ม.มหิดล จัดประชุมวิชาการออนไลน์ระดับชาติ เรื่อง “เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ”

          วิกฤติ COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม ความเป็นเมือง ตลอดจนสังคมบริโภคนิยม หล่อหลอมให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ที่ผิดแปลก และส่งผลต่อโครงสร้างทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก จนกลายเป็น “โรคขาดธรรมชาติ” ที่กำลังเป็นปรากฏการณ์ใหม่ซึ่งถือเป็นประเด็นเร่งด่วนของสังคมในยุคปัจจุบัน

          รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึง “โรคขาดธรรมชาติ” (Chidren & Nature – deficit Disorder) ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ COVID-19 ว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและวิถีชีวิตครอบครัว ซึ่งเป็นที่มาของกลุ่มโรคติดเชื้อ และโรคไม่ติดเชื้ออุบัติใหม่

          ซึ่งโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ยังครอบคลุมถึงโรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่ต่างๆ ในอนาคต ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็ก โดยเด็กจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่ในวันนี้

          ไม่ว่าจะเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย ซึ่งทำให้เด็กขาด “พื้นที่เล่นตามธรรมชาติ” นอกเหนือไปจากปัญหาดิน น้ำ อากาศเป็นพิษ ปัญหาหมอกควัน PM2.5 หรือวิธีการทำงานที่พ่อแม่ต้องทำงานอย่างหนัก ทำให้เด็กขาดเวลาการเล่น และเวลาการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่

          ผลจากเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเอาแต่นั่งนอน ขลุกอยู่แต่ในห้อง เพื่อเล่นเกม และโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นเพียงโลกเสมือนจริง ที่แยกเด็กออกจากธรรมชาติ หรือ โลกแห่งความจริง

          และผลจากวิกฤติโรคติดเชื้อ COVID-19 ทำให้เด็กและผู้ใหญ่ต้องถูกจำกัดพื้นที่เพื่อการเฝ้าระวัง โดยต้องอยู่แต่ในบ้าน และทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ทำให้ขาดพื้นที่เล่นตามธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หลายโรคในระยะยาว หรือตลอดชีวิตของครอบครัว เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดในครอบครัวที่สูงขึ้น จนเกิดภาวะ “ความเครียดเป็นพิษ” (Toxic Stress) ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อร่างกายและจิตใจ

          วิธีป้องกันที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เด็กเป็นโรคขาดธรรมชาติ คือ การจัดการเพื่อหาจุดสมดุลของชีวิตที่ทำให้เด็กสามารถเติบโตได้ตามธรรมชาติ โดยการยึดเอาเด็กและครอบครัวเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ตลอดจนปรับรูปแบบการศึกษาให้เป็นไปในแนวทางที่สามารถดึงธรรมชาติในตัวเด็กออกมาให้พร้อมต่อการเรียนรู้ และปรับตัวให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง

          โดยในวันที่ 16, 18 และ 19 มีนาคม 2564 นี้ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2564 เรื่อง “Chidren & Nature – deficit Disorder เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ” ผ่านระบบ Zoom สำหรับผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กำหนดนโยบายจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้นำชุมชนต่างๆ

          นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีทุนฟรีค่าลงทะเบียนสำหรับสมาชิกเครือข่ายการศึกษาต่อเนื่องเพื่อจัดการการเรียนรู้และดูแลเด็กปฐมวัย หลักสูตรเรียนร่วม และหลักสูตรผู้ดูแลเด็กในศตวรรษที่ 21 (อ.ว.) ผู้ปกครองเด็กที่ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และศิษย์เก่าปริญญาโท สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โครงการออกแบบชีวิต THAI Model และมูลนิธิเด็ก โดยหวังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมที่กำลังอยู่ท่ามกลางโลกที่ผันผวนเปลี่ยนแปลง สู่การพัฒนาเด็กและครอบครัวที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

          ผู้สนใจสมัครได้ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2564 ติดตามรายละเอียดได้ที่ FB: NICFD Mahidol และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author