เรื่องโดย AGB Research Unit Team
ไก่ สัตว์ที่ได้รับเกียรติให้เป็นสัญลักษณ์อักษรตัวแรกของอักษรไทย อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน เรียกได้ว่าคนไทยไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบทล้วนรู้จักไก่ ทั้งจากอาหารที่รับประทาน หรือเป็นสัตว์เลี้ยงไว้ดูเล่น เพลิดเพลิน รวมถึงเป็นกีฬาชนไก่
หากเราพิจารณาไก่ที่อยู่รายรอบตัวจะพบไก่หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นไก่ป่า (red junglefowl) และไก่เลี้ยง (domestic chicken) ที่มีทั้งไก่พื้นเมือง (indigenous chicken) ที่ผ่านกระบวนการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม คน และวิถีชุมชนให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไก่บ้าน (indigenous village chicken) ที่พบได้ตามชุมชนต่าง ๆ แต่อาจมีลักษณะภายนอกที่ไม่เป็นเอกลักษณ์เท่าไก่พื้นเมือง ไก่การค้า (commercial chicken) ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ให้โตเร็วและมีลักษณะเฉพาะที่เหมาะเป็นแหล่งอาหารของคนทั่วโลก
อย่างไรก็ตามมีไก่อีกประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติพิเศษ ท่องเที่ยวมาจากต่างถิ่นแล้วมาอาศัยปรับตัวในถิ่นอาศัยใหม่ นั่นคือ ไก่ประจำถิ่น (local chicken) ถ้าพิจารณาจากคุณสมบัติตามองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) แล้ว พบว่านิยามของไก่ประจำถิ่น คือ ไก่ที่นำมาจากถิ่นนอกพื้นที่ แล้วมาเพาะเลี้ยงในพื้นที่ใหม่ เจริญเติบโต และเพาะขยายพันธุ์มากกว่า 6 รุ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “ไก่ชี้ฟ้า” และ “ไก่ฟ้าหลวง” ที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญและเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงราย ไก่เหล่านี้มีภูมิหลังมาจากประเทศจีน มีลักษณะพิเศษด้วยรูปลักษณะจำเพาะ มีเนื้อสีดำและกระดูกดำ ทำให้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง ไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงจึงเป็นตัวอย่างสำคัญของความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาชุมชน
ประเภทของไก่ในประเทศไทย ได้แก่ ไก่ป่า (red junglefowl) และ ไก่เลี้ยง (domestic chicken) ประกอบด้วย ไก่พื้นเมือง (indigenous chicken) ไก่บ้าน (indigenous village chicken) ไก่ประจำถิ่น (local chicken) และไก่การค้า (commercial chicken)
ไก่ชี้ฟ้า (บน) และ ไก่ฟ้าหลวง (ล่าง)
มรดกทางพันธุกรรมจากจีนสู่ไทย
ไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงมีต้นกำเนิดมาจากไก่พื้นเมืองในประเทศจีนที่มีเนื้อสีดำและกระดูกดำ เข้ามาสู่ประเทศไทยผ่านการอพยพของคนจีนที่มาตั้งรกรากในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะตรงบริเวณดอยแม่สลอง หมู่บ้านสันติคีรี ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์พบความเชื่อมโยงของพันธุกรรมไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงกับไก่พันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศจีน และพบองค์ประกอบพันธุกรรมบางส่วนเกี่ยวข้องกับไก่ป่าในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงในอดีตมีโอกาสผสมพันธุ์กับไก่ป่าของไทย แล้วปรับตัวทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ประมาณ 1,200 เมตร เช่น ที่พบบริเวณดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย เป็นไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงมาจนทุกวันนี้
ความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจท้องถิ่น
ไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงเป็นไก่เลี้ยงของชาวเขาในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาชนบท เนื่องจากไก่ทั้งสองพันธุ์ให้เนื้อและไข่ที่เป็นโปรตีนสำคัญของชุมชนท้องถิ่น และยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจชุมชน เมื่อนักท่องเที่ยวไปเยือนจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะที่ดอยแม่สลอง มักหาไก่ดำตุ๋นยาจีน หรือแม้กระทั่งสุกี้ยูนนานที่ทำจากไก่ชี้ฟ้า ไก่ฟ้าหลวง รับประทาน ด้วยความที่เนื้อไก่ทั้งสองพันธุ์มีรสชาติดี แน่นเหนียว นุ่มแต่ไม่ยุ่ย และมักเชื่อว่าไก่ดำอุดมไปด้วยสารแอนติออกซิแดนต์ มีประโยชน์ช่วยต้านมะเร็ง ลดอาการอักเสบ บำรุงสายตา ป้องกันการเสื่อมของประสาทตา เสริมสร้างระบบการมองเห็น และยังมีคอเลสเตอรอลต่ำ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะเหล่านี้ จึงสร้างจุดขายและรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
มิติทางสังคมวัฒนธรรม
ไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงมีบทบาทและคุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญต่อชุมชน โดยเฉพาะการประกอบพิธีกรรมโบราณ เช่น การไหว้บรรพบุรุษและการทำนายโชคชะตาของชุมชน ชาวอาข่าและลาหู่มีความเชื่อเกี่ยวกับไก่ดำว่าเป็นสิ่งสำคัญในพิธีกรรมไหว้ผีและบรรพบุรุษที่ปกป้องคุ้มครองป่าเขาและชาวบ้าน โดยมีที่มาของความเชื่อและประเพณีที่อ้างอิงกับความเชื่อของชาวจีนบางกลุ่มที่นำไก่ดำมาใช้ในพิธีกรรมไหว้เจ้า นอกจากนี้ชาวเขาในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เผ่าลีซู (ลีซอ), จีนฮ่อ, อาข่า (อีก้อ), ลาหู่ (มูเซอ), ไทยใหญ่, ม้ง, เย้า (เมี่ยน) ยังได้ตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวง มีการจัดงานประกวดไก่ดำดอยแม่สลอง เพื่อคัดเลือกไก่ที่มีลักษณะดีสำหรับพัฒนาและส่งเสริมให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และทำให้คนที่เข้าชมและนักท่องเที่ยวได้รู้จักไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวง โดยมีการจัดงานในช่วงปลายปีถึงต้นปีของทุกปีร่วมกับเทศกาลชิมชา ส่งเสริมให้ไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และมีบทบาทสำคัญต่อประเพณีท้องถิ่นและสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน
ยกระดับความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจในชุมชนแม่ฟ้าหลวงผ่านการเลี้ยงไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวง
ไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงเป็นไก่ประจำถิ่นที่หาได้ในท้องที่ และกินอาหารจากในท้องที่แทนการใช้อาหารสัตว์สำเร็จรูป สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย กรมปศุสัตว์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสายธาร เครือเบทาโกร จึงได้ริเริ่มโครงการขยายพันธุ์ไก่ทั้งสองพันธุ์ภายใต้ฟาร์มสาธิตการเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก ในพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยจิ จังหวัดเชียงราย และนำลูกไก่ที่ผลิตได้มาส่งเสริมให้แก่ชุมชนในพื้นที่และโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ โดยโรงเรียน ตชด. สังวาลย์วิท 8 และโรงเรียน ตชด. เทคนิคดุสิต เป็นกลุ่มโรงเรียนต้นแบบที่ได้นำไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงมาเลี้ยงเพื่อเป็นกิจกรรมการเลี้ยงปศุสัตว์ขนาดเล็กในโรงเรียน และนำไก่ที่ได้อายุมาประกอบอาหารในโครงการอาหารกลางวัน การส่งเสริมนี้ไม่เพียงแต่รักษามรดกทางวัฒนธรรม แต่ยังเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนและโรงเรียน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเสริมสร้างเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น
ถึงกระนั้นอนาคตของการส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุกรรมไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงยังมีความท้าทายที่ต้องผลักดันอีกหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเลี้ยงไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงรวมกับไก่บ้านหรือไก่อื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียอัตลักษณ์ทางพันธุกรรมและลักษณะประจำพันธุ์ นอกจากนี้พันธุ์ไก่เนื้อ อุตสาหกรรมผลิตไก่ได้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้น มีราคาเนื้อถูกกว่าไก่ดำ และยังมีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย จึงเป็นเหตุให้ชุมชนนิยมเลี้ยงและบริโภคไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงน้อยลง จนสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพันธุ์ไก่ทั้งสอง
ความร่วมมือระหว่างนักวิจัย เกษตรกร และผู้บริหารท้องถิ่นถือเป็นหัวใจสำคัญของการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน หน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หน่วยวิจัยศิลปวัฒนธรรมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, สำนักบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย จึงได้ร่วมกันศึกษาพันธุกรรมที่เป็นพื้นฐานของการปรับตัวในไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวง ซึ่งช่วยให้เข้าใจอัตลักษณ์ทางพันธุกรรมและวางแผนการผสมพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรอย่างยั่งยืน ตลอดจนถอดบทเรียนเรื่องเล่าด้านวัฒนธรรมซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของชุมชนให้รักษาไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวง
ไก่ชี้ฟ้าและไก่ฟ้าหลวงเป็นตัวอย่าง (pilot model) ของการอนุรักษ์พันธุ์ไก่ประจำถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจากชุมชนในจังหวัดเชียงราย สู่การเสริมสร้างความยั่งยืนด้านการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาชนบท ความหลากหลายทางพันธุกรรม ความสามารถในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม และบทบาททางวัฒนธรรมของไก่เหล่านี้ได้แสดงถึงคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่น การอนุรักษ์และส่งเสริมการเลี้ยงไก่ท้องถิ่นจึงมีความสำคัญในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตซึ่งสอดคล้องกับประเด็นความยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมปศุสัตว์, ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเชียงราย. 2554. หลักเกณฑ์การประกวดไก่ดำดอยแม่สลองปี 2554. เอกสารฉบับโรเนียว.
เพิ่มศักดิ์ ศิริวรรณ. 2550. ไก่กระดูกดํา สัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจสําหรับเกษตรกรรายย่อย. วารสารสัตว์เศรษฐกิจ 24(554): 33–37.
Budi, T., Singchat, W., Tanglertpaibul, N., Wongloet, W., Chaiyes, A., Ariyaraphong, N., Thienpreecha, W., Wannakan, W., Mungmee, A., Thong, T., Wattanadilokchatkun, P., Panthum, T., Ahmad, S. F., Lisachov, A., Muangmai, N., Chuenka, R., Prapattong, P., Nunome, M., Chamchumroon, W., Han, K., Pornpipatsiri, S., Supnithi, T., Peng, M. S., Han, J. L., Matsuda, Y., Duengkae, P., Noinafai, P., Srikulnath, K. 2023. Thai local chicken breeds, Chee Fah and Fah Luang, originated from Chinese black-boned chicken with introgression of red junglefowl and domestic chicken breeds. Sustainability. 15(8):6878. doi:10.3390/su15086878.
FAO. 2010. Smallholder poultry production – livelihoods, food security and sociocultural significance. FAO Smallholder Poultry Production Paper No. 4.