โดย รวิศ ทัศคร
ซีเซียม (สะกดได้ทั้ง cesium หรือ caesium) เป็นธาตุในหมู่ 1A ซึ่งเป็นหมู่ของโลหะแอลคาไลน์ ค้นพบในปี ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2403) โดย กุสตาฟ เคียร์ช็อฟ (Gustav Kirchhoff) นักฟิสิกส์ชาวปรัสเซีย และโรแบร์ท บุนเซิน (Robert Bunsen) นักเคมีชาวเยอรมัน โดยใช้สเปกโทรสโกปที่พวกเขาเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อศึกษาสเปกตรัมของรังสีที่แผ่ออกมาจากวัตถุที่ได้รับความร้อน และได้ค้นพบธาตุสองชนิด คือ ซีเซียมและรูบิเดียม โดยบุนเซินเองก็เป็นผู้ประดิษฐ์ตะเกียงบุนเซิน (Bunsen burner) อุปกรณ์ห้องแล็บที่พวกนักเรียนสายวิทย์ทุกคนรู้จักคุ้นเคยกันดีอีกด้วย
กุสตาฟ เคียร์ชอฟ (ซ้าย) และโรแบร์ท บุนเซิน (ขวา)
ที่มาภาพ : Public Domain
ที่ซีเซียมได้รับการตั้งชื่อเช่นนี้เนื่องจากมันมีเส้นสีน้ำเงินในสเปกตรัมของมัน (ในภาษาละติน caecius แปลว่าสีน้ำเงินท้องฟ้า หรือ sky-blue) ซีเซียมมีอยู่ในเปลือกโลกในปริมาณ 7 ส่วนในล้านส่วน ในแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แร่พลอยพอลลูไซต์ (pollucite) แร่โรดิไซต์ (rhodizite) และแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ซึ่งเป็นแร่ในกลุ่มไมกา ในจำนวนที่กล่าวมานี้ แร่พอลลูไซต์ (Cs4Al4Si9O26∙H2O) เป็นแร่ที่มีซีเซียมมาก มีลักษณะคล้ายควอตซ์ ที่มีแหล่งขนาดใหญ่ในประเทศซิมบับเว
ซีเซียมเป็นแร่โลหะที่มีสีเงินเหลือบทองจาง ๆ นับเป็นธาตุที่มีไอโซโทปจำนวนมากมายหลากหลายแบบที่สุดธาตุหนึ่งในธรรมชาติพอ ๆ กับแบเรียมและปรอท ในจำนวนนี้มีไอโซโทปที่เป็นสารกัมมันตรังสีที่คนไทยคงรู้จักกันดีอย่างจากข่าวดังในช่วงนี้คือ ซีเซียม-137 (137Cs) ซึ่งเป็นไอโซโทปที่พบมากที่สุด มีค่าครึ่งชีวิต 30.1671 ปี และจะสลายตัวเป็นแบเรียม-137 (Barium-137m) โดยปล่อยรังสีออกมาได้ทั้งรังสีแอลฟาและรังสีบีตา และไอโซโทปที่เสถียร ไม่เป็นสารกัมมันตรังสีอย่างซีเซียม-133 (133Cs) รวมถึงไอโซโทปกัมมันตรังสีที่มีค่าครึ่งชีวิตยาวนานที่สุดของมันอย่างซีเซียม-135 (135Cs) ซึ่งมีค่าครึ่งชีวิต 2.3 ล้านปีเลยทีเดียว
ซีเซียมเป็นธาตุโลหะที่มีการผลิตออกมาจำนวนไม่มากเพราะมีค่าใช้จ่ายสูงในการแยกให้บริสุทธิ์ เนื่องจากในธรรมชาติมันมักจะพบด้วยกันกับรูบิเดียมเสมอ และยังผสมอยู่กับโลหะแอลคาไลน์ชนิดอื่นอีกด้วย ซึ่งรูบิเดียมเองก็มีความเหมือนกันในทางเคมีกับซีเซียมค่อนข้างมาก กระบวนการแยกพวกมันออกจากกันจึงมีความยุ่งยากทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตแพง
อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันที่มีการใช้งานโรงฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กันทั่วโลก ไอโซโทปกัมมันตรังสีของซีเซียมก็อาจเปิดมาจากเครื่องปฏิกรณ์ในฐานะหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิสชันได้ด้วย รวมถึงการเกิดขึ้นของซีเซียม-137 ในการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ทั้งหลายในอดีต ซึ่งส่งผลให้มีซีเซียม-137 ปะปนอยู่ในอากาศ ดิน และน้ำ ในโลกมาหลายสิบปีตั้งแต่การทดลองเหล่านี้ได้ทำขึ้น เพียงแต่อยู่ในระดับที่เมื่อเจือจางแล้วยังไม่ก่ออันตรายแก่มนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่รับมันเข้าไปทุกวัน
