อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนและบ้านป่าเหมี้ยง หมู่บ้านกลางขุนเขา

เรื่องโดย นุรักษ์ จิตต์สะอ้าน


ฤดูร้อนที่แสนร้อนแรงกำลังจะเริ่มอ่อนแรงลงบ้างแล้วนะครับ เมื่อก้าวผ่านเดือนเมษายนเข้าสู่เดือนพฤษภาคม จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ณ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567 พบว่าอุณภูมิสูงสุดของประเทศไทยประจำปีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน อยู่ที่ 44.2 องศาเซลเซียส ในพื้นที่จังหวัดลำปาง (อำเภอเถิน) รองลงมา ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมือง) อยู่ที่ 44.1 และ 43.9 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 27 และ 29 เมษายน ตามลำดับ โดยหลายพื้นที่ของประเทศก็มีระดับอุณหภูมิที่ร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือไม่ต่ำกว่า 43.6 องศาเซลเซียส

แม้ว่าอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนจะไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๆ ท่าน ๆ มากเท่าไหร่นัก เนื่องจากทำให้ร่างกายอ่อนเพลียจากการเสียเหงื่อ รู้สึกร้อนจนหงุดหงิด การดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งก็ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นท่านอาจจะมีโอกาสเกิดโรคลมร้อนหรือฮีตสโตรก (heatstroke) ซึ่งร่างกายจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถระบายความร้อนได้อย่างทันท่วงที และทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมาได้ อย่างไรก็ตามฤดูร้อนกลับเป็นช่วงเวลาที่ต้นไม้หลายชนิดออกดอกหลากหลายสีสัน แต่งแต้มความงามให้แก่ชุมชนเมืองและผืนป่าโดยรอบ เพลิดเพลินเจริญตาต่อการพบเห็น

หากลองสังเกตดูบรรยากาศโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นจากการขับรถไปตามเส้นทางทั้งในเมืองและระหว่างเมือง การวิ่งหรือการเดินในสวนสาธารณะในช่วงฤดูร้อน ท่านจะพบเห็นกับเฉดสีของดอกต่าง ๆ ที่เหล่าต้นไม้หลากหลายพรรณได้รังสรรค์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสีขาวของเสี้ยวป่า ติ้วขน ปีบ สีเหลืองของเหลืองอินเดีย ราชพฤกษ์ นนทรีป่า สีม่วงของตะแบก อินทนิล เสลา สีส้มและสีแดงของหางนกยูงฝรั่ง ทองกวาว และทองหลาง เป็นต้น ในสาระวิทย์ฉบับนี้ ผู้เขียนจะขอแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับเหล่าต้นไม้ให้ดอกงามประดับผืนป่ากันครับ

เสี้ยวป่า (Bauhinia saccocalyx Pierre.) เป็นไม้ป่า ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงถึง 10 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ปลายใบแยกเป็นสองแฉก ฐานใบเป็นรูปหัวใจ ผิวด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนและต่อมน้ำมัน  เรียงตัวแบบสลับ พบได้ในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังทั่วทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ ดอกจะเป็นสีขาว มี 5 กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม

ติ้วขน (Cratoxylum formosum ssp. pruniflorum (Kurz) Gogelein) เป็นไม้ป่า ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 8-15 เมตร กิ่งขนาดเล็กตามลำต้นมักแปรสภาพเป็นหนามแข็ง ๆ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังทั่วทุกภาคของประเทศ ดอกสีขาวไปจนถึงชมพูอ่อนและแดง มี 5 กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม

เหลืองอินเดีย (Tabebuia chrysantha (Jacq.) G.Nicholson) ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 5-20 เมตร ใบเป็นใบประกอบรูปนิ้วมือ ใบย่อย 5 ใบ ใบอ่อนมีขนนุ่ม เป็นไม้ประดับที่มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ ในเขตอเมริกากลางตั้งแต่ประเทศเม็กซิโกทางตอนเหนือจนถึงประเทศเวเนซุเอลา ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อ ช่อละ 3–10 ดอก ดอกรูปทรงเป็นหลอดแตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน

นนทรีป่า หรือ อะราง (Peltophorum dasyrrhachis (Miq.) Kurz) เป็นไม้ป่า ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 15- 30 เมตร ใบเป็นช่อแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับก้าน แขนงตรงข้ามกัน 5-9 คู่ ใบย่อยมีขนาดเล็กคล้ายใบกระถิน พบขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง ทางภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อห้อยลงยาว 15–30 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม

ราชพฤกษ์ หรือ คูน (Cassia fistula Linn.) เป็นไม้ป่า ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบสีเขียวเป็นมัน ออกเป็นช่อ แต่ละช่อยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร และมีใบย่อยเป็นรูปไข่ประมาณ 3-6 คู่ พบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและเต็งรัง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ดอกช่อเป็นช่อห้อยลง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 20–40 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก สีเหลืองสด ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม

พรรณไม้ในสกุลตะแบก (สกุล Lagerstroemia ในวงศ์ Lythraceae) เป็นไม้ป่า ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ใบเดี่ยว เรียงตัวตรงกันข้าม บนกิ่งแขนงย่อย ทรงใบรูปหอก พบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ และป่าชายหาด ทั่วทุกภาค ออกเป็นช่อบริเวณปลายยอดกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อย 20–25 ดอก ดอกย่อยแต่ละดอกมีรูปร่างแบบปากเปิด กลีบดอกมี 6 กลีบ สีของต้นไม้ในสกุลตะแบกจะมีเฉดสีม่วงเข้ม ม่วงอ่อน ม่วงอมชมพู ไปจนถึงสีขาว ในประเทศไทยพบ 18 ชนิด เช่น ตะแบกนา (L. floribunda Jack.) เสลาหรืออินทรชิต (L. loudonii Teijsm. & Binn.) อินทนิลน้ำ (L. speciosa (L.) Pers.) อินทนิลบก (L. macrocarpa Wall.) ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะออกดอกในช่วงปลายหนาวจนถึงฤดูร้อน ในเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม

หางนกยูงฝรั่ง (Delonix regia (Bojer Ex Hook.) Rafin) ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 10-15 เมตร ใบประกอบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับ ใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน แผ่นใบรูปขอบขนาน ปลายกลมโคนเบี้ยว ผิวใบเกลี้ยง เป็นไม้ประดับที่มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติบนเกาะมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา ดอกเป็นช่อออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกมี 5 กลีบ สีแดงเข้มจนถึงสีส้ม เมื่อออกดอกจะทิ้งใบทั้งต้นจนเหลือแต่ดอกบานสะพรั่ง ในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน

หลังจากที่แนะนำเหล่าต้นไม้ให้ดอกสีสวยในช่วงฤดูร้อนที่พบเจอระหว่างทางให้รู้จักกันพอหอมปากหอมคอแล้ว เราก็จะไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติกันต่อตามสไตล์เที่ยวไปเรียนรู้ไป โดยฉบับนี้จะขอเริ่มต้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ 786 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปาน อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างลำปางกับอเชียงใหม่ มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 โดยมีสถานที่น่าสนใจตรงบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งผู้อ่านสามารถจอดรถยนต์และเดินเท้าไปถึง ถือเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ได้แก่

น้ำร้อนแจ้ซ้อน เป็นแหล่งน้ำพุร้อนจากใต้ดิน จำนวน 9 บ่อ ตั้งอยู่รวมกันในบริเวณพื้นที่ที่ทำการอุทยานฯ น้ำพุร้อนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 73 องศาเซลเซียส มีกลิ่นกำมะถันอ่อน ๆ และไอน้ำลอยปกคลุมรอบบริเวณ เป็นที่นิยมนำไข่ไก่และไข่นกกระทามาแช่ เพื่อทำเป็นเมนูไข่ออนเซ็น ก็อร่อยไม่เบาเลยทีเดียว

น้ำตกแจ้ซ้อน เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำแม่มอญ ไหลมาจากพื้นที่ต้นน้ำด้านบนเทือกเขา มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีแอ่งน้ำรองรับเป็นชั้น ๆ อยู่ 6 ชั้น มีทางเดินจากบ่อน้ำพุร้อนไปถึงน้ำตกชั้นล่าง ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 1 กิโลเมตร

เมื่อเราใช้เวลาท่องเที่ยวในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ จนสำราญใจแล้ว ผู้เขียนก็ขออนุญาตพาผู้อ่านเดินทางต่อไปยังพื้นที่ด้านบนเขา เพื่อเที่ยวพักผ่อนแบบโฮมสเตย์ของชุมชนหมู่บ้านสุดท้ายที่ตั้งอยู่บนเส้นทางจากที่ทำการอุทยานฯ สู่ยอดเขา (กิ่วฝิ่น) ที่ชื่อว่า บ้านป่าเหมี้ยง การเดินทางด้วยรถยนต์จะค่อย ๆ ไต่ระดับความสูงไปตามถนนขึ้นเขาเป็นระยะทาง 15 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก็จะถึงบ้านป่าเหมี้ยง ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขามากว่า 200 ปี ชุมชนบ้านป่าเหมี้ยงเปิดให้มีการท่องเที่ยวและพักแรมแบบโฮมสเตย์ ควบคู่กับการทำการเกษตร โดยมีการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ๆ 2 ชนิด คือ เหมี้ยงและกาแฟ

