กวาด ดังแดงมีเยอะในแม่น้ำโขงตั้งแต่เชียงรายไปถึงเขมร ทำให้มีคนเข้าใจผิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน ตอนไปสำรวจที่ลาวและเขมร เวลาเจอกองปลาดังแดงทีไหน ผมจะคุ้ยดูทุกตัว ดูหนวด ดูปาก ผลออกมาคือ ไม่มีเจ้าสายยู
ที่ชาวบ้านบอกว่าสายยูคือดังแดง แสดงว่าเขาไม่เคยเห็นสายยู ถ้าเขาเคยเห็น แบบจับร้อยตัวเจอตัวนึง เขาจะต้องรู้ว่ามันเป็นปลาอีกชนิดหนึ่ง อ้อ หนวดมันเป็นติ่งๆ เจ้าตัวนี้นานๆ ทีถึงจะได้ เขาจะบอกแบบนี้ ขณะที่เมื่อผมไปถามแม่ค้าที่นครนายก ปราจีนบุรี ผมถามว่าเคยเจอปลาคล้ายปลาเนื้ออ่อน แต่ปากเล็กๆ ไม่มีเขี้ยวไหม (ปลาเนื้ออ่อนปากกว้างและมีเขี้ยว) แม่ค้าบอก อ๋อ ปลาสายยู (ผมไม่ได้เรียกชื่อปลาเลย) ไม่ใช่ปลาเนื้ออ่อน มันตาเล็กๆ ปากจู๋ๆ หนวดสั้นๆ พอแม่ค้าพูดคำว่า “ปากจู๋” นี่ใช่เลย แต่แม่ค้าไม่ทันดูว่าหนวดมันกระดิกดิ๊งๆ ได้ เพราะมันมาตอนตายแล้ว
หลังได้รับการบรรยายว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก สายยูก็มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการมาก เพราะความหายากและความแปลกของมันที่ทำหนวดกระดิกดิ๊งๆ ๆ ๆ เวลาว่ายน้ำ ไม่มีใครเจอปลาชนิดนี้ที่อื่นอีกยกเว้นในลุ่มน้ำบางปะกง
ราวปี พ.ศ. 2545-2546 กิตติพงศ์ จารุธาณินทร์ ได้ส่งสายยูเป็นๆ ที่ร้านแม่น้ำ ที่สวนจตุจักรจับมาได้ ไปขายให้อะควาเรียมที่ญี่ปุ่นในราคาตัวละหนึ่งแสนบาท ก่อนส่งไปญี่ปุ่น นณณ์ ผาณิตวงศ์ ได้ถ่ายรูปเจ้าสายยูตัวนี้เอาไว้ และกลายเป็นรูปสายยูตัวเป็นๆ เพียงรูปเดียวที่ใช้กันอยู่ในโลกตอนนี้ ส่วนปลาในอะควาเรียมญี่ปุ่น ผมว่ามันคงตายไปแล้ว.
หลังจากที่นณณ์ได้รูปปลาคราวนั้น นานๆ ทีผมก็จะได้ข่าวจากเฟซบุ๊กว่ามีนักตกปลาตกได้ปลาตัวนี้ เขาจะเข้ามาถามว่าปลาอะไรแปลกจัง ไม่เคยเห็น หนวดมันกระดิกได้ด้วย พอติดต่อไปก็พบว่า ปลาตายแล้วบ้าง หายไปบ้าง หรือมีคนอื่นมาขอซื้อไปแล้วบ้าง เพราะกว่าผมจะเห็นในเฟซบุ๊กก็มักจะผ่านไปหลายชั่วโมงหรือหลายวันแล้ว ส่วนปลาที่เห็นโฆษณากันในอินเทอร์เน็ตว่ามีเรือรับพาไปตกปลาสายยู พาไปกินปลาสายยู หรือแม้แต่ปลาสายยูที่อะควาเรียมบึงฉวาก ก็เป็นคนละชนิดกับสายยูบางปะกง อันนั้นคือ ปลาสายยูเผือก หรือปลายาง ปลาโมง ตระกูลปลาสวาย (Pangasius conchophilus Roberts & Vidthayanon, 1991) พอเรียกชื่อเดียวกันคนก็สับสน
เพราะความหายากอย่างยิ่งของเจ้าสายยู ในการประชุม Thailand Red list ปีล่าสุด ที่ประชุมว่าด้วยการจัดสถานภาพสัตว์ของประเทศไทย จึงระบุสถานะของเจ้าสายยูว่าเป็นชนิดใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต และพบแห่งเดียวในโลกในลุ่มน้ำบางปะกง
ผมเคยถ่ายสไลด์ และเก็บตัวอย่าวดองของเจ้าสายยูไว้ที่กรมประมงตัวหนึ่ง แต่ตัวนั้นไม่สวย ขนาดไม่ถึงคืบ และหางขาด ผมได้ตัวอย่างมาจากกิตติพงศ์ เดิมทีเขาจะส่งไปญี่ปุ่นแต่มันตายก่อนเลยยกให้กรมฯ แต่ถือว่ายังเป็นตัวอย่างที่ไม่สมบูรณ์
ถึงตอนนี้ผมก็ยังหวังว่าจะได้เก็บตัวอย่างและถ่ายรูปปลาสายยูตัวเต็มวัยที่สมบูรณ์แบบสดๆ สักครั้ง กรมประมงจะได้มีตัวอย่างปลาที่สมบูรณ์เอาไว้ใช้เพื่อการศึกษาต่อไป เพราะการถ่ายภาพเพื่อการศึกษาอนุกรมวิธานที่ดีเราต้องได้ตัวอย่างที่สมบูรณ์ สดใหม่ และนำมาถ่ายแบบเป็นปลานางแบบเพื่อให้เห็นขนาดและสัดส่วนของอวัยวะต่างๆอย่างชัดเจน
ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมก็ยังลุกแต่เช้าไปตามหาปลาสายยูที่ตลาดนครนายกและปราจีนบุรีอีก แล้วก็ได้คำตอบเหมือนๆ เดิม ผมถามทีไร แม่ค้าก็ยืนยันว่ามีแน่ แต่มา “เมื่อวานนี้” และขายไปแล้ว พอผมไป “วันนี้” ก็วืดทุกครั้ง
เอาเข้าจริงผมก็ไม่รู้หรอกว่า การมาเมื่อวานของสายยู อาจเป็นบทสนทนาที่แม่ค้าอยากทำให้เรื่องนี้น่าตื่นเต้นมากขึ้นก็ได้ แต่ไม่เป็นไรหรอก ยังไงเจ้าสายยูแห่งบางปะกงก็ยังเป็นหนึ่งในปลาที่ผมตามหาอยู่เสมอ
สามารถอ่านบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ในนิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 93 เดือนธันวาคม 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/217539