ซีเซียมเป็นธาตุโลหะแอลคาไลน์เหมือนโซเดียมกับโพแทสเซียม ไอออนของมันมีความสามารถในการละลายในน้ำสูง เสี่ยงต่อการสะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทั้งในทะเลและในน้ำจืด ซึ่งอาจส่งผลต่อมาถึงมนุษย์เมื่อบริโภคพืชและสัตว์ รวมถึงดื่มน้ำที่ปนเปื้อนซีเซียมเข้าไป การได้รับมันเข้าไปนาน ๆ จึงอาจมีการสะสมอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนตั้งแต่ต่อมไทรอยด์ ปอด เต้านม และไขกระดูกของมนุษย์ได้ ส่งผลได้เช่นเดียวกับการได้รับรังสีจากแหล่งรังสีภายนอก ทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็งจากรังสีได้ และอาจมีกระบวนการกลายพันธุ์เกิดขึ้นในเซลล์สืบพันธุ์
เหมือนจะน่ากลัว แต่ก็มีประโยชน์ใช้งานมากมาย
ช่วงนี้คนไทยโดยทั่วไปดูจะหวาดระแวงเจ้าซีเซียม-137 กันมาก แม้ไอโซโทปกัมมันตรังสีของมันมีพิษภัยก็จริง แต่อันที่จริงแล้วธาตุโลหะชนิดนี้มีประโยชน์ในการใช้งานหลากหลายทีเดียว ตัวอย่างเช่น ใช้ซีเซียม-137 เป็นแหล่งรังสีแกมมาในการฉายรังสีอาหารเพื่อฆ่าเชื้อก่อโรค แต่ใช้ไม่มากนัก (อีกแหล่งที่มีการใช้งานมากกว่าคือโคบอลต์-60) หรือใช้สร้างอุปกรณ์ที่แปลงพลังงานความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรงอย่าง thermionic power converters ที่ใช้งานอย่างกว้างขวางในยานอวกาศและยานสำรวจต่าง ๆ โดยอาศัยความร้อนที่เกิดจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากำเนิดไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการสร้างโลหะผสมระหว่างโซเดียม-โพแทสเซียม-ซีเซียม (NaKCs) ซึ่งมีจุดหลอมเหลวต่ำนำไปใช้ในงานต่าง ๆ ได้ ซีเซียมยังมีการใช้งานเชิงการแพทย์ด้านรังสีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง รวมถึงใช้ในการสร้างนาฬิกาอะตอมที่แม่นยำที่สุดในปัจจุบันอีกด้วย
นาฬิกาอะตอมจากซีเซียม ที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันมาตรวิทยาแห่งเยอรมนี (Physikalisch-Technische Bundesanstalt: PTB)
มีค่าความคลาดเคลื่อนที่ 1 วินาทีในสองล้านปี
ในส่วนของพลังงานทางเลือก ซีเซียมยังใช้ผลิตโซลาร์เซลล์เนื่องจากมีพลังงานไอออไนเซชัน(ionization energy) ต่ำ นำไปใช้เป็นธาตุที่เพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุทำโซลาร์เซลล์ ด้วยการทำกระบวนการเจือด้วยซีเซียม (cesium doping) ให้แก่เซลล์แสงอาทิตย์แบบเพอรอฟสไคต์ (perovskite solar cells) แบบฟิล์มบาง ซึ่งใช้แร่เพอรอฟสไคต์เป็นตัวดูดซับแสง ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างมากว่าจะเป็นเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ที่จะใช้ในอนาคต โดยดึงให้มีประสิทธิภาพได้สูงถึงร้อยละ 23.7 โซลาร์เซลล์ชนิดนี้มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแบบซิลิคอน แต่ยังต้องพัฒนาความทนทาน เพราะไม่ทนความชื้นและออกซิเจน