ต้นเหมี้ยงในชื่อเรียกภาษาถิ่นของชาวบ้าน แท้จริงแล้วก็คือ ต้นชาอัสสัม (Camellia sinesis var. assamica) พบมากบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย เติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น (บ้านป่าเหมี้ยงสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,100 เมตร มีสภาพอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี) และไม่ชอบแดดแรงจัด ชาวบ้านจึงนิยมปลูกต้นเหมี้ยงใต้ต้นไม้ใหญ่ คนทางภาคเหนือยุคก่อนนิยมรับประทานใบเหมี้ยงหมัก หรือที่เรียกว่า อมเหมี้ยง โดยเหมี้ยงมีสรรพคุณมากมาย เช่น แก้ง่วง แก้กระหาย ต้านมะเร็ง ป้องกันฟันผุ ชะลอความแก่ ช่วยขจัดสารพิษให้ร่างกาย ลดอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามคนรุ่นหนุ่มสาวปัจจุบันนิยมการอมเหมี้ยงลดลง โดยจะประยุกต์ใช้ใบเหมี้ยงทำเมนูอื่น ๆ เช่น ยำใบเหมี้ยงใส่ปลากระป๋อง หรือเมนูเครื่องดื่ม เช่น ชาใบเหมี้ยงน้ำผึ้ง ชาหมัก (kombucha)

กาแฟที่ปลูกในพื้นที่บ้านป่าเหมี้ยง ได้แก่ สายพันธุ์อะราบีกา (Coffea arabica) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ชอบสภาพภูมิประเทศในแถบที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตรขึ้นไป และมีสภาพอากาศที่เย็นตลอดทั้งปี ดังนั้นบ้านป่าเหมี้ยงจึงเป็นแหล่งปลูกกาแฟและผลิตเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ป้อนสู่ตลาดอุตสาหกรรมกาแฟมาอย่างต่อเนื่อง

ก่อนที่จะกลับออกจากบ้านป่าเหมี้ยง มีอีกกิจกรรมแนะนำที่ไม่ควรพลาดคือ กิจกรรมดูนก เรามีโอกาสพบเจอนกหัวขวานจิ๋วท้องลาย (speckled Piculet) นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง (greater yellownape) นกพญาไฟใหญ่ (scarlet minivet) นกปลีกล้วยเล็ก (little Spiderhunter) เป็นต้น ทั้งนี้อาจจะมีเซอร์ไพรส์แบบที่ทำให้ผู้เขียนดีใจและตื่นเต้นมาแล้วคือ การพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กชนิดหนึ่งซึ่งมีโอกาสน้อยมาก ๆ ที่จะพบเจอได้ในป่า นั่นคือ ตัวตุ่น

ตุ่น (mole) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับ Solicomorpha วงศ์ Talpidae มีลักษณะคล้ายหนูตะเภาขนาดเล็ก ลำตัวอ้วนป้อม ขนลำตัวอ่อนนุ่มสีเทาเข้มถึงดำ มีนิสัยไม่ดุร้ายและไม่ก้าวร้าว ปกติมักอาศัยอยู่ในโพรงใต้ดินเป็นส่วนใหญ่ โดยปกติมักไม่ขึ้นมาบนพื้นดินถ้าไม่จำเป็น อาหารหลักได้แก่ ไส้เดือนดิน หนอน หอยทาก และพืชประเภทหัวใต้ดิน ทั่วโลกมีประมาณ 40 กว่าชนิด ในไทยพบเพียง 1 ชนิด คือ ตุ่นโคลส (Euroscaptor klossi) ซึ่งผู้เขียนก็ได้แต่เก็บภาพและเฝ้าดูน้องตุ่นตัวนั้นค่อย ๆ มุดหายไปในเศษใบไม้จนลับตาไปในที่สุด

ในโอกาสที่ยังอยู่ในช่วงปลายฤดูร้อนของประเทศไทย ขอให้ผู้อ่านรักษาสุขภาพ ผ่านพ้นช่วงอุณหภูมิสูงในรอบปีอย่างมีความสุข รอต้อนรับสายฝนอันชุ่มฉ่ำและความเขียวขจีแห่งผืนป่าที่กำลังจะมาเยือนในอีกไม่กี่อึดใจ สำหรับน้อง ๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษาก็เตรียมตัวเปิดเทอมภาคการศึกษาต้นกันอีกครั้ง จะได้เจอเพื่อนร่วมชั้นเดิมอีกครั้งหนึ่ง หรือจะได้มีโอกาสเจอเพื่อนใหม่ ๆ สิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ก็อย่าลืมทำหน้าที่ในการเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ดี เป็นลูกที่ดีของคุณพ่อคุณแม่ เปิดเทอมแล้วก็อาจจะจัดเวลาท่องเที่ยวยากนิดนึง ระหว่างนี้ก็อ่านเที่ยวละไม BioSci เก็บข้อมูลกันไปก่อนได้นะครับ ส่วนจะพาไปเที่ยวที่ไหนกันต่อ รอดูได้ในฉบับหน้าครับ

About Author