Headlines

คู่มือการใช้ ChatGPT สำหรับการศึกษา ตอนที่ 1: สำหรับนักเรียน นักศึกษา

โดย ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน
ผู้อำนวยการ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED


          คู่มือการใช้ ChatGPT สำหรับการศึกษา ผมได้ตัดตอนมาจากคู่มือที่ร่วมทำกับทาง The HEAD Foundation สิงคโปร์ ขอแปลเป็นภาษาไทยไว้ให้คร่าว ๆ ดังนี้นะครับ

หลักการเบื้องต้น
          ให้คิดว่า ChatGPT เป็นคนที่สามารถพูดคุยและสนทนาโต้ตอบกับเราได้ ไม่ใช่เป็นเหมือน search engine ที่ใช้หาข้อมูล นักเรียนจึงสามารถใช้ประโยชน์จาก ChatGPT ได้ในลักษณะแบบนี้นะครับ

1. เป็นเพื่อนร่วมเรียน
          – ใช้ทำ brainstorm ไอเดียต่าง ๆ ได้โดยให้เค้าลิสต์ไอเดียในเรื่องที่อยากรู้ แล้วก็ถามเจาะในแต่ละเรื่องได้
          – ใช้ให้เค้าช่วยประเมินไอเดียเราได้ ว่ามีข้อดีข้อเสีย มีจุดที่ควรระวังควรปรับปรุงอย่างไร

2. เป็นติวเตอร์
          – ให้ช่วยทำสรุปเนื้อหาให้ได้ เราจะได้เข้าใจประเด็นหลักก่อนจะอ่านรายละเอียด จะได้จับใจความได้ง่าย
– ใช้ ChatPDF สรุป Paper ที่อ่านก็ได้ แค่โยนไฟล์ PDF ให้เค้าช่วยอ่าน
          – ให้ช่วยแนะนำหัวข้อที่ต้องเขียนในแต่ละเรื่องได้ แถมคุยต่อรอง ปรับเนื้อหาให้ตรงเป้าหมายมากขึ้นได้

3. เป็นผู้ตรวจงาน
          – แปะงานเขียนของเราลงไป ให้เค้าช่วยวิจารณ์ เค้าเป็นนักวิจารณ์ในแนวสร้างสรรค์ได้อย่างดีทีเดียว
          – ใช้ให้สรุปงานเขียนของเรา แล้วดูว่าเค้าสรุปตรงกับที่เราตั้งใจนำเสนอไหม ถ้าไม่ตรงก็แสดงว่าเรายังเขียนถ่ายทอดได้ไม่ดี
          – ใช้ให้ช่วยตรวจไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้ แถมให้ช่วยอธิบายว่าทำไมเราถึงเขียนผิดไวยากรณ์ตรงนั้นได้ด้วย

ข้อควรระวังในการใช้ ChatGPT
          1. อย่าไปคิดที่จะให้เค้าทำทุกอย่างให้เราโดยไม่ต้องทำอะไร เราควรจะต้องศึกษาถึงวิธีการเขียนคำสั่ง (Prompt) ที่เหมาะสมต่อการทำงาน แล้วก็ต้องคุยเจาะลึกไปเรื่อย ๆ ทำความเข้าใจเนื้อหาให้ตกผลึก

          2. อย่าหลับหูหลับตาเชื่อทุกอย่างที่ ChatGPT บอกผลลัพท์ที่ออกมาไม่ได้ถูกทุกอย่าง แล้วก็มีสิ่งที่ผิดบ่อย ๆ จะเชื่ออะไรก็ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกที บ่อยครั้งที่ ChatGPT อ้างอิงถึงเหตุการณ์หรือบทความที่ไม่ได้มีอยู่จริง

          3. อย่าใช้ในทางทุจริตหรือผิดต่อระเบียบของสถานศึกษา สิ่งสำคัญของการศึกษาคือการพัฒนาศักยภาพของตัวเราเอง อย่าคิดแค่เพียงจะทำเพื่อคะแนน เพื่อประกาศนียบัตร หรือเพื่อปริญญา

          ถ้าทำอะไรที่ทุจริต นอกจากจะเป็นโทษแล้ว ยังจะทำให้เราเองไม่ได้พัฒนาศักยภาพอีก โลกข้างหน้ายังอีกยาวไกล เราต้องปรับตัวกับอะไรต่ออะไรที่จะเข้ามาอีก อย่าหยุดที่จะพัฒนาศักยภาพของเรานะครับ

          หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาได้บ้างนะครับ เนื่องจาก AI พัฒนาไปเร็วมาก บทความนี้อาจจะล้าสมัยไปในเวลาอีกไม่นาน ผมเองก็จะพยายามเขียนเพิ่มเติมให้เรื่อย ๆ นะครับ

          ยังมี Part ที่สองสำหรับครูอาจารย์อีก เดี๋ยวจะมาสรุปให้อีกทีนะครับ

About Author