ในส่วนของงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ นั้นก็มีการนำสารประกอบซีเซียมไปใช้งาน อย่างเช่น ซีเซียมโบรไมด์ ใช้ผลิตตัวตรวจวัดการแผ่รังสี (radiation detector) และอุปกรณ์การวัดอื่น ๆ เช่น เครื่องวัดการไหลของของเหลว เครื่องวัดความหนาของวัสดุ
ตรวจวัดไอโซโทปต่าง ๆ ของซีเซียมทั้งในสิ่งแวดล้อมและอาหารได้ไหม
เมื่อกล่าวถึงอันตรายของไอโซโทปของธาตุซีเซียมที่เป็นสารกัมมันตรังสี บางทีเราก็อาจจะอยากทราบว่ามีวิธีอะไรบ้างที่ใช้ในการตรวจวัดไอโซโทปเหล่านี้ได้ อันที่จริงแล้ววิธีวิเคราะห์หาไอออนของซีเซียมในห้องปฏิบัติการก็มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น inductively coupled plasma optical mass spectrometry (ICP-MS), X-ray fluorescence spectroscopy (XRF) และ fluorescent molecular chemosensors
ในการวิเคราะห์ที่ใช้เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับใช้วิเคราะห์โดยละเอียดในห้องปฏิบัติการเหล่านั้น อาจจะดีในแง่ของความแม่นยำ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือ ประกอบกับมีความต้องการเครื่องมือที่ช่วยให้ตรวจวิเคราะห์ได้ง่ายและรู้ผลรวดเร็วในการปฏิบัติงานภาคสนาม จึงมีความพยายามพัฒนาวิธีทดสอบให้ทราบผลแบบเร็วขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้พัฒนาวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายไม่แพงในการทดสอบซีเซียมที่ปนเปื้อนมากับน้ำและตัวอย่างที่เป็นของเหลวต่าง ๆ โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่าแร่ในกลุ่มเพอรอฟสไคต์ซึ่งประกอบด้วยซีเซียม ตะกั่ว และโบรไมด์ อย่าง CsPbBr3 นั้นเป็นวัสดุที่เปล่งแสงได้หลังจากการดูดกลืนพลังงานจากรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า (photoluminescent material) และมีคุณสมบัติด้านโฟโตอิเล็กทริก (photoelectric effect) แต่ผลึกขนาดนาโนของเพอรอฟสไคต์นั้นไวต่อความชื้นและอากาศทำให้โครงสร้างของมันเสียหาย และสมบัติในการเรืองแสงหมดไปได้ จึงมีคณะผู้วิจัยจากวิทยาลัยเคมี มหาวิทยาลัยเสฉวน ประเทศจีน เสนอว่าของเหลวจำพวกไอออน (ionic liquids: ILs) เป็นตัวกลางที่ดีในการทำให้เกิดการตกผลึกนาโนคริสตัลของเพอรอฟสไคต์ แต่ถ้านำมาใช้งานอาจจะต้องการแผ่นเยื่อมาเป็นโครงร่างให้ ILs เกาะ ให้เป็นวัสดุที่เรียกว่า hybrid ionic liquid membranes (HILM) โดยวัสดุพวกนี้มีใช้อยู่แล้วในงานด้านการแยกก๊าซและการดูดซึมสารต่าง ๆ ผู้วิจัยจึงได้ไอเดียว่าเยื่อที่มีเส้นใยพอลิเมอร์จำนวนมากพวกนี้น่าจะเป็นพื้นผิวให้ผลึกมาเกาะได้เป็นอย่างดีในขณะที่ส่วนของ ILs ทำหน้าที่เป็นรีเอเจนต์และตัวกลางในการเกิดปฏิกิริยา น่าจะทำให้เกิดการตกผลึกนาโนคริสตัลของเพอรอฟสไคต์ได้อย่างรวดเร็วบน HILM
