Headlines

คู่มือการใช้ ChatGPT สำหรับการศึกษา ตอนที่ 2: สำหรับครูอาจารย์

โดย ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน
ผู้อำนวยการ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED


          คู่มือการใช้ ChatGPT สำหรับการศึกษา ผมได้ตัดตอนมาจากคู่มือที่ร่วมทำกับทาง The HEAD Foundation สิงคโปร์ ขอแปลเป็นภาษาไทยไว้ให้คร่าว ๆ ดังนี้นะครับ

หลักการเบื้องต้น

          ในเมื่อ ChatGPT ก็สามารถทำงานแทนครูอาจารย์ได้ในหลาย ๆ เรื่องแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรที่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ ChatGPT ทำได้ ครูอาจารย์ก็สามารถจะเปลี่ยนบทบาทตัวเองไปได้ ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งเลคเชอร์เนื้อหาวิชากันอีก เราสามารถมองตัวเราเองเป็นผู้พัฒนาศักยภาพและสมรรถนะของเด็ก โดยมี AI เป็นผู้ช่วยไป แทนที่จะแข่งกับ AI

บทบาทที่เปลี่ยนไปของครูอาจารย์

          จะว่าไปการใช้ AI ในการเรียนการสอน ก็เข้ากันได้ดีกับเทคนิคการสอนแบบใหม่ ๆ ที่เราได้เรียนรู้กันอยู่ เช่น
          – flipped classroom
          – active learning
          – problem-based learning
          – constructivism

          กระบวนการเรียนรู้พวกนี้ เราสามารถให้เด็กๆไปใช้ AI ช่วยอธิบายเนื้อหาวิชาการกันมาก่อน ซึ่งเด็ก ๆ ก็สามารถเล่นสนุกกับ AI จนเข้าใจเนื้อหาให้ดีได้ พอถึงเวลามาชั้นเรียน คุณครูก็ให้ทำกิจกรรม Hands-on ร่วมกัน โดยใช้โจทย์ที่เด็ก ๆ ได้เจอในชีวิตจริงได้

          การได้ลงมือทำในชั้นเรียน ภายใต้การดูแลของครูอาจารย์ เด็ก ๆ ก็จะมั่นใจที่จะทำมากขึ้น สามารถค่อย ๆ ต่อยอดจากสกิลเริ่มต้นไปยังสกิลที่สูงขึ้นได้อย่างไม่ผิดทาง เพราะมีครูอาจารย์คอยแนะนำให้ด้วย

สิ่งที่ต้องมาคิดกันต่อ

          1. ในเมื่อ AI สามารถช่วยเขียนคำตอบของข้อสอบได้แล้ว แทนที่จะต้องหาทางป้องกันการ copy คำตอบมาทั้งดุ้น ก็ควรจะต้องหาแนวทางใหม่ในการสอบ โลกของการสอบในยุคหน้าอาจจะต้องมาใช้การซักถามพูดคุยกันไปเลย ให้เค้าใช้ AI ช่วยไปด้วยก็ได้ แต่ต้องอธิบายเรื่องนั้น ๆ ด้วยคำพูดตามครามเข้าใจของตัวเองได้

          2. การสอนให้เด็กๆเข้าใจเรื่องการลอกเลียน การทุจริตต่าง ๆ จะกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นมาก ครูอาจารย์จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้เค้าเข้าใจผลกระทบจากการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้เค้าไม่ต้องไปเผชิญกับผลกระทบต่อชีวิตการทำงานในภายภาคหน้า 

          3. สิ่งสำคัญที่ควรจะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน คือเทคนิคที่แต่ละคนเอามาใช้ เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่ดีจากการใช้ AI เพราะฉะนั้น แทนที่จะห้าม เราควรจะสนับสนุนให้ใช้ แต่ต้องบอกขั้นตอนและกระบวนการใช้งานมาด้วยเลย นอกจากจะช่วยให้เพื่อน ๆ ได้เรียนรู้เทคนิคไปด้วยกันแล้ว ครูอาจารย์เองก็จะได้เห็นพัฒนาการของเด็กๆไปด้วยเลย

          สรุปสั้น ๆ จาก Tool kit ที่ผมเขียนให้กับทางสิงคโปร์ได้ตามนี้นะครับ เนื่องจากเค้าขอให้ทำเนื้อหาสั้น ๆ ผมเลยไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก ตอนนี้การใช้งาน Generative AI เช่น ChatGPT สำหรับการศึกษายังเป็นเรื่องใหม่อยู่ ผมเองก็ค้นคว้าเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ แล้วก็อยากจะชวนทุกคนมาแบ่งปันความรู้และการใช้งานจริงกันครับ

          ถ้ามีข้อคิดหรือข้อมูลที่ไปพบเจอกันมาจากการอ่านหรือการสัมผัสกับการใช้งานจริงก็มาเล่าสู่กันฟังได้นะครับ ผมจะช่วยรวบรวมมาเขียนเป็นคู่มือเอาไว้ใช้เรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกันอีกครับ

          ขอบคุณมากนะครับ

About Author