คณะวิจัยจึงผสม 1-octyl-3-methyl-imidazolium bromide (C8mimBr) กับ PbBr2 และนำเยื่อกระดาษที่เตรียมไว้มาชุบ จนได้ HILM ออกมา จากนั้นจึงนำมาทดสอบกับน้ำทะเลที่ปนเปื้อนด้วยซีเซียมโดยนำมาหยดลงไปเพื่อให้เกิดการตกผลึกนาโนของเพอรอฟสไคต์ แล้วส่องด้วยแสง UV ที่ความยาวคลื่น 365 นาโนเมตร พบว่ามีการเรืองแสงของผลึกนาโนคริสตัลของเพอรอฟสไคต์ CsPbBr3 เกิดขึ้นจริง ๆ วิธีนี้จึงน่าสนใจในฐานะวิธีทดสอบการปนเปื้อนของซีเซียมไอออนในตัวอย่างต่าง ๆ ที่มีค่าใช้จ่ายไม่แพง[1]
สำหรับในอาหารนั้น หลังจากเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) ถูกคลื่นสึนามิถล่มหลังเกิดแผ่นดินไหวระดับ 9 ที่ญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2011 หรือเมื่อ 12 ปีก่อน จนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี (รวมถึงซีเซียม-137) จากโรงไฟฟ้าจนทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่กว่า 150,000 คน จึงมีการกำหนดวิธีการทดสอบวัดหานิวเคลียสของสารกัมมันตรังสีในอาหารโดยวิธีสเปกโทรเมทรีเพื่อวัดรังสีแกมมา (gamma ray spectrometry) โดยใช้อุปกรณ์หัววัดเจอร์เมเนียม (germanium detector) ซึ่งมีโครงสร้างเป็นไดโอดสารกึ่งตัวนำที่มีความไวสูงกับไอออนรังสี รังสีเอกซ์ และรังสีแกมมา (อ่านหลักการทำงาน) อุปกรณ์นี้เดิมใช้กันมากในงานด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ในการศึกษาโดยใช้เทคนิคเอกซเรย์สเปกโทรสโกปี (x-ray spectroscopy) รวมทั้งในงานด้านอาหารก็ใช้ตรวจวัดสารกัมมันตรังสีในอาหารกันอย่างแพร่หลาย ตามวิธีของ International Organization for Standardization (ISO 11929-2019)[2]
ถ้ามีการปนเปื้อนของซีเซียมในน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งอื่น ๆ เราจะมีวิธีในการบำบัด หรือกำจัดการปนเปื้อนอย่างไร ?
ซีเซียม-137 ใช้เป็นแหล่งรังสีแกมมาในเครื่องมือต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยอาจบรรจุในแคปซูลในรูปของเม็ดซีเซียมคลอไรด์ สำหรับกรณีการปนเปื้อนในสถานที่ทั่วไป ถ้ามีการปนเปื้อนปริมาณน้อยจากแหล่งเก็บลงบนพื้นผิว ควรดูดด้วยเครื่องดูดฝุ่นก่อนจะใช้กระบวนการเช็ดเปียกและล้างหลาย ๆ รอบด้วยน้ำ ในกรณีของพื้นผิวที่เป็นแก้ว ซีเซียมจะถูกดูดซึมเข้าไปบนพื้นผิวแก้วได้จึงควรระวังในจุดนี้
สำหรับในเชิงอุตสาหกรรม การเอาซีเซียม-137 ออกจากน้ำ โดยเฉพาะการบำบัดน้ำเสียที่ปนเปื้อนด้วยสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิสชันหรือจากพวกอุตสาหกรรมผลิตโลหะและเหล็กกล้า อาจจะใช้วิธีกรองผ่านไส้กรองชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการรีเวิร์สออสโมซิส คอลัมน์แลกเปลี่ยนไอออน วิธีการตกตะกอนร่วม (co-precipitaion method) กระบวนการระเหย หรือใช้วัสดุประเภทแร่ดินเหนียว (clay minerals) ต่าง ๆ อาทิ ซีโอไลต์ (zeolite) เบนโทไนต์ (bentonite) เวอร์มิคูไลต์ (vermiculite) มอนต์มอริลโลไนต์ (montmorillonite) มาดูดซับเอาซีเซียมออกไป แต่ก็มีข้อจำกัดคือจะมีการแข่งขันกันของไอออนโซเดียม ไอออนโพแทสเซียม และซีเซียม ในการเข้าจับที่จุดที่มีการดูดซับ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพต่ำลงไป
วิธีการตกตะกอนร่วม (co-precipitaion method) ที่เคยมีผู้เสนอไว้[3] อาศัยโพแทสเซียมเฟอร์โรไซยาไนด์ (K4[Fe(CN)6]), นิกเกิลไนเตรต (Ni(NO3)2) และไอออนซัลเฟต (FeSO4) มาช่วยทำให้ซีเซียมตกตะกอนออกมาจากน้ำ ตามสมการต่อไปนี้
137Cs+ + K4Fe(CN)6 + Ni(NO3)2 → CsxNixFe(CN)6 ↓
137Cs+ + K4Fe(CN)6 + FeSO4 → CsxFex[Fe(CN)6]x ↓
เมื่อได้ตะกอนแล้วก็แยกเอาตะกอนที่มีซีเซียมออกไปจากน้ำได้ โดยอาจจะใช้การแยกของแข็ง/ของเหลว การกรองที่กรองอนุภาคขนาด 11 ไมครอนได้
นอกจากนี้ยังมีความพยายามพัฒนาวัสดุกรองให้ดีขึ้น[4] โดยพบว่าหากใช้เยื่อกรองที่มีการผสมสารอะไมลอยด์ (amyloid) หรือเส้นใยอะไมลอยด์ (amyloid fibrils) ซึ่งเตรียมขึ้นจากโปรตีนหางนมร่วมกับถ่านกัมมันต์ (active charcoal) นำมากรองน้ำปนเปื้อนซีเซียม-137 จะลดปริมาณการแผ่รังสีของซีเซียม-137 ในตัวอย่างที่เป็นวัฏภาคน้ำลงไปได้ถึง 340 เท่าทีเดียว
อันที่จริงแล้ววิธีการและสารต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการบำบัดก็ยังมีอีกมากมายหลายอย่างนอกเหนือจากที่กล่าวมา ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มได้ในบทความรีวิวตามลิงก์ครับ
เราควรกังวลเรื่องซีเซียม-137 ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้มากน้อยเพียงใด
ความเป็นพิษของสารกัมมันตรังสีขึ้นกับปริมาณที่มนุษย์และสัตว์ทดลองต่าง ๆ ได้รับ คำถามคือ ระดับการปนเปื้อนของซีเซียม-137 ต้องน้อยขนาดไหนจึงจะถือว่ายอมรับได้ ซึ่งสำหรับมนุษย์แล้ว คณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกา (United States Nuclear Regulatory Commission: U.S.NRC) ได้ตั้งข้อกำหนดไว้ว่าจะยอมให้มีซีเซียม-137 ปะปนในอากาศในที่ทำงานได้ไม่เกิน 4X10-8 ไมโครคูรีต่อมิลลิลิตร (mCi/ml) สำหรับไอโซโทปซีเซียม-134 และ 6X10-8 ไมโครคูรีต่อมิลลิลิตร (หรือเท่ากับ 2.22X10-15 เทอร์ราเบ็กเคอเรลต่อมิลลิลิตร (TBq/ml)) สำหรับไอโซโทปซีเซียม-137 สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (Environmental Protection Agency: EPA) ได้ตั้งค่าปริมาณซีเซียมที่ยอมให้มีได้ในน้ำดื่ม ว่าไม่ให้มีเกิน 80 พิโคคูรีต่อลิตร (pCi/L) สำหรับซีเซียม-134 และ 200 พิโคคูรีต่อลิตร สำหรับซีเซียม-137 เพื่อไม่ให้เกิน 4 มิลลิเรม (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ)
ทั้งนี้หน่วยคูรี (Curie, Ci) เป็นหน่วยวัดกัมมันตภาพ (activity) ของสารกัมมันตรังสี โดย 1 คูรี จะเป็นการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีทั้งหมด 3.7X1010 นิวเคลียสต่อวินาที (หรือ 3.7X1010 เบ็กเคอเรล) เท่ากับอัตราการสลายตัวของธาตุเรเดียม 1 กรัม สำหรับ ซีเซียม-137 แต่ละกรัมจะมีกัมมันตภาพ 3.215 เทอร์ราเบ็กเคอเรล
ดังนั้นถ้าตามข้อมูลด้านบน อากาศแต่ละมิลลิลิตร (1X10-6 m3) จะต้องมีซีเซียม-137 ไม่ควรเกิน 6.9X10-16 กรัม ถ้าหากคิดปริมาตรอากาศบริเวณโดยรอบโรงงานในปริมาตรครึ่งทรงกลมที่มีรัศมี 1000 เมตร จะได้ปริมาตร 2,094,395,102.39 m3 แปลว่ามวลอากาศปริมาณโดยรอบรัศมี 1 กิโลเมตรนี้ควรจะมีซีเซียม-137 ปนอยู่ไม่เกิน 1.445 กรัม จึงจะอยู่ในข้อกำหนดความปลอดภัยดังกล่าว จากข้อมูลหลายแหล่งที่มีผู้คำนวณไว้มีการคำนวณสารกัมมันตรังสีที่คงเหลืออยู่ในหลอดเก็บสารได้ 0.505 มิลลิกรัมบ้าง* หรือ 0.488 มิลลิกรัมบ้าง** ถ้าดูจากตัวเลขเหล่านี้ หากปริมาณของซีเซียมที่เหลืออยู่ในกระบอกจะฟุ้งกระจายในอากาศในรัศมี 1 กิโลเมตรโดยรอบโรงงาน ก็ถือว่ายังน้อยกว่าปริมาณ 1.445 กรัม มาก ๆ นอกจากนี้ซีเซียมที่เหลืออาจจะหลอมรวมกับเหล็กหรือจับอยู่กับฝุ่นที่ไม่ฟุ้งกระจาย ซึ่งทำให้การปนเปื้อนมีวงจำกัดเฉพาะพื้นที่ขนาดเล็กเท่านั้น ก่อนหน้าที่บทความนี้จะออก ก็คงจะมีการกล่าวถึงประเด็นนี้ในข่าวต่าง ๆ ไปแล้ว จากการคำนวณตามตัวเลขจริง ผู้อ่านจึงสามารถคลายความกังวลเรื่องการปนเปื้อนในวงกว้างไปได้ครับ
ผู้เขียนหวังว่าบทความในตอนนี้จะให้สาระความรู้เกี่ยวกับซีเซียมแก่ทุกท่านตามสมควร บทความในตอนถัดไปเราจะกลับมาคุยกันต่อเรื่องการสกัดนะครับ พบกันใหม่ฉบับหน้า
แหล่งข้อมูลออนไลน์
- https://www.britannica.com/science/cesium
- https://www.bbc.com/news/magazine-29476893
- https://en.wikipedia.org/wiki/Goi%C3%A2nia_accident
- https://www.sciencedirect.com/topics/medicine-and-dentistry/caesium-137
- https://www.nst.or.th/article/article54/article54-004.html
- https://www.cdc.gov/nceh/radiation/emergencies/isotopes/cesium.htm
- https://chemistry-europe.onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/chem.201801096
- https://www.livescience.com/37578-cesium.html
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/0146572483901978
- *https://www.facebook.com/photo/?fbid=1262644168017205&set=pcb.1262645171350438
- **https://www.ejan.co/general-news/54wogey828
- **https://www.facebook.com/sathon.vijarnwannaluk/posts/pfbid0xtp8kKrAZ7dHPuYXoz5b9TbW7jiFTNE335K722qyGdDnpD6we3Pg15Mezk9C3JGcl
เอกสารอ้างอิง
- Fu, J., Zhang, L., Wang, S. L., Yuan, W. L., Zhang, G. H., Zhu, Q. H., … & Tao, G. H. (2022). Ultralow-cost portable device for cesium detection via perovskite fluorescence. Journal of Hazardous Materials, 425,
- Yamada, T., Furutaka, K., Hachinohe, M., & Hachisuka, A. (2023). Applicability of non-destructive equipment for radioactivity measurement to screening radio-cesium in foods. Applied Radiation and Isotopes,
- Sopapan, P., Lamdab, U., Akharawutchayanon, T., Issarapanacheewin, S., Yubonmhat, K., Silpradit, W., … & Prasertchiewchan, N. (2023). Effective removal of non-radioactive and radioactive cesium from wastewater generated by washing treatment of contaminated steel ash. Nuclear Engineering and Technology, 55(2), 516-522.
- Chiera, N. M., Bolisetty, S., Eichler, R., Mezzenga, R., & Steinegger, P. (2021). Removal of radioactive cesium from contaminated water by whey protein amyloids–carbon hybrid filters. RSC advances, 11(51), 32454-32458.